“โรคภูมิแพ้” เกิดจากปฏิกิริยาทางภูมิคุ้มกันของร่างกายต่อสารก่อภูมิแพ้ (allergen) ที่ได้รับเข้าสู่ร่างกาย ไม่ว่าจะเป็นการสัมผัสทางผิวหนัง การรับประทาน การสูดดม การฉีดเข้ากล้ามเนื้อหรือเข้าหลอดเลือด หรือถูกแมลงกัดต่อย ล้วนสามารถก่อให้เกิดอาการแพ้ได้ ที่สำคัญคือ จะเป็นเฉพาะคนที่เป็นโรคภูมิแพ้ คนที่ไม่เป็นโรคนี้จะไม่มีปฏิกิริยาทางภูมิคุ้มกันต่อสารก่อภูมิแพ้ เท่าที่มีรายงานในโลกนี้ มีสารก่อภูมิแพ้มากกว่า 4,000 ชนิด อย่างไรก็ตาม มีสารก่อภูมิแพ้ที่พบบ่อยในไทย ได้แก่ สารก่อภูมิแพ้ในอากาศ เช่น ไรฝุ่น แมลงสาบ เกสรพืช รังแคสัตว์เลี้ยง สารก่อภูมิแพ้ในอาหาร เช่น นมวัว ไข่ ถั่วเหลือง อาหารทะเล ข้าวสาลี โดยทั่วไปสามารถจำแนกสารก่อภูมิแพ้ได้เป็น 2 กลุ่ม ได้แก่

  • สารก่อภูมิแพ้ในบ้าน เช่น ไรฝุ่น แมลงสาบ ฝุ่น เชื้อราในอากาศ รังแคสัตว์เลี้ยง พวกแมว สุนัข

  • สารก่อภูมิแพ้นอกบ้าน เช่น ละอองเกสรหญ้า ฝุ่นละอองและควันตามท้องถนน มลพิษทางอากาศ ควันท่อไอเสียจากรถ ซึ่งเป็นสารระคายเคือง และกระตุ้นให้ผู้ป่วยมีอาการมากขึ้น

ชนิดของโรคภูมิแพ้

โรคภูมิแพ้สามารถเกิดได้กับอวัยวะทุกส่วนของร่างกาย บางคนเกิดเฉพาะที่อย่างเดียว บางคนเกิดอาการในหลายๆ อวัยวะพร้อมๆ กัน แต่ผู้ป่วยมักมีอาการเรื้อรัง มีอาการแสดงได้หลายแบบ โรคภูมิแพ้ที่สำคัญในเด็ก ได้แก่

1. โรคหืด (asthma) เกิดจากการที่ทางเดินหายใจมีอาการบวม หลอดลมตีบแคบ เมื่อถูกกระตุ้นโดยสารก่อภูมิแพ้ที่สูดเข้าทางเดินหายใจ ทำให้เกิดปฏิกิริยาภูมิแพ้ในหลอดลมและปอด ผู้ป่วยจะมีอาการหายใจเสียงดัง “วี้ด” หอบ แน่นหน้าอก ผู้ป่วยจะมีหลอดลมที่ไวต่อการเปลี่ยนแปลงสิ่งแวดล้อมหรืออารมณ์ ร้อนไป หนาวไป ออกกำลังกายหักโหมไป หรือการติดเชื้อในระบบหายใจ

...

2. โรคเยื่อบุจมูกอักเสบภูมิแพ้ (allergic rhinitis) หรือมักเรียกว่าโรคแพ้อากาศ มีอาการส่วนใหญ่ในจมูก คัดจมูก จาม คัน น้ำมูกไหลใสๆ แทบทุกวัน เป็นๆ หายๆ เรื้อรัง บางคนมีปัญหาภูมิแพ้ที่ตาร่วมด้วย มีอาการคันตา น้ำตาไหล เด็กบางคนบ่นว่าแสบตา

3. โรคผิวหนังอักเสบภูมิแพ้ (atopic dermatitis) ผิวหนังมีอาการคัน แดง เป็นผื่นเรื้อรัง เป็นๆ หายๆ ตามแก้ม คอ บริเวณใบหู พบบ่อยในเด็กเล็ก สำหรับในเด็กโตจะพบผื่นตามข้อพับแขน ขา ข้อเท้า อาการผื่นคันจะเห่อมากขึ้น เมื่อมีสิ่งกระตุ้น เช่น อากาศร้อน เหงื่อออกมาก การเกาที่ผื่นมากๆ ก็กระตุ้นได้

4. ผื่นลมพิษ (urticaria) ผิวหนังมีอาการคัน บวม เป็นผื่นนูนหนา ซึ่งเกิดจากหลายสาเหตุ เช่น แพ้อาหาร แพ้ยา พิษจากแมลงกัดต่อย ติดเชื้อไวรัสหรือแบคทีเรีย บางรายไม่ทราบสาเหตุ

