กระบองเพชรหรือแคคตัส (Cactus) เป็นพันธุ์ไม้ที่ทุกคนรู้จักดี แต่...ถึงแม้ว่าทุกท่านจะรู้จัก ก็เชื่อได้ว่ายังมีเรื่องราวอีกมากมายเกี่ยวกับกระบองเพชรที่น่ารู้ ซึ่งคอลัมน์ไทยรัฐซันเดย์สเปเชียลโดยทีมงานนิตยสารต่วย’ตูน จะนำมาเล่าให้ฟังในวันนี้ แต่สายพันธุ์กระบองเพชรนั้นแยกย่อยได้หลายพันชนิด จึงขอนำเรื่องราวของกระบองเพชรสายพันธุ์หนึ่งที่เรียกว่า โอพันเทีย (Opuntia) มาเล่าแค่ชนิดเดียวก่อนครับ

โอพันเทีย มีผู้นำเข้ามาปลูกในไทยนานมากแล้ว และเรียกชื่อเป็นไทยว่า ต้นเสมา เพราะรูปทรงลำต้นและกิ่งเป็นแผ่นแบนกว้างคล้ายใบเสมาตามหน้าโบสถ์ ซึ่งโอพันเทียในถิ่นกำเนิดนั้นมีอยู่หลายร้อยชนิด แต่ละชนิดก็มีรูปทรงแตกต่างกันออกไป แต่ส่วนใหญ่จะเป็นทรงกลมๆแบนๆ ต่อๆกันเหมือนในภาพประกอบนี้ละครับ

ชนพื้นเมืองในเม็กซิโกเก็บแมลงคอชินีล.
ชนพื้นเมืองในเม็กซิโกเก็บแมลงคอชินีล.

ในต่างประเทศนำโอพันเทียมารับประทานกันทั้งส่วนกิ่ง (ที่เป็นแผ่นแบนใหญ่ดูคล้ายใบ) แล้วยังกินผลได้อีกด้วย ส่วนใบ (ซึ่งที่จริงคือกิ่ง) นั้นในเม็กซิโกเรียกกันว่า โนปาลิโต้ (Nopalito) ถือเป็นผักยอดฮิตเลยก็ว่าได้ มีการปลูกขายใบกันเป็นล่ำเป็นสัน เพราะเติบโตได้ดีในพื้นที่แห้งแล้งซึ่งผักอื่นปลูกได้ยาก โดยตัดใบอ่อนมากำจัดหนามออกแล้วใช้ทำอาหาร ทั้งกินเป็นผักสดและปรุงสุกได้สารพัดเมนู ในบางครั้งก็ใช้เป็นอาหารสัตว์ด้วย กินแล้วได้ทั้งสารอาหาร เส้นใย และน้ำในใบไปครบเลย เจ้าเต่ายักษ์แห่งเกาะกาลาปากอสก็เป็นนักบริโภคโอพันเทียตัวยงเลยล่ะครับ

...

โอพันเทียสายพันธุ์ที่นิยมกินผลนั้นเรียกว่า พริกลี่แพร์ (Prickly pear) แปลได้ว่าลูกแพร์หนาม หรืออีกชื่อก็คือกระบองเพชรมะเดื่อ (Opuntia ficus-indica) ปัจจุบันมีโอพันเทียชนิดนี้แพร่กระจายอยู่ทั้งในทวีปอเมริกา ยุโรป และแถบเมดิเตอร์เรเนียน คาดว่าเหตุที่แพร่กระจายไปทั่วก็เพราะนักเดินเรือข้ามทวีป สมัยก่อนเอาต้นโอพันเทีย ติดเรือไว้เป็นเสบียง เพราะมันคงความสดอยู่ได้นานหลายเดือนไม่เน่าเสีย แถมยังเติบโตได้ง่ายอีกต่างหาก แค่โยนชิ้นส่วนลำต้นทิ้งไว้บนพื้นก็สามารถเติบโตเป็นต้นใหม่ขึ้นมาได้แล้ว

ผลโอพันเทียปอกเปลือกในตลาดที่เม็กซิโก.
ผลโอพันเทียปอกเปลือกในตลาดที่เม็กซิโก.

