บทความ “ศุกร์สุขภาพ” สัปดาห์นี้ยังมีชนิดของโรคภูมิแพ้ที่พบในเด็กที่น่าสนใจอีก ดังนี้

แพ้นมวัว เป็นปัญหาที่พบบ่อยที่สุด มีรายงานพบประมาณร้อยละ 2.5-7.5 ในเด็กทารก ทั้งนี้ ขึ้นกับข้อมูลการรายงานของที่ไหนในประเทศไทยคาดว่าไม่เกินร้อยละ 10 แต่ที่น่าดีใจคือ โรคนี้ส่วนใหญ่จะหายเป็นปกติ เด็กๆ สามารถกลับมากินนมวัวได้เกือบทุกคน มีเด็กที่แพ้นมวัวจำนวนน้อยที่โตแล้วก็ยังกินนมวัวไม่ได้

สาเหตุของโรค

โรคแพ้นมวัว เกิดจากปัจจัยทางพันธุกรรม ที่มีญาติพี่น้องเป็นโรคภูมิแพ้ และมีปัจจัยเสริมที่เด็กทารกได้รับการกระตุ้นด้วยนมวัวตั้งแต่อยู่ในระยะตั้งครรภ์ (แม่ดื่มนมวัว) และหลังเกิด ยังถูกกระตุ้นด้วยการกินนมวัว ไม่กินนมแม่ หรือกินนมแม่ที่มีนมวัวผสม

การแพ้นมวัวพบได้ทั้งในเด็กที่กินนมแม่อย่างเดียว หรือเด็กที่กินนมผงดัดแปลงสำหรับทารกตั้งแต่แรกเกิด เด็กที่กินนมแม่สามารถแพ้นมวัวจากการที่แม่ดื่มนมวัวหรือกินอาหารที่มีส่วนผสมของผลิตภัณฑ์จากนม จึงมีโปรตีนนมวัวผสมออกมาในน้ำนมแม่ไปกระตุ้นให้ลูกแพ้นมวัวได้

อาการ

เด็กที่แพ้นมวัวจะแสดงอาการผิดปกติหลายๆ ระบบอวัยวะ หรือที่หนึ่งที่ใดของร่างกายได้ เช่น ผื่นผิวหนังอักเสบภูมิแพ้ ผื่นลมพิษ ปวดท้องเป็นๆ หายๆ อาเจียน ท้องร่วง มีบางรายที่เกิดความผิดปกติในระบบหายใจ หอบเหนื่อย มีเสมหะดังครืดคราดเป็นระยะๆ เด็กที่แพ้นมวัว มักมีน้ำหนักตัวขึ้นช้า ซีดและอ่อนเพลีย

การแพ้นมวัวอย่างรุนแรง พบได้น้อยแต่มีอันตรายถึงแก่ชีวิต เด็กจะมีอาการหน้าบวม ลิ้นบวมจุกปาก เกิดขึ้นทันทีหลังกินนมและมีผื่นลมพิษ อาเจียน ท้องร่วง หอบหืด ช็อก และชักตามมาอย่างรวดเร็ว

เด็กกลุ่มที่เกิดอาการแพ้อย่างเฉียบพลัน ภายในเวลาเป็นนาทีถึงชั่วโมงหลังกินนมจะเกิดอาการต่างๆ ดังกล่าว กลุ่มนี้มักจะมีกลไกการแพ้ผ่านแอนติบอดีชนิด IgE

เด็กกลุ่มที่แสดงอาการแพ้ค่อนข้างช้า ประมาณ 7-10 วันหลังกินนม มักจะมีกลไกผ่านเซลล์ต่างๆ ในระบบคุ้มกัน

...

การรักษา

การรักษาที่ดีที่สุดคือ งดกินนมวัว

เด็กที่กินนมแม่ ให้แม่งดกินนมวัวและงดอาหารที่มีส่วนผสมผลิตภัณฑ์จากนมวัว เช่น ชีส โยเกิร์ต ไอศกรีม เนย เนยเทียม

เด็กที่กินนมวัว ให้งดนมและผลิตภัณฑ์จากนมวัว และให้นมชนิดอื่นที่มีสารอาหารครบถ้วน มีคุณค่าทางโภชนาการเหมาะต่อการเจริญเติบโตของเด็ก ได้แก่

1. นมถั่วเหลือง ประมาณร้อยละ 50-80 ของเด็กที่แพ้นมวัว กินนมถั่วเหลืองแทนได้โดยไม่เกิดอาการแพ้ แต่ก็ต้องคอยเฝ้าสังเกต เพราะมีเด็กที่แพ้นมวัวร้อยละ 15-45 ยังมีโอกาสแพ้นมถั่วเหลืองร่วมด้วย ทารกที่เหมาะสำหรับการกินนมถั่วเหลืองเป็นอาหารหลัก ควรมีอายุอย่างน้อย 6 เดือนขึ้นไป หากให้กินก่อนอายุ 6 เดือน พบว่ามีอัตราการแพ้นมถั่วเหลืองสูง

2. นมวัวชนิด extensively hydrolyzed formula เป็นนมวัวที่ผ่านกระบวนการย่อยด้วยเอนไซม์ ทำให้ปริมาณโปรตีนก่อแพ้ในนมวัวลดน้อยลงมาก แต่จะมีราคาสูงและรสชาติไม่ดี และมีเด็กบางคนยังแพ้นมชนิดนี้ต่อได้

