ทีมบริหารประเมินคุณภาพครูโรงเรียนที่บุรีรัมย์ กางแผนประเมิน 10 ข้อ โต้กลั่นแกล้งครูข้ามเพศ ย้ำยึดตามผลงาน ขณะที่ครูข้ามเพศคนอื่น ระบุ สอนมา 8 ปี ไม่เคยถูกกีดกัน

จากกรณีนักสิทธิมนุษยชนด้านสิทธิความหลากหลายทางเพศ โพสต์เรื่องราวของครูข้ามเพศคนหนึ่ง ถูกผู้บริหารกดดันและกลั่นแกล้ง เนื่องจากแต่งกายเป็นผู้หญิงมาสอนหนังสือ โดยไม่ให้ผ่านประเมิน บีบให้ออกจากราชการ

นายอุกฤษฏ์ จัดสนาม หรือ ครูบอล อายุ 27 ปี ครูข้ามเพศ สอนวิชาคณิตศาสตร์ เผยว่า ตนสอบบรรจุเข้ารับราชการ เริ่มมาทำงานที่โรงเรียนแห่งนี้เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2562 วันแรกที่มารายงานตัว ตนแต่งกายด้วยชุดกางเกง แต่ในวันที่ 2 ได้แต่งตัวด้วยชุดกระโปรงมาสอนหนังสือ ปรากฏว่าผู้บริหารโรงเรียนได้บอกให้แต่งตัวด้วยชุดกางเกง ตัดผมบ๊อบสั้น ตนก็ทำตามมาตลอด 1 เทอม

กระทั่งเดือน มี.ค.2562 ผมตนเริ่มยาว จึงมัดผม แต่งกายด้วยชุดกระโปรงตามเพศสภาพของตน เพราะคิดว่าไม่ได้เสียหายอะไร เนื่องจากกระโปรงคลุมเข่า มัดผมเรียบร้อย ก็ถูกเรียกไปตักเตือนเรื่องการแต่งกายอีกครั้ง แต่ตนก็รู้สึกเป็นสิทธิ์ของตน หลังจากนั้นเดือน พ.ค.2562 ถึงเวลาประเมินผลการทำงานครั้งที่ 1 ปรากฏว่าตนมีข้อต้องปรับปรุงการทำงาน 10 ข้อ โดยมีเรื่องการไว้ผมและแต่งกายอยู่ด้วย จึงอยากเรียกร้องสิทธิ์เรื่องเพศสภาพ

ส่วนข้ออื่นๆ ที่ต้องปรับปรุง ในบันทึกข้อตกลง ตนก็ไม่พร้อมจะเซ็นชื่อรับทราบ เนื่องจากข้อความเหล่านั้นเป็นข้อความกว้าง ไม่เจาะจง เช่น การให้แสดงอารมณ์ กิริยาท่าทางให้เหมาะสมถูกต้องตามกาลเทศะ ตนคิดว่าบางกิริยาตนอาจจะคิดว่าทำดีแล้ว แต่อาจจะไม่ถูกใจอีกฝ่าย หรือในข้อที่ให้ปรับปรุง เรื่องการประเมินจำแนกกลุ่มนักเรียน ตนให้คะแนนนักเรียนอยู่ในเกณฑ์ดี เพราะตนสอนวิชาคณิตศาสตร์ ม.ปลาย เด็กโตก็อ่านออกเขียนได้ทุกคนอยู่แล้ว แต่อยู่ในข้อให้ปรับปรุง

...

ซึ่งคะแนนการประเมินครั้งแรกของตน จะถูกนำมาเฉลี่ยการประเมินทั้ง 4 ครั้ง หากต่ำกว่าเกณฑ์ ตนอาจจะต้องออกจากราชการ

ด้าน นางอาภาภรณ์ แปลงไธสง รักษาการตำแหน่งรอง ผอ.ฝ่ายวิชาการ หนึ่งในทีมบริหารประเมินคุณภาพครูโรงเรียนแห่งหนึ่ง อ.นางรอง จ.บุรีรัมย์ ชี้แจงว่า การบริหารงานภายในโรงเรียนจะมีการประเมิณผลงานครูผู้ช่วยปีละ 4 ครั้ง ภายใน 2 ปี คือ ทุกๆ 6 เดือน จะมีการทำข้อตกลงกันระหว่างคุณครูผู้สอน และ ผอ.โรงเรียน เพื่อสร้างความเข้าใจแนวทางปฏิบัติตามนโยบายด้านการศึกษา การปฏิบัติงาน เพื่อใช้เป็นเครื่องมือหรือแนวทางในการดำเนินงานพัฒนาการปฏิบัติงานในหน้าที่ งานที่ได้รับมอบหมาย และพฤติกรรม