นอกจากโอพันเทียแล้วผลกระบองเพชรอีกหลายสายพันธุ์ก็นำมากินได้ แก้วมังกร ผลไม้ถูกปากของหลายๆท่านก็เป็นแคคตัสสกุลหนึ่งซึ่งมีถิ่นกำเนิดในทวีปอเมริกา แต่ถูกนำเข้ามาปลูกในทวีปเอเชียเรานับร้อยปีแล้วครับ

แคคตัสเกือบทั้งหมดบนโลกนี้มีต้นกำเนิดมาจากทวีปอเมริกากลางและใต้ มีแค่สายพันธุ์เดียวคือริปซาลิส เบคซิฟีรา (Rhipsalis baccifera) แคคตัสขนาดเล็กชนิดนี้มักอิงอาศัยเติบโตอยู่บนต้นไม้อื่น พบได้ในหลายทวีปทั้งอเมริกา แอฟริกา มาดากัสการ์ และศรีลังกา เชื่อกันว่าน่าจะเกิดจากการแพร่พันธุ์ข้ามทวีปโดยเมล็ดติดมาในระบบย่อยอาหารของนกอพยพ แคคตัสสกุลริปซาลิสนี้มีอยู่อีกหลายชนิด ปัจจุบันมีจำหน่ายเป็นไม้ประดับพบเห็นได้ทั่วไป แต่เรามักไม่ทราบกันว่าเป็นแคคตัสเพราะริปซาลิสมักแตกกิ่งเป็นพุ่มห้อยยาวลงมาดูเผินๆคล้ายกับพวกเฟิร์นหรือต้นเดฟบางชนิด

โอพันเทียบางชนิดมีลำต้นสีสวยงาม.
โอพันเทียบางชนิดมีลำต้นสีสวยงาม.

เล่าถึงการแพร่พันธุ์ข้ามทวีปแล้วก็มีเรื่องของโอพันเทียที่ต้องเล่าก็คือ การที่มันเติบโตได้ง่ายดายดังที่ได้บอกไว้ก่อนหน้านี้ ไอ้การเติบโตง่ายแบบนี้จะว่าดีก็ดี แต่ก็ส่งผลเสียอยู่ด้วยเช่นกัน

ในอดีต ที่ออสเตรเลียมีโอพันเทียแพร่ระบาดจนกลายเป็นปัญหาระดับชาติ จากเดิมที่มีการนำเข้าไปปลูกในศตวรรษที่ 18 เพื่อใช้เลี้ยงแมลงสำหรับอุตสาหกรรมสีย้อมผ้า แต่ว่าเจ้าโอพันเทียมันดันขยายพันธุ์ไวเกินไป เนื่องจากสภาพแวดล้อมของดินแดนใหม่เอื้อต่อการเติบโต ไม่มีศัตรูทางธรรมชาติ แถมยังมีนกหลายชนิดมากินผลซึ่งเต็มไปด้วยเมล็ดขนาดจิ๋วแล้วไปถ่ายมูลในที่ไกลๆ ช่วยกระจายเมล็ดพันธุ์ออกไปอย่างรวดเร็ว

แผ่นดินออสเตรเลียเต็มไปด้วยต้นโอพันเทียจากต่างแดน.
แผ่นดินออสเตรเลียเต็มไปด้วยต้นโอพันเทียจากต่างแดน.

มีรายงานว่าโอพันเทียในนิวเซาท์เวลส์และควีนส์แลนด์นั้นแพร่พันธุ์กินพื้นที่ไปถึง 60 ล้านเอเคอร์ (151,800,000 ไร่) และขยายเพิ่มเรื่อยๆได้ถึงปีละล้านเอเคอร์ จนรัฐบาลต้องหาทางกำจัดสารพัดวิธี ทั้งระดมคนไปขุดไปเผา เอาลูกกลิ้งลากด้วยม้าและวัวบดขยี้ ใช้สารเคมีจำนวนมหาศาล รวมทั้งมีการตั้งค่าหัวนกที่กินผลโอพันเทีย เช่น หัวนกอีมูราคา 2 ชิลลิง 6 เพนนี ไข่นกอีมูฟองละ 1 ชิลลิง ซากอีกา 6 เพนนี ซากนกสครับแม็กไพน์ 4 เพนนี แต่ก็หยุดการระบาดไว้ไม่อยู่ มีการคำนวณว่าค่าใช้จ่ายในการกำจัดโอพันเทียในเวลานั้นแพงกว่าราคาที่ดินที่พวกมันขึ้นอยู่ซะอีก

พริกลี่แพร์.
พริกลี่แพร์.

