ทุกปีเมื่อเข้าสู่ฤดูมรสุม หลายพื้นที่โดยเฉพาะป่าเขาลำเนาไพร จะประสบปัญหาการคมนาคมยากจะเข้าถึง หากเกิดการเจ็บไข้ได้ป่วยในภาวะฉุกเฉิน การช่วยเหลือจะเป็นไปด้วยความยากลำบากยิ่ง
การส่งต่อผู้ป่วยจากสถานพยาบาลในชุมชน หมู่บ้าน ระยะทางเพียง 10-20 กม. กว่าจะถึงพื้นราบนั้น อาจจะต้องใช้เวลามากถึง 8-10ชั่วโมง
ดังนั้น ยานพาหนะเดียวที่จะสามารถลำเลียงผู้ป่วยออกมาจากผืนป่าเพื่อนำส่งโรงพยาบาลในตัวเมืองได้ก็คือ เฮลิคอปเตอร์
ด้วยเหตุนี้เองทาง สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ จึงได้ร่วมกับภาคีเครือข่าย สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดตาก โรงพยาบาลทั้ง 9อำเภอของจังหวัดตาก นำบุคลากรทางการแพทย์จำนวน 70 คน เข้ารับการฝึกและซักซ้อมแผนการนำส่งผู้ป่วยฉุกเฉินด้วยอากาศยาน ณ หน่วยบินตำรวจตาก กองบินตำรวจ ต.หนองบัวใต้ อ.เมืองตาก
...
โดยใช้อากาศยานของกองบินปีกหมุนที่ 2 กองทัพบก เพื่อฝึกภาคปฏิบัติ จำลองสถานการณ์เสมือนจริง
รอ.นพ.อัจฉริยะ แพงมา เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ เปิดเผยว่า SKY DOCTOR ได้ถือกำเนิดเมื่อราวปี 2553 โดยร่วมกับภาคีต่างๆที่มีอากาศยาน
เพื่อให้บริการการแพทย์ฉุกเฉินแก่ผู้ป่วยในพื้นที่ห่างไกล เช่น เกาะในทะเล หรือพื้นที่ป่าภูเขา ที่มีความยากลำบากในการคมนาคมทางบก อาจจะเสี่ยงต่อภาวะวิกฤติของผู้ป่วย จำเป็นต้องใช้อากาศยานหรือเฮลิคอปเตอร์ในการรับผู้ป่วย
ปัจจุบันมีการบินรับผู้ป่วยรวมกันแล้ว 300 กว่าราย สำหรับจังหวัดตากได้มีการบิน SKY DOCTOR หลายครั้ง มีทั้งผู้ป่วยวิกฤติที่เป็นคนไทยและผู้ป่วยจากประเทศเพื่อนบ้านในพื้นที่ชายแดน อ.อุ้มผาง,ท่าสองยาง และ ต.บ้านนา อ.สามเงา ซึ่งอยู่เหนืออ่างเก็บน้ำเขื่อนภูมิพล สามารถรักษาชีวิตของผู้ป่วยได้อย่างดีที่สุด
การซักซ้อมแผนการนำส่งผู้ป่วยฉุกเฉินด้วยอากาศยาน หรือ SKY DOCTOR ในครั้งนี้ ถือว่าเป็นหลักประกันความเท่าเทียมในสิทธิ์ที่จะได้รับการบริการทางการแพทย์ในภาวะฉุกเฉินของผู้ป่วยทุกคนที่อยู่ในถิ่นทุรกันดารห่างไกลบนป่าดอย
ด้าน นพ.จรัญ จันทมัตตุการ สาธารณสุขจังหวัดตาก กล่าวว่า จังหวัดตากมีหลายพื้นที่ห่างไกลวิทยาการทางการแพทย์ การเดินทางด้วยรถยนต์ยากแก่การเข้าถึง บางพื้นที่ต้องใช้ระยะเวลาในการเดินทางอย่างน้อย 6ชั่วโมง หากวิกฤติรุนแรงต้องถูกส่งตัวไปยังโรงพยาบาลจังหวัด ต้องใช้เวลาอย่างน้อยขั้นต่ำ 10 ชั่วโมง จึงจะได้รับการรักษาจากแพทย์เฉพาะทาง
