เชื่อว่าแฟนานุแฟนคอลัมน์ไทยรัฐซันเดย์ สเปเชียล โดยทีมงานนิตยสารต่วย’ตูน คงทราบกันเป็นอย่างดีถึงที่มาของฉายา “ท้าวพันตา” ขององค์อมรินทร์จอมเทพ ด้วยตำนานแสบๆของท้าวเธอที่ไปเป็นชู้กับเมียฤๅษี และไม่ใช่ฤๅษีโนเนมที่ไหน แต่เป็นฤๅษีระดับไฮโซที่ดำรงตำแหน่งสัตปฤๅษี อันเป็นแก๊งฤๅษีที่ทรงอิทธิพลที่สุดแห่งยุคเลยทีเดียว พระมุนีคนนั้นก็คือ พระเคาตมะ นั่นเอง
เรื่องราวนี้ปรากฏอยู่ในหลากหลายแหล่ง เช่น ในกถาสริตสาคร เล่มที่ 2 บทที่ XVII เรื่องที่ 21 เล่าถึงที่มาของดวงตาทั้ง 1,000 ของพระอินทร์ไว้ว่าเกิดจากคำสาปของพระฤๅษีเคาตมะที่สาปพระอินทร์ให้มีโยนี 1,000 ปรากฏไปทั่วตัวโทษฐานที่มาลักลอบเป็นชู้กับภรรยาของตน และพระมุนียังกำกับไว้ว่าเมื่อพระอินทร์ได้เห็นนางฟ้าติโลตตมาแล้ว โยนีทั้งพันจะกลายเป็นดวงตาแทน
แม้ว่าจะดูงามสง่าแต่ก็เป็นเหมือนตราบาปติดตัว เมื่อมีคนพูดถึงชื่อสหัสนัยน์เข้าก็อดคิดถึงที่มาของมันไม่ได้ใช่ไหมครับ กลายเป็นว่าตาตั้งพันนี้ไม่ได้ช่วยส่งเสริมบารมีเลย กลับเป็นสิ่งที่คอยย้ำให้คนดูถูกไปซะอีก
ทว่า ในตำนานเก่าก่อน...พระอินทร์ไม่ได้มีอวัยวะเพิ่ม แต่มีอวัยวะหายไปต่างหาก!
ดูเหมือนตามตำนานข้างต้นพระอินทร์จะได้รับฉายาสหัสโยนีมาก่อน แล้วจึงแก้เป็นสหัสนัยน์ในภายหลัง แต่สืบค้นย้อนกลับไปในตำนานที่เก่ากว่าจะพบว่า ตาตั้งพันของพระอินทร์นั้นมีมาก่อนจะเกิดตำนานคำสาปแล้วล่ะครับ ดังเช่น ในรามายณะ พาลกันฑ์ กล่าวถึงไว้ดังนี้
“...เธอ (อหัลยา) รู้อยู่แล้วว่า นี่เป็นพระมุนีตัวปลอม เขาคือ พระอินทร์ผู้มีตาตั้งพัน แต่การถูกสัมผัสด้วยไฟแห่งราคะ ทำให้เธอยอมทำตามความปรารถนาของพระองค์...” (รามายณะ, พาลกัณฑ์, XLVIII)
จะเห็นได้ว่ามีการกล่าวถึงพระอินทร์ว่ามีตาตั้งพันอยู่แล้ว ประหนึ่งว่าตาตั้งพันนั้นเป็นเอกลักษณ์ของพระอินทร์มาก่อนที่จะเกิดเรื่องราวนี้แล้ว และในคำสาปของพระเคาตมะก็ไม่ได้กล่าวถึงโยนีตั้งพันเลย
...
“...ด้วยคำสาปของเราที่มีต่อพระองค์เป็นดั่งพันธนาการ ต่อแต่นี้ไป จงเศร้าโศกและ ไร้ซึ่งกามารมณ์ ไม่มีภัยคุกคามอันว่างเปล่าเพราะคำพิพากษา...” (รามายณะ, พาลกัณฑ์, XLVIII)
ในมหาภารตะก็เล่าถึงวีรกรรมของพระอินทร์ที่ลักลอบเป็นชู้กับนางอหัลยาเช่นกัน ซึ่งคำสาปของพระเคาตมะก็ไม่มีเรื่องโยนีอีกเช่นเคย โดยคำสาปนั้นทำให้อวัยวะเพศของพระอินทร์หายไปจนต้องไปขอร้องพระอัคนีให้ช่วยเหลือ พระอัคนีจึงนำ “ของแพะ” มาต่อให้พระอินทร์แทน “ของเดิม” ที่หายไป (มหาภารตะ, ศานติบรรพ, CCCXLIII) ทั้งนี้ ในอาทิบรรพยังกล่าวถึงที่มาของตาตั้งพันของพระอินทร์ไว้ว่า เกิดจากความงามของนางอัปสรติโลตตมา ทำให้พระองค์เนรมิตดวงตาถึงพันดวงขึ้นมาเพื่อจ้องมองความงามของนาง (มหาภารตะ, อาทิบรรพ, CCXIII) ไม่ได้มีคำสาปมาเกี่ยวข้องเลย
ส่วนอีกหนึ่งในคัมภีร์รุ่นที่เก่าแก่ที่สุดที่เล่าถึงเรื่องพระอินทร์เป็นชู้กับนางอหัลยา อย่างคัมภีร์ศตปถพราหมณะก็ไม่ได้กล่าวถึงคำสาปเลยด้วยซ้ำไป แค่กล่าวว่าพระอินทร์ได้เป็นชู้กับนางอหัลยาผู้เป็นภริยาฤๅษีเคาตมะเท่านั้น
จะเห็นได้ว่าคัมภีร์รุ่นเก่ากว่าต่างก็ไม่มีการกล่าวถึงคำสาปอันเป็นที่มาของชื่อสหัสนัยน์เลย แต่ฉายาสหัสนัยน์กลับถูกกล่าวถึงเหมือนว่าฉายานี้เป็นของพระอินทร์มาตั้งแต่ต้น
แล้วพระอินทร์มีพันตามาตั้งแต่เมื่อไหร่กันแน่?
