ระวัง "คุณอนันต์" ก่อ "โทษมหันต์"

เสรี “กัญชา”...ทางการแพทย์

เริ่มต้นเห็นผลเป็นรูปธรรมอย่างแท้จริงแล้วสำหรับการใช้สารสกัดกัญชาทางการแพทย์ นับตั้งแต่วันที่ 7 ส.ค.2562 เมื่อองค์การเภสัชกรรม สามารถผลิตสารสกัดน้ำมันกัญชาทางการแพทย์สูตรทีเอชซี (THC) สูง ลอตแรกจำนวน 4,500 ขวดได้สำเร็จ

ถือเป็นยากัญชาตัวแรกที่ผ่านการรับรองจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ด้วยระบบที่จัดทำขึ้นเพื่อให้เอื้อกับยากัญชาทางการแพทย์ที่สามารถใช้ได้เลยในประเทศไทย ภายใต้การควบคุมคุณภาพ เมื่อแพทย์นำไปใช้จะต้องมีการระบุว่าใช้กับโรคอะไรและได้ผลดีหรือไม่ ซึ่งจะได้เป็นการจัดระบบรายงานขนาดใหญ่ของประเทศไทย ก่อนที่จะทยอยผลิตอีก 2 สูตร คือสารซีบีดี (CBD) สูง และสาร THC ต่อ CBD 1 : 1 ออกมาภายในเดือน ส.ค.2562

กระทรวงสาธารณสุขได้มีการวางระบบการใช้ประโยชน์จากสารสกัดกัญชาทางการแพทย์ โดยแบ่งเป็น 3 กลุ่ม ประกอบด้วย 1.กลุ่มโรคที่ได้ประโยชน์และมีผลการศึกษาวิจัยสนับสนุน เช่น โรคลมชักที่รักษายาก โรคลมชักที่ดื้อต่อยารักษา อาการคลื่นไส้และอาเจียนจากยาเคมีบำบัดที่รักษาด้วยวิธีมาตรฐานไม่ได้ผล ภาวะกล้ามเนื้อหดเกร็งในผู้ป่วยโรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง และภาวะปวดประสาทที่รักษาด้วยวิธีอื่นๆ ไม่ได้ผล 2.กลุ่มโรคที่สารสกัดจากกัญชาน่าจะมีประโยชน์ในการควบคุมอาการของโรค เช่น โรคพาร์กินสัน อัลไซเมอร์ ปลอกประสาทอักเสบ วิตกกังวลทั่วไป ผู้ป่วยที่ต้องดูแลแบบประคับประคอง และผู้ป่วยมะเร็งระยะสุดท้าย และ 3.กลุ่มภาวะที่อาจได้ประโยชน์ในอนาคต

...

หากเจาะลึกลงไปถึงแหล่งจ่าย สารสกัดน้ำมันกัญชา พบว่ากระทรวงสาธารณสุขได้มีการวางระบบการให้บริการสารสกัดน้ำมันกัญชาเบื้องต้น โดยจะเริ่มกระจายให้กับโรงพยาบาลศูนย์ 12 แห่ง ซึ่งกระจายอยู่ทั่วประเทศ ประกอบด้วย รพ.ลำปาง, รพ.พุทธชินราช จ.พิษณุโลก, รพ.สวรรค์ประชารักษ์ จ.นครสวรรค์, รพ.สระบุรี, รพ.ราชบุรี, รพ.ระยอง, รพ.ขอนแก่น, รพ.อุดรธานี, รพ.บุรีรัมย์, รพ.สรรพสิทธิประสงค์ จ.อุบลราชธานี, รพ.สุราษฎร์ธานี, รพ.หาดใหญ่ จ.สงขลา นอกจากนี้ ยังมีสถานพยาบาลที่ให้บริการด้านแพทย์แผนไทยอีก 7 แห่ง ได้แก่ รพ.เด่นชัย จ.แพร่, รพ.หนองฉาง จ.อุทัยธานี, รพ.ดอนตูม จ.นครปฐม, รพ.เจ้าพระยาอภัยภูเบศร จ.ปราจีนบุรี, รพ.พระอาจารย์ฝั้น อาจาโร จ.สกลนคร,รพ.คูเมือง จ.บุรีรัมย์ และ รพ.ท่าฉาง จ.สุราษฎร์ธานี ซึ่งการให้บริการจ่ายน้ำมันกัญชาจะเน้นในกลุ่มผู้ป่วยที่มีข้อบ่งชี้ว่าจำเป็นต้องใช้เป็นหลัก

“เราจะนำส่วนที่ดีมาเป็นทางเลือกในการรักษาโรคหรือบรรเทาความเจ็บปวด ทำให้ผู้ป่วยหลับได้ กินได้ และนี่คือย่างก้าวแรกของนโยบายกัญชาเสรีทางการแพทย์ ผมในฐานะ รมว.สาธารณสุข ที่มอบนโยบายเรื่องกัญชาทาง การแพทย์ให้ข้าราชการกระทรวงสาธารณสุขดำเนินการ นำของที่ถูกบอกว่าผิดกฎหมาย เป็นสิ่งเสพติด เป็นของราคาแพงในใต้ดิน ตลาดมืด ควบคุมคุณภาพไม่ได้ แต่เรานำมาไว้บนดิน แล้วให้ผู้ผลิตยาที่น่าเชื่อถืออย่างองค์การเภสัชฯ ได้ทำการผลิต ซื้อขายกันเองทางการแพทย์ ผู้ที่จะใช้ได้จะเป็นเพียงผู้ต้องการบำบัดรักษาโรค ภายใต้การควบคุมและคำสั่งทาง การแพทย์เท่านั้น จากนี้ไปคงจะทำให้ประชาชนเข้าถึงการรักษาโรค โดยมีผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพ” นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.สาธารณสุข กล่าวถึงนโยบายเสรีกัญชาทางการแพทย์