นมวัวชนิด partially hydrolyzed formula ไม่เหมาะสำหรับเด็กที่แพ้นมวัว เพราะยังมีโปรตีนก่อแพ้ในปริมาณที่สามารถกระตุ้นอาการแพ้ได้

3. นมชนิด amino acid formula เป็นสูตรนมที่โปรตีนเป็นกรดอะมิโนไม่ก่อแพ้เลย แต่ราคาสูงมาก

  • แพ้ยา เป็นปัญหาที่พบบ่อยมากในปัจจุบัน เนื่องจากผู้ป่วยส่วนใหญ่ยังนิยมกินยารักษาอาการต่างๆ หรือรักษาโรค และมียาใหม่ๆ มากมายหลายชนิด จึงมีโอกาสที่จะแพ้ยาสูงขึ้น ผู้ป่วยที่แพ้อาจจะไม่เคยแพ้ยาชนิดนั้นมาก่อน เกิดขึ้นเป็นครั้งแรก หรือเคยเกิดอาการแพ้ แต่ไม่รุนแรงจนเป็นที่ผิดสังเกตของคนไข้ เช่น เกิดผื่นคันเล็กน้อยและหายไปเอง แต่ต่อมาได้รับยาชนิดเดิมซ้ำ กระตุ้นให้เกิดอาการรุนแรงมากขึ้นจนเกิดอันตรายได้

อาการ

แพ้ยาแสดงออกที่อวัยวะต่างๆ ได้ทุกส่วน อาการทางผิวหนังเป็นอวัยวะที่พบบ่อยที่สุด เป็นผื่นที่เกิดจากยา อาจแสดงออกในลักษณะของโรคผิวหนังต่างๆ เช่น

  • ผื่นลมพิษ เป็นปื้นนูนแดง คัน แต่ละผื่นจะยุบหายไปภายใน 24 ชั่วโมง โดยไม่มีร่องรอยเหลืออยู่ ผื่นเป็นๆ หายๆ เปลี่ยนที่ไปเรื่อยๆ บางครั้งอาจมีปากหรือหนังตาบวมร่วมด้วย

  • ผื่น maculopapular rash พบได้บ่อยที่สุดในบรรดาผื่นแพ้ยา เป็นจุดหรือตุ่มแดงๆ ขึ้นทั่วตัว คันเล็กน้อย

  • ผื่นผิวหนังอักเสบภูมิแพ้ ผิวหนังเป็นตุ่มอักเสบหรือปื้นแดงๆ หรือเป็นตุ่มน้ำเล็กๆ ผสมอยู่ในผื่นแดงด้วย เกิดเฉพาะที่หรือทั่วตัวก็ได้ แล้วแต่ยาที่เป็นสาเหตุ มักมีอาการคันมาก

  • ผื่นผิวหนังทั่วตัวแดงลอกเป็นขุย (exfoliative dermatitis) เป็นผื่นแดงทั่วตัว มีขุยลอกออก คัน

  • ผื่นขึ้นที่เดิมทุกครั้งที่ได้รับยานั้น (fixed drug eruptions) เป็นผื่นบวมแดงรูปร่างกลมหรือรี ขอบชัด เวลาหายจะกลายเป็นสีน้ำตาลหรือสีออกม่วง ลักษณะพิเศษของผื่นแพ้ยาชนิดนี้คือเกิดซ้ำที่เดิมทุกครั้งที่ได้รับยาที่เป็นต้นเหตุ

  • ผื่นแบบตุ่มน้ำพอง มีหลายชนิด บางชนิดเป็นทั้งที่ผิวหนังและเยื่อบุต่างๆ เช่น ตา ในปาก ชนิดที่รุนแรง ผิวหนังและเยื่อบุจะมีเนื้อตายและหลุดออกเป็นรอยแผลถลอกเป็นบริเวณกว้างทั่วตัวและรุนแรง ถ้าสงสัยว่ามีผื่นชนิดนี้ควรรีบพบแพทย์โดยเร็ว 

นอกจากผื่นผิวหนังแล้ว ผู้ป่วยอาจมีไข้ มีอาการตามระบบต่างๆ เช่น ปวดท้อง ท้องร่วง อาเจียน หอบเหนื่อย ใจสั่น ช็อก ตับหรือไตวายจากผลของยาได้ นอกจากนี้ผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการในระบบอื่น ๆ โดยไม่มีผื่นผิวหนังเลยก็ได้

ผู้ป่วยควรทำอย่างไร

1. หลังกินยา ถ้าเกิดอาการผิดปกติ เช่น มีผื่นที่ผิวหนัง ให้หยุดยาที่สงสัยว่าจะเป็นสาเหตุทันที

2. ควรรีบปรึกษาแพทย์ เพื่อตรวจวินิจฉัยและการรักษาที่ถูกต้อง

3. ถ้าทราบว่าแพ้ยาอะไร ให้จดบันทึกไว้ และหลีกเลี่ยงการใช้ซ้ำ

4. แจ้งให้แพทย์ผู้ทำการรักษาทราบว่าแพ้ยาอะไรบ้างทุกครั้งเมื่อเจ็บป่วยหรือจำเป็นจะต้องได้รับยา

สัปดาห์หน้ายังมีเรื่องราวของโรคภูมิแพ้ชนิดอื่นๆ ที่น่าสนใจอีก รอติดตามกันนะครับ

----------------------------------------------------------
แหล่งข้อมูล
ศาสตราจารย์คลินิก นพ.สุวัฒน์ เบญจพลพิทักษ์ สาขาวิชาโรคภูมิแพ้และภูมิคุ้มกัน ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล