(ภาพ : ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์)

เทคโนโลยีใหม่...พลิกโลก

“เทคโนโลยีควอนตัม (Quantum Technology)”

ถ้าไปถามคำคำนี้กับใครหลายคน...คำตอบที่ได้รับคงเป็นการส่ายหน้าว่าคืออะไร หมายความว่าอย่างไร เป็นวัสดุอุปกรณ์ หรือเป็นเทคโนโลยีอะไร เป็นต้น

แน่นอน คำตอบดังกล่าวไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะ “ควอนตัม” เป็น “เทคโนโลยีใหม่” ที่จะมาพลิกโลกทั้งใบให้เปลี่ยนใหม่

และนี่คืออนาคตของประเทศไทย!

เทคโนโลยีควอนตัมมีการใช้งานกันอย่างแพร่หลายในประเทศที่พัฒนาแล้ว เช่น สหรัฐฯ สหภาพยุโรป เยอรมนี ญี่ปุ่น แม้กระทั่งจีน สิงคโปร์

สำหรับประเทศไทยก็คงหลีกเลี่ยงการเข้ามาของเทคโนโลยีควอนตัมไม่ได้ และจะกลืนกินเทคโนโลยีเก่าอย่างดิจิทัล และจะเข้ามาในชีวิตของเราอย่างเต็มตัว

เทคโนโลยีควอนตัมคืออะไร?

ควอนตัม คือ การนำเทคโนโลยีการควบคุมอะตอมมาใช้ประโยชน์ในด้านต่างๆ เช่น พัฒนายารักษาโรคด้วยการวิจัยเคมีระดับโมเลกุล การสำรวจอวกาศ การใช้ขุมพลังของคอมพิวเตอร์ควอนตัมเพื่อเสริมสร้างสมรรถนะของการคำนวณและประมวลผลข้อมูล เป็นต้น

...

แต่ที่ใกล้ตัวเราที่สุด คือ การนำเทคโนโลยีควอนตัมมาใช้กับคอมพิวเตอร์ เรียกว่า ควอนตัมคอมพิวเตอร์ ซึ่งจะนำคุณสมบัติของ “อะตอม” มาใช้ในการประมวลผล ทำให้มีการประมวลผลที่เร็วกว่าคอมพิวเตอร์ทั่วไปอย่างมหาศาล และควอนตัมคอมพิวเตอร์จะนำเราเข้าสู่ “ยุคปัญญาประดิษฐ์” อย่างแท้จริง

“ควอนตัมเป็นเทคโนโลยีแห่งศตวรรษที่ 21 ที่โลกกำลังให้ความสนใจ โดยเฉพาะควอนตัมคอมพิวเตอร์ ควอนตัมคอมพิวติ้ง เพราะทุกอย่างในอนาคตจะถูกควบคุมด้วยคอมพิวเตอร์ แม้แต่รถยนต์ในอนาคตต้องควบคุมด้วยเทคโนโลยีที่ไม่ใช้น้ำมันอีกต่อไป ดังนั้น ประเทศไทย ต้องเตรียมความพร้อมในการรับมือ เพราะในอนาคตเทคโนโลยีนี้จะเข้ามาในชีวิตของเราอย่างเต็มตัว ประเทศไทยจะต้องมีสถาบันเทคโนโลยีควอนตัมระดับชาติ เพื่อสร้างระบบนิเวศควอนตัมที่สมบูรณ์ ซึ่งปัจจุบันเรามีจำนวนนักเรียนทุนโครงการพัฒนาและส่งเสริมผู้มีความสามารถพิเศษทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (พสวท.) รวมถึงนักเรียนทุนโอลิมปิกฟิสิกส์ที่ได้รับการฝึกทักษะด้านเทคโนโลยี

ควอนตัมในต่างประเทศได้กลับมาปฏิบัติงานในประเทศไทยแล้วกว่า 16 คน นอกจากนี้ ยังมีนักวิจัยหลังปริญญาเอกและนักวิจัยที่กำลังศึกษาอยู่ต่างประเทศอีกกว่า 21 คน ทั้งนี้ หากนับรวมนักศึกษาระดับปริญญาโท-เอกภายในประเทศด้วย ตัวเลขนักวิจัยควอนตัมในประเทศไทยจะเกินกว่า 50 คน จำนวนนี้ถือว่าเพียงพอที่จะเป็นบ่อเกิดของกระบวนการรังสรรค์นวัตกรรมฐานเทคโนโลยีควอนตัมในประเทศไทย โดยวันที่ 30 ส.ค.นี้ ผมจะเดินทางไปยังอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคเหนือ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) เพื่อไปดูความพร้อมของ “โครงการจัดตั้งศูนย์ความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีควอนตัม” ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รมว.การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เปิดเผยถึงความสำคัญของเทคโนโลยีควอนตัม