5. แพ้อาหาร (food allergy) เป็นปฏิกิริยาการแพ้ส่วนประกอบในอาหาร ส่วนใหญ่เป็นโปรตีน แสดงอาการแพ้ได้หลายระบบ ที่พบบ่อยได้แก่ ระบบทางเดินอาหาร เช่น ปวดท้อง อาเจียน ท้องเสีย อาเจียนเป็นเลือด ถ่ายอุจจาระเป็นเลือด อาการแพ้ทางผิวหนัง เช่น ผื่นผิวหนังอักเสบภูมิแพ้ ลมพิษ อาการทางระบบทางเดินหายใจ เช่น หอบหืด คัดจมูก น้ำมูกไหล หายใจดังครืดคราด เป็นต้น ผู้ป่วยบางรายแพ้อาหารอย่างรุนแรง (anaphylaxis) ทำให้ระบบอวัยวะต่างๆ ทำงานล้มเหลวจนเสียชีวิต

6. เยื่อบุตาอักเสบจากภูมิแพ้ (allergic conjunctivitis) มีอาการแสบตา คันตา น้ำตาไหล ขยี้ตาบ่อย จนขอบตาช้ำ สีคล้ำ มักพบร่วมกับโรคเยื่อบุจมูก จมูกอักเสบภูมิแพ้

อันตรายของโรคภูมิแพ้

ถ้าคนไข้มีอาการแพ้อย่างรุนแรง จะส่งผลให้เสียชีวิตได้ ซึ่งโรคหนึ่งที่รุนแรงมากจนถึงตายได้คือ โรคหืดที่เกิดอาการจับหืดเฉียบพลันจนหลอดลมตีบมากจนปอดทำงานไม่ได้ ทำให้ผู้ป่วยขาดออกซิเจนจนเสียชีวิตได้ ส่วนอาการแพ้ที่พบไม่บ่อยคือ การแพ้อาหารอย่างรุนแรงหรือแพ้แมลงกัดต่อยแบบ anaphylaxis คนไข้จะเกิดอาการแพ้ในหลายๆ ระบบ เช่น ผื่นลมพิษ หอบหืดหายใจลำบากจนขาดออกซิเจน ช็อคจากภาวะความดันเลือดตก จากภาวะลำไส้เกิดการอักเสบจนท้องร่วงอย่างแรง หากไปพบแพทย์ไม่ทันภายใน 5-30 นาทีจะเสียชีวิตได้

ใครบ้างที่เสี่ยงเป็นโรคภูมิแพ้

ภูมิแพ้เป็นโรคที่ไม่ได้เกิดขึ้นกับทุกคน จะมีบางคนที่มีความเสี่ยงสูงต่อการเป็นโรคนี้ตั้งแต่เกิดมา ปัจจัยสำคัญที่บอกความเสี่ยงนี้คือ พันธุกรรม พบว่าถ้าเป็นลูกของคุณพ่อคุณแม่ที่เป็นโรคภูมิแพ้ชนิดเดียวกัน ลูกคนนี้จะมีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคภูมิแพ้สูงถึงร้อยละ 50-70 ความเสี่ยงจะลดลงเล็กน้อย (ร้อยละ 40-60) ถ้าพ่อและแม่ป่วยเป็นโรคภูมิแพ้คนละชนิด และถ้ามีพ่อหรือแม่คนใดคนหนึ่งเท่านั้นที่ป่วยด้วยโรคภูมิแพ้ ความเสี่ยงลดลงเป็นร้อยละ 20-40 อย่างไรก็ตาม แม้ว่าคุณพ่อคุณแม่ไม่ได้มีพันธุกรรมของโรคภูมิแพ้ เด็กที่เกิดใหม่ทุกคนมีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคนี้อยู่ที่ร้อยละ 10-15 สาเหตุหรือปัจจัยที่ร่วมช่วยกระตุ้นให้เป็นโรคภูมิแพ้ได้ง่าย คือ สิ่งแวดล้อมที่มีสารก่อภูมิแพ้ต่างๆ หรือมีสิ่งระคายเคืองทางเดินหายใจตั้งแต่ในทารกแรกเกิดคือ บุหรี่ที่มีบุคคลในครอบครัวสูบในบ้านที่มีเด็กอาศัยอยู่ทุกวันนั่นเอง