ซึ่งข้อตกลงที่ทางคณะกรรมการประเมินได้จัดทำเป็นข้อตกลงกับคุณครูท่านนี้ มีข้อควรปฏิบัติทั้งหมด 10 ข้อ ว่าด้วยเรื่องให้ปฏิบัติตน แสดงกิริยาท่าทางสื่อสารกับนักเรียน ด้วยความรัก เมตตา เอาใจใส่ ทำตัวให้เป็นที่ยอมรับของบุคลากรในโรงเรียน ผู้ปกครอง ชุมชน เคารพผู้อาวุโส รักษาภาพลักษณ์ที่ดีในวิชาชีพ ทำตามระเบียบ กฎเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับการเป็นข้าราชการครู พัฒนาตนเองและผู้เรียน วัดและประเมินผลการเรียนรู้ตามสภาพจริงให้สอดคล้องกับตัวชี้วัดตามระเบียบการประเมินผล

สามารถจำแนกนักเรียนกลุ่มเก่ง กลาง อ่อนได้ ปฏิบัติหน้าที่ครูผู้ช่วยหอ เอาใจใส่นักเรียน และข้อสุดท้ายให้ไว้ผมและแต่งกาย ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีเรื่อง การไว้ผมและการแต่งกายของข้าราชการ ลูกจ้าง และผู้ที่ทำงานในรัฐวิสาหกิจ พ.ศ.2516 และพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ.2547 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 5 และหนังสือสำนักนายกรัฐมนตรีที่ นร.0106/1734 เรื่อง ขอหารือแนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับการแต่งกายของข้าราชการครู หากไม่ปฏิบัติตามข้อตกลงนี้ ให้ผู้บังคับบัญชาถือว่าไม่ปฏิบัติตามคำสั่ง ให้ลงโทษทางวินัยตามควรแก่กรณี

การประเมินครั้งนี้เป็นครั้งแรก เมื่อครูผู้ปฏิบัติมีการพัฒนาที่ดีขึ้น ตามข้อตกลงข้างต้น เมื่อประเมินครั้งที่ 2 ก็จะถือว่าผ่านการประเมิน ซึ่งบุคคลากรทุกตำแหน่งในโรงเรียนจะถูกประเมินแบบนี้มาโดยตลอด คณะกรรมการไม่ได้ถือว่าการที่บุคคลหนึ่งบุคคลใด มีสภาพจิตใจต่างจากเพศของตน จะเป็นผู้ปฏิบัติงานไม่ดี ไม่ควรผ่านเกณฑ์ แต่คณะกรรมการยึดมั่นในผลงาน ขอให้ผู้ปฏิบัติพิสูจน์ตนที่ผลงานของตนต่างหาก ไม่มีอคติต่อกัน ซึ่งการปฏิบัติงานของคุณครู สาวประเภทสองท่านนี้ ต้องพัฒนางานด้านการปฏิบัติตน และการปฏิบัติงาน ตามข้อตกลงข้างต้น

ซึ่งตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ทางโรงเรียนมีครูสาวประเภทสองที่สอนหนังสือ และเจ้าหน้าที่ที่เป็นสาวประเภทสอง รวมแล้วกว่า 6 ท่าน แต่ละท่านก็ปฏิบัติงานอยู่ในกฎ ระเบียบ วินัย ของสำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ และมีหน้าที่ตำแหน่งหัวหน้าฝ่ายต่างๆ ในโรงเรียน

ด้าน นายจักรพันธ์ เพ็งประโคน ครูผู้สอนวิชาภาษาไทย และเป็นครูหัวหน้าหอพักชาย เผยว่า ตนเป็นสาวประเภทสอง สอนที่โรงเรียนแห่งนี้มา 8 ปีแล้ว ไม่เคยรู้สึกว่าถูกกีดกันทางเพศสภาพ ตลอดระยะเวลาทำงานครูทุกคนก็ต้องประเมินการทำงานเพื่อพัฒนางานให้มีประสิทธิภาพ ให้นักเรียนได้รับประโยชน์สูงสุด คิดว่าการทำงานต้องเอาความสามารถมาพิสูจน์ให้เห็น ไม่เรียกร้องเพศสภาพ สิ่งที่ทำให้คนอื่นเห็นคุณค่าในตัวเราคือผลงาน.