เด็กเล็ก 1 ใน 5 ไม่ได้อยู่กับพ่อแม่ เหตุครอบครัวยากจนต้องทำงาน เสี่ยงเกิดภาวะไม่พร้อมเรียน-หลุดนอกระบบ กสศ. ชี้ครูปฐมวัย คือหัวใจช่วยบ่มเพาะ เปิดรับสถาบันอุดมศึกษาเพื่อพัฒนาข้อเสนอ "ปฏิรูประบบการผลิตและพัฒนาครูปฐมวัย ผู้ดูแลเด็ก และครูผู้ช่วย" หาทางออกปัญหา


รศ.ดร.ดารณี อุทัยรัตนกิจ คณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) กล่าวว่า จากการสำรวจสถานการณ์เด็กและสตรีในประเทศไทย พ.ศ.2558-2559 ของสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่า เด็กอายุระหว่าง 0-4 ปี ในประเทศไทยมากกว่า 1 ใน 5 คนไม่ได้อยู่กับพ่อ แม่แม้พ่อแม่ยังมีชีวิตอยู่ เนื่องจากครอบครัวยากจนต้องทำมาหากินทั้งคู่ จึงต้องฝากลูกไว้กับปู่ย่าตายายหรือสมาชิกคนอื่นๆ ของครอบครัวในจังหวัดบ้านเกิด สิ่งที่เกิดขึ้นคือ ผลกระทบเรื่องภาวะไม่พร้อมเรียนรวมถึงการหลุดออกนอกระบบตั้งแต่วัยเยาว์ ในระยะยาวหากแก้ไม่ได้ เด็กกลุ่มนี้ก็จะเข้าสู่วัฏจักรความยากจนข้ามชั่วคน เพราะเข้าไม่ถึงการศึกษา หรือได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพต่างกัน



"ด้วยสภาพดังกล่าวศูนย์พัฒนาเด็กเล็กจึงเป็นหนึ่งในทางเลือกของครอบครัวกลุ่มนี้ในการดูแลเด็กๆ เพราะไม่มีค่าใช้จ่ายหรือถ้ามีก็นับว่าน้อยมาก โดยปัจจุบันประเทศไทยมีเด็กปฐมวัย อายุ 2-6 ปี อยู่ในความดูแลของศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก สังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จำนวน 829,645 คน และเด็กปฐมวัย อายุ 3-6 ปี เรียนในระดับอนุบาลจำนวน 1,813,711 คน ซึ่งจากข้อมูลสถานการณ์การพัฒนาเด็กปฐมวัย กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) พบว่า เด็กปฐมวัย ตั้งแต่แรกเกิดจนถึงก่อนอายุ 6 ปีบริบูรณ์ มีพัฒนาการล่าช้าถึง 30% ของเด็กในกลุ่มอายุดังกล่าว" รศ.ดร.ดารณี กล่าว

...

รศ.ดร.ดารณี กล่าวว่า เรื่องนี้ถือเป็นภาวะวิกฤติของการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของประเทศเพราะการลงทุนพัฒนาในเด็กปฐมวัยถือเป็นการลงทุนที่คุ้มค่าให้ผลตอบแทนกลับคืนในอนาคต 7-10 เท่า จากข้อมูลของงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาเด็กปฐมวัย พบหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อการพัฒนาเด็กปฐมวัย คือ คุณภาพของครูปฐมวัย ผู้ดูแลเด็ก และครูผู้ช่วย กสศ.จึงจัดทำโครงการวิจัยเพื่อพัฒนาข้อเสนอในการปฏิรูประบบการผลิตและพัฒนาครูปฐมวัย ผู้ดูแลเด็ก และครูผู้ช่วย ซึ่งเปิดโอกาสให้คณะบุคคล สถาบันอุดมศึกษา สถาบันวิชาการ และหน่วยงานที่มีความสนใจ และมีความเชี่ยวชาญ ด้านการผลิตและพัฒนาครูปฐมวัย ผู้ดูแลเด็ก และครูผู้ช่วย มาร่วมวิจัยและพัฒนาข้อเสนอการปฏิรูประบบการผลิตและพัฒนาครูฯ โดยคำตอบที่มุ่งหวังจากงานวิจัย มี 4 ประเด็นหลัก คือ 1.จัดทำแนวทางการพัฒนาหลักสูตรในการผลิตครูปฐมวัย ผู้ดูแลเด็ก และครูผู้ช่วย 2.จัดทำแนวทางการพัฒนาครูปฐมวัย ผู้ดูแลเด็ก และครูผู้ช่วย 3.จัดทำข้อเสนอในการปฏิรูประบบการผลิตและพัฒนาครูปฐมวัย ผู้ดูแลเด็ก และครูผู้ช่วย และ 4.จัดทำข้อเสนอต่อกสศ.เกี่ยวกับการพัฒนาสถาบันต้นแบบในการผลิตและพัฒนาครูปฐมวัย ผู้ดูแลเด็ก และครูผู้ช่วย สำหรับ ผู้สนใจสามารถยื่นข้อเสนอโครงการได้ตั้งแต่วันนี้จนถึง 8 สิงหาคม 2562 หรือสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ 095 532 8839 ในวันและเวลาราชการ

"ข้อมูลที่เราอยากเห็น คือ ทำอย่างไรจะเกิดระบบการผลิตครูที่มีคุณภาพ ตั้งแต่กระบวนการคัดกรองรับนิสิต นักศึกษาเพื่อให้ได้คนที่มีคุณลักษณะพฤติกรรมเหมาะสมในการเป็นครูปฐมวัยเข้ามาเรียนครู การออกแบบหลักสูตรการเรียนการสอน การอบรมพัฒนา กระบวนการบ่มเพาะคุณลักษณะของครูปฐมวัย ตลอด 4 ปี เพื่อให้ได้ครูปฐมวัยที่จะไปทำงานพัฒนาการเรียนรู้ของเด็กที่มีความแตกต่างกันตามบริบทท้องถิ่นได้ นอกจากทำงานกับเด็กแล้ว ยังต้องทำงานกับพ่อแม่ ปู่ย่า ตายาย ชุมชน การจัดการศึกษาปฐมวัยสำคัญมาก โดยเฉพาะโลกยุคปัจจุบันเทคโนโลยียิ่งทันสมัย สภาพสังคมที่เปลี่ยนไป จะมีเด็กกลุ่มเสี่ยงเพิ่มมากขึ้น อาทิ เด็กยากจน ด้อยโอกาส เด็กพิการ เด็กพัฒนาการช้า เด็กออทิสติก ดังนั้นหากเด็กๆ ได้รับโอกาสเข้าถึงการเตรียมความพร้อมทางการศึกษาที่ดีกับครูปฐมวัยที่มีคุณภาพจะช่วยให้มีชีวิตที่ดีขึ้น ไม่ต้องอยู่ในวงจรความเหลื่อมล้ำไปตลอดชีวิต" กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ กสศ.กล่าว