ชนิดของโรคภูมิแพ้ที่พบบ่อยที่พ่อแม่ควรรู้จัก ได้แก่

  • แพ้อาหาร

การแพ้อาหาร คือ การกินอาหารแล้วเกิดอาการผิดปกติ เช่น ปวดท้อง อาเจียน ท้องร่วง มีผื่นลมพิษขึ้น ปากบวมหน้าบวม อาการเหล่านี้เป็นอาการแพ้อาหารได้ โดยจะมีอาการเกิดขึ้นหลังการได้รับอาหารทั้งจากการรับประทานอาหาร การสัมผัสอาหารหรือจากการสูดดมเอาละอองอาหารเข้าสู่ร่างกาย ไปก่อให้เกิดปฏิกิริยาทางภูมิคุ้มกันจนทำให้เกิดอาการแพ้ แต่มีบางคนไม่สามารถรับอาหารบางชนิด คือ ไม่ได้แพ้แต่จะมีอาการคล้ายกับการแพ้อาหาร อาจเกิดจากในลำไส้ขาดเอ็นไซม์ย่อยน้ำตาลแลคโต้สในนม ทำให้มีอาการท้องร่วงหลังรับประทานนม หรือเกิดจากสารบางอย่างในอาหาร เช่น คาเฟอีนในกาแฟทำให้ใจสั่น หรือเกิดจากสารพิษในอาหารทำให้เกิดอาการท้องร่วงได้

อาการ

อาการแพ้อาหารเกิดขึ้นกับทุกส่วนของร่างกาย แต่ที่พบบ่อยๆ มี 3 ระบบ ได้แก่

  • ระบบทางเดินอาหาร ได้แก่ อาการคันปาก ปากบวม ริมฝีปากบวม อาเจียน (เป็นอาหารหรือเป็นเลือด) ปวดท้อง ท้องเสีย (ถ่ายอุจจาระเหลวหรืออุจจาระเป็นเลือดปน)

  • ระบบผิวหนัง ได้แก่ ผื่นคัน ลมพิษ บวมใต้ผิวหนังที่หน้า หนังตา ริมฝีปาก

  • ระบบทางเดินหายใจ ได้แก่ จาม คัดจมูก น้ำมูกไหล ไอ หอบ แน่นหน้าอก

ในรายที่อาการแพ้รุนแรง มีอาการคอและหลอดลมบวมจนตีบ แน่นหน้าอก หายใจลำบาก ความดันเลือดต่ำ ช็อกรุนแรง ถึงขั้นเสียชีวิตได้

การวินิจฉัย

แพทย์จะทำการซักประวัติ และตรวจร่างกาย ซักถามอาการที่เกิดขึ้นหลังจาการได้รับอาหารเข้าไป เวลาที่เกิดอาการหลังรับประทาน ชนิดของอาหาร ปริมาณ ถ้าประวัติชัดเจนจะสามารถให้การวินิจฉัยได้ว่าแพ้อาหารอะไร แต่ในรายที่ไม่แน่ใจหรือสงสัยว่าแพ้อาหารหลายชนิด แพทย์จะให้ผู้ป่วยจดบันทึกอาหารที่รับประทานตลอดวันโดยละเอียด เป็นระยะเวลา 2-4 สัปดาห์ รวมถึงอาการผิดปกติที่เกิดขึ้น (ถ้ามี) นอกจากนี้แพทย์อาจแนะนำให้ทำการทดสอบทางห้องปฏิบัติการ เช่น ทดสอบภูมิแพ้ทางผิวหนัง ซึ่งใช้เวลาทดสอบสั้นๆ เพียง 15 นาที สามารถช่วยตรวจหาชนิดของอาหารที่แพ้ได้ หรือใช้วิธีการตรวจเลือดเพื่อวัดระดับ IgE ว่าแพ้อาหารชนิดใด แต่ใช้เวลาตรวจนานกว่าและแพงกว่าการทดสอบทางผิวหนัง

อย่างไรก็ตาม การยืนยันการวินิจฉัยโรคที่ดีที่สุด คือ การให้ผู้ป่วยหยุดอาหารชนิดนั้นแล้วอาการหายไป และเมื่อรับประทานอีกครั้งก็เกิดอาการ แต่การกระทำแบบนี้ต้องปรึกษาแพทย์ก่อนหรืออยู่ในการดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิด เพราะอาจเกิดอาการแพ้อย่างรุนแรงและเกิดอันตรายได้ โดยเฉพาะในรายที่มีอาการแพ้อาหารรุนแรง

