อาเซียนดันไทยนำอนุรักษ์ความหลากหลายชีวภาพ ลุยแก้ขยะทะเล

ดร.วิจารย์ สิมาฉายา ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เปิดเผยหลังประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสอาเซียนด้านสิ่งแวดล้อม ครั้งที่ 30 โดยมีปลัดกระทรวงด้านสิ่งแวดล้อมของ 10 ประเทศเข้าร่วมรวมทั้งตัวแทนสหภาพยุโรป ธนาคารโลก กองทุนสิ่งแวดล้อมโลก เป็นต้น ว่า ที่ประชุมได้มีการติดตามความร่วมมือต่างๆ ใน 7 สาขาหลัก ได้แก่ 1.การอนุรักษ์ธรรมชาติและความหลากหลายทางชีวภาพ 2.สิ่งแวดล้อมทางทะเลและชายฝั่ง 3.การจัดการทรัพยากรน้ำ 4.สิ่งแวดล้อมเมืองที่ยั่งยืน 5.การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ 6.การจัดการสารเคมีและของเสีย และ 7.สิ่งแวดล้อมศึกษาการบริโภคและการผลิตที่ยั่งยืน นอกจากนี้ยังมีการหยิบยกปัญหาเรื่องขยะทะเล ขึ้นมาหารืออย่างจริงจัง เนื่องจาก 5 ประเทศอาเชียน ติดอันดับประเทศที่ทิ้งขยะพลาสติกลงทะเลมากที่สุดในโลก ประกอบด้วย อินโดนีเซีย ติดอันดับ 2 , ฟิลิปปินส์ อันดับ 3, เวียดนาม อันดับ 4 , ไทย อันดับ 6 และ มาเลเซีย อันดับ 8 ทั้งนี้ ธนาคารโลก ได้เสนองบประมาณแก้ปัญหาขยะทะเลให้กับประเทศอาเชียน ขณะที่สหภาพยุโรป ก็เห็นด้วยกับการจัดการขยะพลาสติกและขยะทะเลและได้เสนอแนะผลการวิเคราะห์เศรษฐกิจหมุนเวียน ขยะทะเลของอาเซียน ซึ่งสอดคล้องกับประเทศไทย ที่นำเอาพลาสติก มาทำเป็นเสื้อผ้า ทำถนน เพื่อให้เกิดเศรษฐกิจหมุนเวียน

ปลัด ทส.กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ ยังมีการประชุมคณะกรรมการบริหารศูนย์อาเซียนว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ ครั้งที่ 21 ได้มีมติที่สำคัญ ดังนี้ 1. ให้ความเห็นชอบให้ประเทศไทยเป็นประเทศผู้นำ ในการดำเนินงานด้านการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพควบคู่กับการทำการเกษตร เนื่องจากมีการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องหลายโครงการ เช่น การทำเกษตรทฤษฎีใหม่ตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรม ชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรม นาถบพิตร การจัดประชุมระดับภูมิภาค การร่วมงานกับองค์การอนามัยโลก ฯลฯ 2. ให้การรับรองอุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม-เขตห้ามล่าสัตว์ป่าหมู่เกาะลิบง และอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะอ่างทอง เป็นอุทยานมรดกอาเซียน และ 3.แนวทางการยกร่างแถลงการณ์ร่วมอาเซียนสำหรับการประชุมสมัชชาภาคีอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ สมัยที่ 15 ซึ่งกำหนดจัดขึ้นในเดือน ต.ค.2563 ณ เมืองคุนหมิง สาธารณรัฐประชาชนจีน ทั้งนี้ จะมีการนำเสนอแนวทางการดำเนินงานด้านการอนุรักษ์ความหลาก หลายทางชีวภาพภายหลังปี 2563

...