ย้อนกลับไปในยุคพระเวท พบว่าคัมภีร์ที่เก่าแก่ที่สุดอย่างฤคเวทมีการบรรยายถึงลักษณะต่างๆของพระอินทร์ไว้ รวมถึงดวงตาทั้ง 1,000 ของพระองค์ด้วย
“ข้าฯ ขอขับร้องสรรเสริญ เพื่อความอนุเคราะห์ของพระองค์ ขอวิงวรแด่พระอินทร์และพระวายุ ผู้รวดเร็วดั่งใจคิด พระผู้มีดวงเนตรตั้งพัน พระผู้เป็นใหญ่แห่งความคิดตริตรอง” (ฤคเวท 1.23.3)
จะเห็นว่าบทสรรเสริญข้างต้น แม้ว่าจะกล่าวถึงเทพถึงสององค์คือ พระวายุและพระอินทร์ แต่การบรรยายลักษณะเช่นนี้เป็นไปได้ว่า เทพทั้งสองมีลักษณะร่วมกัน ซึ่งพระผู้มีพันตาก็น่าจะหมายรวมถึงพระอินทร์ด้วย
นอกจากนี้ในฤคเวทบางบทก็ยังกล่าวถึงเทพองค์อื่นที่มีพันตาอีก เช่น พระวรุณ พระปุรุษะ พระโสมะ (พระจันทร์) และพระอัคนี
“พระวรุณ พระผู้ทรงฤทธิ์ ด้วยดวงเนตรตั้งพัน พระองค์ทรงมองเห็นเส้นทางที่แม่น้ำทั้งหลายเหล่านั้นไหลไป” (ฤค. 7.34.10)
“พระปุรุษะ พระองค์ทรงมีถึงพันเศียร พันเนตร พันบาท ทรงแผ่ซ่านออกไปยังทุกทิศทั่วโลก พระองค์ทรงอยู่เหนือขึ้นไปไกลกว่าความกว้างของสิบนิ้ว” (ฤคเวท 10.90.1)
“เขา ผู้เร่งรีบในการนำอาหารมากำนัล ผู้ซึ่งถวายแล้วซึ่งน้ำมันและเนยและปรนนิบัติพระองค์ พระผู้มีดวงเนตรตั้งพัน
ทรงเฝ้ามองเขาอย่างใกล้ชิด พระองค์ทรงปรากฏพระพักตร์จากทั่วสารทิศ พระอัคนีเจ้า” (ฤคเวท 10.79.5)
“จงขับร้องและสรรเสริญด้วยบทเพลงอันศักดิ์สิทธิ์แห่งพระปาวมาน สรรเสริญพระอินทุ พระผู้เฝ้ามองด้วย ดวงพระเนตรทั้งพันดวง”
และในยชุรเวทก็กล่าวถึงพระอัคนีและพระรุทรว่ามีพันตาเช่นกัน
“โอ้พระอัคนี ด้วยตาตั้งพัน ด้วยเศียรตั้งร้อย ทั้งร้อยคือการสิ้นสุด ทั้งพันคือการดลบันดาล ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้าแห่งทรัพย์นับพันเท่า เพื่อความเข้มแข็ง ขอให้เราได้ถวายการสักการะแด่พระองค์” (ไตตติริยสังหิตา 4.6.5)
“ขอนอบน้อมแด่พระภวะ และแด่พระรุทร
ขอนอบน้อมแด่พระสรวะ และแด่พระปศุปติ
ขอนอบน้อมแด่พระนีลกัณฐ์ และพระผู้มีกายสีขาว
ขอนอบน้อมแด่พระองค์ ผู้สวมใส่ผ้าที่ได้รับการถักทอ และแด่พระผู้มีผมที่ตัดเรียบ
ขอนอบน้อมแด่พระองค์ ผู้มีพันตา และแด่พระองค์ ผู้มีธนูตั้งพัน” (ไตตติริยสังหิตา 4.5.5)