“ผู้ป่วยหลายรายต้องเสียชีวิต, ทุพพลภาพจากระยะเวลาในการเข้าถึงการรักษานานมาก สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินจึงร่วมมือกับกองทัพบก, กองทัพเรือ, กองทัพอากาศ, สำนักงานตำรวจแห่งชาติ, กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รวมไปถึงภาคเอกชน พัฒนาระบบการลำเลียงทางอากาศตั้งแต่ปี พ.ศ.2552 และเริ่มใช้ในจังหวัดตากครั้งแรกในปี พ.ศ.2555” นพ.จรัญกล่าว
ส่วน พญ.ศิวนาฎ พีระเชื้อ แพทย์เวชศาสตร์ฉุกเฉิน รพ.สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ในฐานะหัวหน้าทีมแพทย์ SKY DOCTOR ซึ่งเป็นแกนหลักในการบินรับผู้ป่วยฉุกเฉินกล่าวว่า ปกติคนไข้กลุ่มที่อยู่ตามขอบชายแดนเข้าถึงการรักษายากอยู่แล้ว ยิ่งเวลาเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤติ การเข้าถึงแพทย์เฉพาะทางในตัวเมืองตากหรือเมืองใหญ่ๆอย่างพิษณุโลกนี่ ลำบากมาก
หากไม่ได้โครงการ SKY DOCTOR ก็นึกไม่ออกเหมือนกันว่าจะพาพวกเขามารักษาให้ทันได้ยังไง แต่ SKY DOCTOR สามารถลดระยะเวลาในการเดินทาง ลดอัตราการเสียชีวิตและทุพพลภาพได้ ในความเป็นแพทย์เวชศาสตร์ฉุกเฉิน แค่ได้ช่วยคนไข้ให้เขาดีขึ้น พ้นวิกฤติ พ้นอันตราย อันนี้ก็ภูมิใจที่สุดแล้ว
การได้มีโอกาสเข้ามาทำในโครงการ SKY DOCTOR ทำให้ได้ใช้ความรู้เข้ามาต่อโอกาสให้กับผู้ป่วยวิกฤติฉุกเฉินในพื้นที่ห่างไกล ให้เขาได้รับโอกาสในการรักษา โครงการจะไม่สำเร็จเลยถ้าไม่มีความร่วมมือจากทุกฝ่าย
สิ่งที่ภูมิใจมากที่สุดคือ ทุกคนร่วมมือ ร่วมใจ ช่วยเหลือเต็มความสามารถ ตามความถนัดของทุกคน ทำให้ผู้ป่วยแต่ละรายที่ไปรับ รอดพ้นวิกฤติไปได้ และหลายรายก็กลับไปใช้ชีวิตที่บ้านเป็นปกติ
“ทุกคนเกิดมาบนแผ่นดินไทย มีสิทธิ์พื้นฐานของตัวเองอยู่แล้ว แต่ความเท่าเทียมกันเป็นเรื่องที่แล้วแต่คนภายนอกให้มุมมอง คนชายขอบเขาก็มีสิทธิ์ เพียงแต่ว่าเขาเลือกจะอยู่ในพื้นที่แห่งนี้ อยู่กับธรรมชาติ อยู่กับครอบครัวการเข้าถึงบริการของแพทย์ปัจจุบันดีขึ้น” พญ.ศิวนาฎ กล่าว
พญ.ศิวนาฎ กล่าวอีกว่า ประทับใจทุกเคสที่ได้ทำงาน แต่ละเคสต่างมีความยากง่าย มีอยู่เคสหนึ่ง เป็นเด็กชายวัย 3 เดือน เหตุเกิดเมื่อช่วงเดือนธันวาคม พ.ศ.2561 เป็นวันเสาร์ เป็นวันหยุดของทุกคนในทีม ไม่มีใครอยู่ในพื้นที่ พอมีการร้องขอใช้อากาศยาน ทุกคนรีบกลับมาโรงพยาบาลภายใน 20 นาที เตรียมตัวเตรียมของไปรับเด็ก
“วันนั้นลมแรงกว่าเฮลิคอปเตอร์ไปถึงหมู่บ้านแม่จันทะก็เกือบ1ชั่วโมง พบว่าเด็กหอบเหนื่อย ตัวเขียว อาการไม่ดีมากๆ ทีมแพทย์ใส่ท่อช่วยหายใจ ให้ออกซิเจน ให้น้ำเกลือ ใช้เครื่องช่วยหายใจประคองอาการผู้ป่วยจนบินไปส่งที่ รพ.แม่สอด จนเด็กปลอดภัย ทีมงานดีใจที่ได้ช่วยชีวิตเด็กไว้ได้” พญ.ศิวนาฎ กล่าวชื่นชมทีมงาน
ทั้งหมดนี่คือภารกิจของบุคลากรทางการแพทย์ที่ต้องแบกรับภาระหน้าที่อันยิ่งใหญ่ หากจะบอกว่าเป็นกลุ่มคนที่ปิดทองหลังพระคงไม่ผิดนัก.
วิทยา ปัญญาศรี รายงาน