รมว.สาธารณสุข ขยายภาพกัญชาทางการแพทย์ด้วยว่า เบื้องลึกทางวงการแพทย์คงรู้ถึงประโยชน์ของกัญชา จึงมีการผลักดันสารสกัดกัญชาก่อนที่ตนจะเข้ามาเป็น รมว.สาธารณสุข สารสกัดกัญชาจะเป็นสิ่งที่เป็นคุณประโยชน์นำมารักษา บำบัด บรรเทาให้ผู้ป่วย และจริงๆคงไม่มีส่วนไหนที่จะสามารถทำให้เป็นยาเสพติดหรือก่อให้เกิดปัญหาอุบัติเหตุ หากใช้ภายใต้คำสั่งของแพทย์ ไม่มีมึน ไม่มีเมา ไม่มีตาย แต่หากได้สารสกัดกัญชาไปแล้วเปิดกินทั้งขวดก็ตัวใครตัวมัน ทุกอย่างมีคำอธิบาย ไม่ใช่การมอมเมาสังคม เพราะนี่คือเรื่องของ “กัญชาเสรีทางการแพทย์” เริ่มนับตั้งแต่จุดนี้เป็นต้นไป ตนและ นายสาธิต ปิตุเตชะ รมช.สาธารณสุข ทำตามสิ่งที่ให้สัญญากับประชาชนไว้แล้ว และจากนี้ไปกัญชาจะเป็นเรื่องของแพทย์ ผู้ป่วย ผู้บำบัดรักษา แต่ต้องไม่ใช้เป็นการรักษาหลัก

“กัญชาจากนี้จะพัฒนาและเริ่มทำความเข้าใจไปเรื่อยๆโดยเริ่มให้โรงพยาบาล สถาบันทางการแพทย์ ทางวิชาการเริ่มได้ปลูกก่อน ส่วนอาสาสมัครสาธารณสุขหมู่บ้าน (อสม.) จะทยอยอบรม และวันหนึ่งนโยบายปลูกกัญชา 6 ต้นต่อบ้านอาจประสบผลสำเร็จ จากนี้จะมีการทำการวิจัยเพิ่มเติมว่าสารสกัดกัญชาจะมีฤทธิ์หยุดการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งได้หรือไม่ คิดว่าเป็นสิ่งที่ดีต่อวงการแพทย์ไทย ส่วนการนำไปรักษาผู้ป่วยก็จะติดตามว่ามีประสิทธิภาพแค่ไหน หากเราพิสูจน์ได้ว่ามีประสิทธิภาพที่ดี เมืองไทยก็น่าจะเป็นผู้นำในการสร้างนวัตกรรม เพิ่มประสิทธิภาพทางการรักษาและเพิ่มโอกาสทำให้อุตสาหกรรมยามีมูลค่าเพิ่ม ลดรายจ่ายด้านยา” นายอนุทิน ย้ำถึงผลดีในการผลักดันการวิจัยและการใช้กัญชาทางการแพทย์

ทีมข่าวสาธารณสุข มองว่าการที่ไทยสามารถผลิตสารสกัดน้ำมันกัญชาทางการแพทย์ เพื่อใช้เป็นทางเลือกในการบำบัด รักษาโรคให้กับผู้ป่วย เพื่อทำให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดี กินข้าวได้ นอนหลับ ไม่เจ็บปวด รวมถึงการช่วยประเทศชาติประหยัดงบประมาณด้านยารักษาโรคที่สามารถใช้กัญชาทดแทนได้นั้น ถือเป็นเรื่องที่ดีที่จะช่วยคืนความสุขและรอยยิ้มให้กับผู้ป่วยรวมถึงครอบครัวด้วย

แต่สิ่งหนึ่งที่เราต้องขอฝาก รมว.สาธารณสุขในฐานะหัวเรือใหญ่ที่กำกับดูแลโดยตรงกับนโยบายเสรีกัญชาทางการแพทย์ คือการควบคุมและเอา จริงเอาจัง ไม่ให้มีการนำเอากัญชารักษาโรคกลับไปใช้เป็นยาเสพติด เพราะหากปล่อยให้มีการนำไปใช้ผิดที่ผิดทางหรือผิดวัตถุประสงค์ สิ่งที่จะตามมาอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ คือความสูญเสียที่รุนแรงถึงขั้นต้องสังเวยกันด้วยชีวิต

คงเป็นเรื่องที่น่าเศร้าหากสิ่งที่หวังว่าจะเกิดผลเป็น “คุณอนันต์” ต้องกลายเป็นสร้าง “โทษมหันต์” ต่อสังคมและประเทศชาติ.

ทีมข่าวสาธารณสุข