ใน ค.ศ. 1901 รัฐควีนส์แลนด์ตั้งรางวัลสูงลิ่วถึง 50,000 ปอนด์สำหรับผู้ที่หาทางกำจัดโอพันเทียพวกนี้ได้ บางคนเสนอว่าให้ใช้กระต่ายช่วยกินให้หมด (ปัญหากระต่ายจำนวนมหาศาล จากกระต่ายนำเข้าจำนวน ไม่กี่ตัวขยายพันธุ์กลายเป็นหมื่นล้านตัว ก็เคยทำเอาระบบนิเวศของออสเตรเลียที่ไม่เคยมีกระต่ายแทบย่อยยับเลยทีเดียว) ที่สุดโต่งก็ถึงกับเสนอว่าให้ใช้ก๊าซพิษฆ่าสัตว์ในแถบนั้นให้หมดเพื่อไม่ให้เป็นตัวช่วยขยายพันธุ์โอพันเทีย ฟังแล้วก็น่าเศร้า กลายเป็นว่าสิ่งมีชีวิตอื่นซึ่งเป็นเจ้าของพื้นที่เดิมต้องล้มตายไปมากมายเพื่อกำจัดพืชต่างถิ่นที่มนุษย์ซึ่งก็มาจากต่างถิ่นเอาเข้าไปเองแท้ๆ

ต่อมาในภายหลัง ออสเตรเลียสามารถยับยั้งการแพร่ระบาดของโอพันเทียไว้ได้สำเร็จ โดยการควบคุมด้วยหนอนผีเสื้อกลางคืนชนิดหนึ่ง เจ้าหนอนชนิดนี้จะกินแต่โอพันเทีย โดยเจาะทะลุทะลวงเข้าไปกินถึงเนื้อในลำต้นเลยล่ะครับ นับเป็นการควบคุมวัชพืชโดยชีววิธีที่ได้รับผลสำเร็จอย่างงดงาม

ภาพวาดสื่อถึงโอพันเทียกำลังเป็นภัยคุกคามชาวออสเตรเลีย.
ภาพวาดสื่อถึงโอพันเทียกำลังเป็นภัยคุกคามชาวออสเตรเลีย.

บางท่านอาจสงสัยที่ผมบอกว่ามีการนำโอพันเทียไปปลูกไว้ใช้เลี้ยงแมลงสำหรับอุตสาหกรรมทำสีย้อมผ้านั้นคืออะไร เรื่องมันเป็นอย่างนี้ครับ ในอดีตมีการนำตัวเพลี้ยชนิดหนึ่งหน้าตาคล้ายเพลี้ยแป้งบ้านเรา ชื่อว่าคอชินีล (Cochineal) มาบดเอาสีแดงเข้มจากข้างในตัวมันมาผลิตสีเพื่อใช้ในอุตสาหกรรมย้อมผ้า โดยเรียกว่า สีแดงคาร์มีน (Carmine) สามารถนำไปผสมกับสารชนิดอื่นให้กลายเป็นเฉดสีต่างๆ เช่น ม่วง ชมพู หรือส้มได้ด้วย ซึ่งแมลงชนิดนี้จะอาศัยเกาะกินน้ำเลี้ยงอยู่บนต้นโอพันเทีย คล้ายกับที่แถบบ้านเราเลี้ยงครั่งไว้บนต้นจามจุรีและต้นไม้อื่นๆ นั่นแหละครับ

ใบอ่อนโอพันเทียนำมาทำอาหารได้หลายชนิด.
ใบอ่อนโอพันเทียนำมาทำอาหารได้หลายชนิด.

ในไทยเราก็เคยใช้ประโยชน์จากสีแดงของแมลงชนิดนี้ โดยเรียกกันว่าชาดอินจี ชาดลิ้นจี่ หรือสีลิ้นจี่ สตรีในอดีตใช้ทาปากรวมถึงนักแสดงงิ้วก็ใช้แต่งหน้าด้วยครับ สีแดงจากแมลงคอชินีลนิยมใช้กันมาตั้งแต่ยุคอาณาจักรมายา อาณาจักรแอส– เทค ต่อมาพวกสเปนไปยึดครองดินแดนอเมริกากลางก็เลยได้ความรู้นี้ และร่ำรวยด้วยการค้าขายสีย้อมจากคอชินีลซึ่งเป็นสินค้าสำคัญในยุคนั้น ทำให้อังกฤษซึ่งกำลังชิงดีชิงเด่นกันอยู่ยอมไม่ได้จึงนำโอพันเทียมาปลูกที่ออสเตรเลียอันเป็นอาณานิคมของอังกฤษเพื่อทำการผลิตบ้างดังที่กล่าวมาแล้ว

แมลงคอชินีล.
แมลงคอชินีล.

แต่ในช่วงกลางศตวรรษที่ 19 มีการค้นพบวิธีผลิตสีแดงสังเคราะห์จากสารเคมีที่ทำได้ง่ายกว่า สีแดงจากแมลงคอชินีลที่เคยขายดิบขายดีได้ราคาสูงก็เลยเสื่อมความนิยมลงไป มาถึงปัจจุบันก็แค่ใช้กันในงานเฉพาะอย่างเท่านั้นเองครับ.

ทีมงานนิตยสารต่วย'ตูน โดย : “ปูณณ์”