เผยกัญชาไม่ได้รักษาได้ทุกโรค หมอเตือน “เบาหวาน-ความดัน-หัวใจ” ใช้กัญชามีอันตราย ด้านกระทรวงสาธารณสุขเตรียม โรงพยาบาล 100 แห่ง จ่ายสารสกัดกัญชาทางการแพทย์ ดีเดย์สิงหาคม มีน้ำมันกัญชากว่า 30,000 ขวดให้ผู้ป่วย หัวหน้ากลุ่มงานเภสัชกรรม รพ.เจ้าพระยาอภัยภูเบศร ชูธงขอเป็น “อภัยภูเบศรโมเดล” ศึกษาหาประโยชน์-โทษกัญชา เพื่อให้ความรู้ในการใช้ที่ถูกต้องแก่ประชาชน

ที่กระทรวงสาธารณสุข เมื่อวันที่ 24 ก.ค. มีการประชุมการจัดระบบบริการการใช้กัญชาทางการแพทย์ในสถานพยาบาล นพ.สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวหลังประชุมว่า ขณะนี้มี รพ.ศูนย์ รพ.ทั่วไป รพ.ชุมชน รวมกว่า 100 แห่ง ยื่นเรื่องขอเป็นสถานพยาบาลที่สามารถจ่ายกัญชาทางการแพทย์ได้ แต่เบื้องต้นคงไม่ใช่ทั้งหมดที่จะจ่ายได้ ต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ทางการแพทย์ที่กำหนด แต่ที่หารือ คือ จะให้ 1 เขตบริการสุขภาพ มีสถานพยาบาล 1 แห่ง เป็นแม่ข่ายรองรับการส่งต่อผู้ป่วยจากสถานพยาบาลในเขต และมี รพ.สังกัดกรมการแพทย์ กรมสุขภาพจิต เป็นที่ปรึกษา นอกจากนี้ ยังมีการหารือเรื่องการตั้งเป็นคลินิกเฉพาะกัญชาด้วย ส่วนผู้ป่วยของนายเดชา ศิริภัทร จะมาดูว่าสถานพยาบาลใดจะดูแลได้บ้าง เรื่องค่าใช้จ่ายที่มีการเรียกร้องให้รักษาฟรีนั้น หากแพทย์วินิจฉัยว่าจำเป็นต้องใช้ก็ถือเป็นการใช้ยา เหมือนผู้ป่วยระบบหลักประกันสุขภาพที่ได้รับยาบางตัวที่อยู่นอกบัญชียาหลักฟรี

ภญ.สุภาภรณ์ ปิติพร หัวหน้ากลุ่มงาน เภสัชกรรม รพ.เจ้าพระยาอภัยภูเบศร กล่าวถึงความคืบหน้าเรื่องน้ำมันกัญชาว่า รพ.เจ้าพระยาอภัยภูเบศร ได้รับกัญชาของกลางจาก ป.ป.ส. 662 กิโลกรัม ผลิตน้ำมันกัญชาสูตร THC 1.7 เปอร์เซ็นต์ได้ 8,000-9,000 ขวด ขวดละ 5 ซีซี ในวันที่ 23 ส.ค. สามารถดูแลผู้ป่วยใน รพ.เจ้าพระยาอภัยภูเบศร ได้ประมาณ 1 พันคน และกระจายให้สถานพยาบาลอื่นๆด้วย ส่วนลอตอื่นจะออกมาในวันที่ 20 ก.ย. ประมาณ 15,000 ขวด วันที่ 10 ต.ค. จะได้ 30,000-32,000 ขวด ขณะที่สาร CBD จะสกัดจากกัญชาที่ปลูกเองได้ช่วงเดือน ก.พ.2563 ประมาณ 4,200 ขวด ในวันที่ 25 ก.ค. จะมีการหารือร่วมกับสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ หรือ สวทช. เกี่ยวกับเรื่องการทำ DNA บาร์โค้ด และหารือกับกลุ่มเกษตรแห่งชาติเรื่องระบบการปลูกที่มีคุณภาพเหมาะสม

...

ภญ.สุภาภรณ์กล่าวต่อว่า รพ.อภัยภูเบศร ไม่ได้อยากทำเรื่องกัญชาตั้งแต่แรก แต่พบมีผู้ป่วยที่ได้รับผลกระทบจากการใช้กัญชาถูกหามส่งมาที่ รพ.จำนวนหนึ่ง ไม่อยากเห็นแบบนี้อีกเลย มีการติดตาม ศึกษาเรื่องนี้เพื่อให้เกิดประโยชน์กับประชาชนมากที่สุด วันนี้ประชาชนตื่นตัวและถูกทำให้เชื่อว่ากัญชาเป็นยาวิเศษที่รักษาได้สารพัดโรค ต้องบอกว่าน้ำมันกัญชามีประโยชน์ แต่ต้องใช้อย่างถูกวิธี ที่มีการลิสต์รายชื่อว่ากัญชารักษาได้กว่า 49 โรคนั้น มีหลายโรคที่การใช้กัญชาอาจจะก่อให้เกิดผลเสีย เช่น กลุ่มผู้ป่วยเบาหวาน ความดัน โรคหัวใจ ซึ่งเป็นอันตรายมาก เพราะกัญชาจะไปขยายหลอดเลือด ความดันตก ใจสั่น ดังนั้นต้องระวังให้มาก

“หลายคนบอกว่าเป็นสิทธิของผู้ป่วยที่จะได้ใช้น้ำมันกัญชา แต่เราต้องดูแล อยากให้ประชาชนมีความรู้ถ่องแท้ในการใช้ ไม่อย่างนั้นจะเสียโอกาสในการรักษาโรคบางโรคให้หายขาดได้ ที่ผ่านมาการใช้แบบหมอพื้นบ้าน ต้ม ชง ก็มีการใช้กันมานาน แต่การใช้น้ำมันกัญชาเป็นสิ่งใหม่ที่ไทยไม่เคยชิน ประชาชนต้องมีความรู้และขอบเขตในการใช้รวมถึงมาตรการที่จะนำมาใช้ เช่น ในต่างประเทศหากประชาชนจะใช้เอง รัฐจะสนับสนุนชุดทดสอบอย่างง่ายเพื่อให้ทราบปริมาณสารสำคัญ ไม่ใช่ว่าใช้โดยขาดองค์ความรู้ ฉะนั้นเราจึงหันมาทำเรื่องนี้เพื่อหวังเป็นอภัยภูเบศรโมเดลในการดูแลและการใช้กัญชา” ภญ.สุภาภรณ์กล่าว

นพ.โสภณ เมฆธน ประธานกรรมการองค์การเภสัชกรรม กล่าวว่า ภายในวันที่ 7 ส.ค. องค์การเภสัชกรรมจะผลิตน้ำมันกัญชาออกมาได้ โดยสูตรที่มีสาร TSC สูง จะได้ประมาณ 1 หมื่นขวด สูตร TSC ต่อ CBD สัดส่วน 1 ต่อ 1 ประมาณ 3,000-3,500 ขวด และสูตร CBD สูง ประมาณ 500 ขวด เรื่องการกระจายน้ำมันกัญชา ส่วนหนึ่งจะให้กับกรมการแพทย์เพื่อดำเนินการตามโครงการศึกษาวิจัยที่มีข้อตกลงร่วมกัน อีกส่วนจะให้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา หรือ อย. พิจารณาให้กับผู้ป่วยที่ได้ยื่นขอนิรโทษกรรมการครอบครองไว้ จำเป็นจะต้องหารือกับ อย.เพิ่มเติมอีกครั้ง