การรักษา

ในปัจจุบันยังไม่มียาที่รักษาแล้วสามารถกลับไปรับประทานอาหารที่แพ้ได้ ดังนั้น ถ้าแพ้อาหารชนิดใด ต้องหลีกเลี่ยงอาหารชนิดนั้น จะเป็นวิธีที่ดีที่สุด ไม่เกิดอาการอะไรผิดปกติอีก ข้อแนะนำที่สำคัญในการหลีกเลี่ยงอาหารที่แพ้คือ ต้องหลีกเลี่ยงอาหารกลุ่มที่แพ้ด้วยเสมอ เช่น เมื่อแพ้นมวัว จำเป็นต้องหลีกเลี่ยงผลิตภัณฑ์จากนมวัว เช่น เนย เนยแข็ง นมเปรี้ยว ไอศกรีม ขนมเค้ก คุกกี้ ถ้าเป็นเด็กเล็กที่แพ้นมวัว แต่ยังต้องกินนมเป็นอาหารหลัก ควรให้กินนมแม่ โดยให้แม่หลีกเลี่ยงนมและผลิตภัณฑ์จากนมวัว หรือหากนมแม่ไม่พอ แนะนำเปลี่ยนให้กินนมสูตรพิเศษสำหรับคนแพ้นมวัว นมถั่วเหลือง หรือนมสูตรแพ้น้อย (extensive hydolysate formula) หรือนมสูตรกรดอะมิโนแทน ทั้งนี้ควรปรึกษาแพทย์ในการเลือกชนิดของนมและการให้สารอาหารและแร่ธาตุเสริม เช่น แคลเซียม สังกะสี เป็นต้น

การหลีกเลี่ยงอาหารที่แพ้เป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อน ต้องให้ความสำคัญและใส่ใจ เนื่องจากในกระบวนการเตรียมอาหาร หรือผลิตอาหาร มักจะมีการปนเปื้อน/ผสมสารอาหารที่แพ้ ทำให้เกิดการรับประทานอาหารที่แพ้แบบไม่รู้ตัว เช่น ไข่ในขนมปัง นมในขนมเค้ก ถั่วเหลืองในซีอิ๊ว นมวัวในนมแม่ (แม่ที่ดื่มนมวัว) ปลาในไข่ (ฟาร์มเลี้ยงไก่ไข่ด้วยเนื้อปลาบด) ถั่วในช็อกโกแลต สารกันเสียในขนมขบเคี้ยว เป็นต้น จึงขอให้ผู้ที่แพ้อาหารต้องเรียนรู้ส่วนประกอบในอาหาร และระมัดระวังสอบถามพ่อครัวแม่ครัวเสมอว่ามีการผสมอาหารที่แพ้ในอาหารที่เรากำลังจะกินหรือไม่ ที่ผ่านมามีผู้ที่เผลอไปกินอาหารที่แพ้จนเกิดอาหารรุนแรงแทบเสียชีวิตหรือเสียชีวิต เพราะประมาท ไม่สอบถามให้แน่ใจว่าอาหารที่กำลังจะกินนั้นแพ้ได้หรือไม่

ในรายที่เกิดอาการแพ้ มียาใช้บรรเทาอาการได้บ้าง เช่น ยาแก้แพ้ ใช้แก้อาการคัน ผื่นลมพิษ พ่นยาขยายหลอดลมเพื่อแก้อาการหอบ ฉีดยา adrenaline ถ้ามีอาการแพ้อาหารรุนแรง ผู้ที่แพ้อาหารรุนแรงจำเป็นต้องพกยา adrenaline ติดตัวพร้อมใช้ฉีดตลอดเวลา และควรเรียนรู้วิธีการฉีดยาด้วยตนเองให้ได้ เพื่อป้องกันการเสียชีวิตในกรณีที่เผลอไปรับประทานอาหารที่แพ้

เด็กที่แพ้อาหารหายได้ ถ้าหลีกเลี่ยงอย่างเต็มที่เป็นระยะเวลาอย่างน้อย 6 เดือนถึง 1 ปี หรือมากกว่านั้น โอกาสในการหายขึ้นอยู่กับว่าแพ้อาหารชนิดใด ถ้าแพ้นมวัว ไข่ แป้งข้าวสาลี ในเด็กเล็ก มีโอกาสหายได้เมื่อโตขึ้น

หากแพ้ถั่ว หรืออาหารทะเล (กุ้ง ปู ปลา ปลาหมึก หอย) มักจะแพ้ตลอดชีวิต

การป้องกัน

สามารถทำได้ด้วยการให้ลูกดื่มนมแม่อย่างเดียวอย่างน้อย 4 เดือน ทั้งนี้ การกินนมแม่ยังสามารถป้องกันโรคภูมิแพ้ชนิดอื่นๆ เช่น ผื่นผิวหนังอักเสบภูมิแพ้ได้ด้วย

ยังมีเรื่องราวน่ารู้ของโรคภูมิแพ้ชนิดอื่นๆ อีก รอติดตามสัปดาห์หน้านะครับ

-----------------------------------------------------------------------------------

แหล่งข้อมูล
ศาสตราจารย์คลินิก นพ. สุวัฒน์ เบญจพลพิทักษ์ สาขาวิชาโรคภูมิแพ้และภูมิคุ้มกัน ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล