จากปัญหาขาดแคลนแรงงานส่งผลให้รูปแบบการทำนาของไทยเปลี่ยนจากนาดำเป็นนาหว่านเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ แต่การปลูกแบบหว่านข้าวไม่เพียงมีการใช้อัตราเมล็ดพันธุ์สูงกว่าปกติ ยังมีปัญหาวัชพืชที่ต้องกำจัดเพิ่มมากขึ้น ล้วนแล้วแต่เป็นการเพิ่มต้นทุนและสร้างความยุ่งยากให้แก่ชาวนาเพิ่มมากขึ้น นายประสงค์ ประไพตระกูล อธิบดีกรมการข้าว แนะเกษตรกรที่ทำนาหว่านให้ใช้เทคนิคตัดใบข้าว เพราะชาวนาในภาคตะวันออกเฉียงเหนือทดลองนำไปใช้ ปรากฏว่าได้ผลดี

“งานวิจัยของกรมการข้าวพบว่า การตัดใบข้าวนาหว่านไม่เพียงช่วยกำจัดวัชพืชได้เท่านั้น ยังมีประสิทธิภาพในการเพิ่มผลผลิตอีกด้วย เนื่องจากใบข้าวและวัชพืชที่ตัดจะถูกย่อยสลายเป็นปุ๋ยอินทรีย์ให้กับข้าวได้เป็นอย่างดี ช่วยลดการแข่งขันของวัชพืช เพราะต้นข้าวที่ถูกตัดจะงอกใบใหม่และเจริญเติบโตได้ดีเร็วกว่าวัชพืช ทำให้ต้นข้าวสูงสม่ำเสมอและแตกกอได้ดีเหมือนนาปักดำ และยังลดการระบาดของโรคแมลงศัตรูข้าว รวงข้าวออกอย่างสม่ำเสมอและสุกแก่พร้อมกัน ทำให้ผลผลิตเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 12 เมื่อเปรียบเทียบการไม่ได้ตัดใบข้าว แต่วิธีการนี้ใช้ได้ดีเฉพาะกับนาหว่านเท่านั้น ไม่เหมาะกับนาดำ เพราะระบบรากของข้าวนาปักดำจะไม่แข็งแรงเท่ากับนาหว่าน เมื่อตัดใบข้าวแล้วจะทำให้ข้าวฟื้นตัวช้าหรือไม่ฟื้นเลย”

...

สำหรับแปลงนาหว่านที่เหมาะกับการตัดใบ อธิบดีกรมการข้าวอธิบายว่า ควรมีระดับน้ำในนาไม่มากนัก สูงไม่เกิน 5 ซม. เพราะถ้าระดับน้ำสูงจะทำให้ตัดไม่สะดวก การตัดใบข้าวสามารถใช้เครื่องตัดหญ้าแบบสะพายบ่าได้ ตัดในระยะข้าวกำลังแตกกอ ให้เหลือความสูงประมาณ 5 ซม. จากผิวดิน หรือระดับเดียวกับผิวน้ำ ถ้าระดับน้ำสูงเกินไป มากกว่า 30 ซม. ไม่ควรตัดเพราะจะไม่ช่วยเพิ่มผลผลิตข้าวแต่อย่างใด หลังจากตัดใบประมาณ 15 วัน ต้นข้าวจะเจริญเติบโตจนมีความสูงเท่าเดิมก่อนตัด

นายประสงค์ แนะอีกว่า ยิ่งในสถานการณ์เกิดภาวะแห้งแล้งที่ผ่านมามีผลต่อการเจริญเติบโตของข้าวและเกิดปัญหาวัชพืช ปัจจุบันฝนเริ่มดีขึ้น หากเริ่มมีน้ำขังนา เกษตรกรชาวนาสามารถนำเทคนิคการตัดใบข้าวนี้ไปใช้เพื่อลดปัญหาวัชพืชและเพิ่มผลผลิตข้าวในนาหว่านได้ ชาวนาสนใจขอรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ศูนย์วิจัยข้าว ศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวในพื้นที่.