อาจกล่าวได้ว่า เทพผู้ที่จะได้รับการบรรยายว่ามีพันตานั้นมักเป็นเทพที่มีความสำคัญ และเป็นเทพผู้ยิ่งใหญ่ อย่างเช่น พระปุรุษะถูกระบุไว้ในคัมภีร์ฤคเวทช่วงปลายว่าเป็นเทพผู้ให้กำเนิดสรรพสิ่ง แม้แต่เทพเจ้าผู้ยิ่งใหญ่อย่างพระอินทร์, พระอัคนี และพระสุริยะ ก็กำเนิดมาจากพระองค์ นับว่าเป็นเทพที่ยิ่งใหญ่องค์หนึ่ง ซึ่งต่อมาบทบาทของพระปุรุษะจะถูกนำไปสวมทับให้กับพระพรหม และชื่อปุรุษะจะถูกนำมาใช้ในเชิงปรัชญาแทนที่จะเป็นเทพที่มีตัวตน
ครั้นเวลาผ่านไป เทพผู้ยิ่งใหญ่ในยุคก่อนเหล่านี้ก็โดนกดลงให้เป็นเทพชั้นรอง ดวงตานับพันของพระอินทร์จึงถูกทำให้กลายเป็นตราบาปไปซะอย่างนั้น และเทพองค์อื่นๆก็ไม่เคยจะได้รับการบรรยายว่ามีพันตาอีก คล้ายว่ามันจะเป็นตราบาปสำหรับพระอินทร์แต่เพียงผู้เดียวล่ะครับ
แต่ในทางกลับกัน พุทธศาสนากลับไม่แสดงท่าทีรังเกียจการมีพันตา ถึงขนาดมีการแก้ต่างในประเด็นนี้ให้กับพระอินทร์อีกด้วยล่ะครับ ดังความปรากฏอยู่ในพระไตรปิฎก เล่มที่ 15 พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ 7 สังยุตตนิกาย สคาถวรรค สักกสังยุตต์ ทุติยสูตร ทุติยเทวสูตรที่ 2 มีความตอนหนึ่งว่า
“(909)...ดูกรภิกษุทั้งหลาย ท้าวสักกะจอมเทพ ย่อมทรงคิดเนื้อความได้ตั้งพันโดยครู่เดียว เพราะเหตุนั้น จึงถูกเรียกว่า ท้าวสหัสนัยน์...”
ในทรรศนะของพุทธฝ่าย เถรวาท (ลังกา) ชื่อสหัสนัยน์ไม่ได้หมายถึงมีดวงตา 1,000 ดวงจริงๆ แต่มีความหมายในเชิงเปรียบเทียบว่าพระอินทร์สามารถคิดอะไรได้ตั้งพันอย่างในเวลาเพียงชั่วครู่ ภาพลักษณ์ของพระอินทร์ในทางพุทธเถรวาทจึงเป็นเทวดาที่มีตาเพียง 2 ดวงเท่านั้น
ทางพุทธฝ่ายมหายานก็ได้รับคติสหัสนัยน์มาใช้กับพระโพธิสัตว์ อย่างเช่น พระสหัสภุชสหัสเนตรอวโลกิเตศวร หรือที่เราคุ้นกันในชื่อกวนอิมพันมือนั่นเอง โดยการมีพันตาพันมือนั้นหมายถึงพระโพธิสัตว์สามารถมองเห็นสรรพสัตว์ได้ทั่วทั้งโลกธาตุและช่วยเหลือสรรพสัตว์ได้คราวละมากๆ
ฉะนั้นตำนานของพราหมณ์ในยุคหลังที่กล่าวมาแล้วตั้งแต่ต้นจึงเป็นเหมือนอรรถกถาเสียมากกว่า โดยมุ่งที่จะอธิบายสิ่งที่คัมภีร์รุ่นเก่ากล่าวไว้อย่างคลุมเครือ ด้วยความคลุมเครือเช่นนี้มันจึงเป็นช่องว่างให้ผู้ที่นำเรื่องมาเติมหรืออรรถาธิบายในภายหลังจะเล่าให้มันดีหรือร้ายก็ได้นั่นเอง ซึ่งในกรณีของพระอินทร์ดูเหมือนจะถูกเหม็นขี้หน้าเข้าอย่างแรงจนช่องว่างที่ถูกเติมเข้าไปนั้นเป็นไปในทางร้ายซะโดยมาก กล่าวโดยสรุปแล้ว ฉายาสหัสนัยน์ที่เราใช้กล่าวถึงพระอินทร์นี้ มีมาก่อนตำนานสหัสโยนีครับ.
ทีมงานนิตยสารต่วย'ตูน โดย : กฤษณ์ บุญช่วย