รมว.อว.ระบุด้วยว่า มหาวิทยาลัยเชียงใหม่เป็นที่รวบรวมบุคลากรที่เก่งด้านฟิสิกส์เป็นจำนวนมาก ถือว่ามีความเหมาะสมและพร้อมที่จะจัดตั้งศูนย์ความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีควอนตัม

ผศ.ดร.วรานนท์
ผศ.ดร.วรานนท์

ขณะที่ ผศ.ดร.วรานนท์ อนุกูล หัวหน้าห้องปฏิบัติ การวิจัยทัศนศาสตร์เชิงอะตอมควอนตัม มช. กล่าวถึงความพร้อมว่า โครงการจัดตั้งศูนย์ความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีควอนตัม เพื่อสร้างต้นแบบและนวัตกรรมเทคโนโลยีขั้นสูง (deep technology) ที่สามารถนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อสังคมและชุมชน รวมถึงการสร้างผลตอบแทนเชิงพาณิชย์ ตลอดจนธุรกิจบ่มเพาะอันอาจจะเกิดขึ้นจากต้นแบบนวัตกรรมนั้นๆ ซึ่งจะส่งผลให้ประเทศไทยเป็นผู้นำทางด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมควอนตัมในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเป็นการเตรียมพร้อมสำหรับสถาบันเทคโนโลยีควอนตัมระดับชาติในอนาคตอันใกล้ ซึ่งจะเป็นรากฐานแกนกลางของการพัฒนาเทคโนโลยีในทุกสาขาอย่างก้าวกระโดดในยุคการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 โดยเริ่มต้นจากปี พ.ศ.2563 เป็นต้นไป ด้วยงบลงทุนเบื้องต้นของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 100 ล้านบาท ผนวกกับแผนงานด้านกำลังนักวิจัยฟิสิกส์วิศวกรรม วิศวกร และนักเทคโนโลยีควอนตัม จำนวน 17-20 อัตรา จะทำหน้าที่เป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างประโยชน์จากงานวิจัยควอนตัมของประเทศไทยที่สามารถดำเนินการได้ทันที

“เทคโนโลยีควอนตัมได้ส่งเสริมและสร้างแพลตฟอร์มการทำงานให้กับอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้ เพื่อเชื่อมโยงการทำงานร่วมกันระหว่างมหาวิทยาลัยกับภาคอุตสาหกรรมมาระยะหนึ่งแล้วในการสนับสนุนให้เทคโนโลยีควอนตัมสามารถนำไปประยุกต์ใช้เพื่อให้เกิดประโยชน์เชิงพาณิชย์ได้ ไม่ว่าจะเป็นการประยุกต์ใช้ในภาคอุตสาหกรรมเพื่อสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันให้มากขึ้น รวมทั้งการส่งเสริมให้เกิดสตาร์ตอัพที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง เป็นต้น” ผศ.ดร.วรานนท์ กล่าว

“ทีมข่าววิทยาศาสตร์” มองว่า นี่คือเทคโนโลยีใหม่ที่เราไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ เอาง่ายๆ ทุกคนมีสมาร์ทโฟนที่ถือเป็นตัวแทนของคอมพิวเตอร์บนโลกใบนี้ ยังพบว่าหน่วยประมวลผลของสมาร์ทโฟนเร็วขึ้นทุกๆปี

และนี่คือการเปลี่ยนแปลงที่ประเทศไทยต้องเรียนรู้ ว่าสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้ในช่วงเวลา “อีกไม่กี่สิบปี” เพราะระหว่างที่โลกหมุนอยู่ นักวิทยาศาสตร์ในหลายประเทศและบริษัทยักษ์ใหญ่กำลังมุ่งมั่นแข่งขันพัฒนาเทคโนโลยีควอนตัมไปข้างหน้า

ดังนั้น แค่ช้าไปเพียงก้าวเดียว มีสิทธิ์ตกยุคแน่นอน.

ทีมข่าววิทยาศาสตร์