เภสัชกร เตือน ยาลดความอ้วน หลังสาวแม่ลูกอ่อน สั่งยาลดน้ำหนักจากโซเชียลกินแล้วตาย พบยาอันตรายเพียบ ผลข้างเคียงอันตรายถึงชีวิต


จากกรณี สาวแม่ลูกอ่อน อายุ 30 ปี ใน จ.อ่างทอง สั่งซื้อยาลดความอ้วนลักษณะเป็นแบบชุด จากคลินิกดังในสื่อออนไลน์ ส่งผลให้มีอาการเวียนศีรษะ อาเจียน คลื่นไส้ ชักกระตุกตัวเกร็ง และเสียชีวิตหลังจากการรับประทานเพียงแค่ 12 วัน ตามที่ได้รายงานไปแล้วนั้น

เกี่ยวกับเรื่องนี้ แฟนเพจ สาระสุขภาพยาน่ารู้โดยเภสัชกรอุทัย ซึ่งเป็นของ เภสัชกรอุทัย สุขวิวัฒน์ศิริกุล ได้โพสต์ให้ความรู้เกี่ยวกับอันตรายของยาลดน้ำหนัก โดยระบุว่า ยาในซองมีอะไรบ้าง กินแล้วเสี่ยงตายแค่ไหน ดังนี้

1. ยาควบคุมความหิวในกลุ่มแอมเฟตามีน จัดอยู่ในกลุ่มยาบ้า ออกฤทธิ์กระตุ้นศูนย์ควบคุมความอิ่มทำให้เกิดอาการเบื่ออาหาร ผลแทรกซ้อนตามมาค่อนข้างมาก เช่น นอนไม่ค่อยหลับ รู้สึกกระสับกระส่าย อารมณ์หงุดหงิด ใจสั่นเต้นเร็ว ปากแห้ง คอแห้งจนกระหายน้ำบ่อย

2. ยาในกลุ่มไทรอยด์ มีฤทธิ์ทำให้เบื่ออาหาร เพิ่มการเผาผลาญพลังงานในร่างกายมากขึ้น เพื่อเร่งเอาไขมันที่สะสมออกมาใช้เป็นพลังงาน แต่หากได้รับในปริมาณที่มากเกินไปจะทำให้การหลั่งฮอร์โมนไทรอยด์ในร่างกายผิดปกติและมีผลกระตุ้นต่อระบบหัวใจและและตับ

3. ยากลุ่ม Beta Blockers มักมีการเติมยาตัวนี้ไปเพื่อลดอาการใจสั่นที่เป็นผลข้างเคียงของยากลุ่มอนุพันธ์แอมเฟตามีนและไทรอยด์ฮอร์โมน ปกติใช้รักษาความดันโลหิตสูง จะลดอัตราการเต้นของหัวใจ ผลข้างเคียงโดยตรงทำให้หัวใจที่เต้นผิดปกติ การทำงานของระบบไหลเวียนเลือดที่ผิดปกติ 

...

4. ยากลุ่มยารักษาอาการซึมเศร้า มีผลข้างเคียงคือทำให้ไม่ค่อยอยากอาหาร แต่มีอาการไม่พึงประสงค์ ได้แก่ คลื่นไส้ ง่วงซึม นอนไม่หลับ ลดแรงขับทางเพศ และอื่นๆ อีกมากมาย ควรขอคำปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญ

5. ยาระบาย มีฤทธิ์ไปกระตุ้นทางเดินอาหารเร่งการถ่ายอุจจาระออก จะรู้สึกว่าน้ำหนักลดได้เร็ว แต่น้ำหนักที่ลดไปจะเป็นกากอาหารและน้ำที่ร่างกายขับออกมา แต่ความจริงแล้วสารอาหารต่างๆ ถูกดูดซึมเข้าไปสะสมในร่างกายก่อนที่จะระบายออกไป หากไม่กินยาต่อเนื่องเมื่อเวลาผ่านไปไม่เกิน 48 ชั่วโมง ก็จะมีน้ำหนักกลับมาเพิ่มขึ้นเท่าเดิมได้อีก หากใช้ไปนานๆ จะทำงานของระบบทางเดินอาหารผิดปกติ และทำให้ร่างกายสูญเสียแร่ธาตุที่สำคัญไป

6. ยาขับปัสสาวะ เป็นยาที่เลือกใช้กันอย่างมาก เพราะจะได้ผลเร็วและน้ำหนักลดลงมากในระยะแรกๆ เพราะสิ่งที่ลดลงได้ไม่ใช่ไขมัน แต่เป็นน้ำภายในร่างกาย ผลข้างเคียงที่ตามมาของยาขับปัสสาวะจะทำให้ปัสสาวะบ่อยจนทำให้ขาดเกลือแร่ที่สำคัญ

7. ยาที่ช่วยทำให้รู้สึกอิ่มเร็วขึ้น มักจะเป็นพวกเส้นใยอาหารที่ไปบวมน้ำในกระเพาะจนเต่ง หลอกให้ไม่รู้สึกหิว หรือกินอาหารได้น้อยลง แต่ผลข้างเคียงที่ตามมามักจะทำให้เกิดอาการท้องอืด หรือถ่ายได้ลำบากหากดื่มน้ำน้อยเกินไป

8. คาเฟอีน ตัวเดียวกับที่อยู่ในกาแฟ จะออกฤทธิ์เพิ่มการใช้พลังงานของร่างกาย แต่ต้องใช้ในปริมาณมากๆ มากกว่าการที่ไปอวดอ้างว่าในกาแฟสามารถลดความอ้วนได้ ผลข้างเคียงได้แก่ นอนไม่หลับ กระสับกระส่าย ความดันเลือดสูง หัวใจเต้นผิดปกติ เป็นต้น

9. อาหารเสริมต่างๆ มักอวดอ้างกัน ด้วยความเชื่อว่าจะช่วยให้ช่วยลดน้ำหนัก เช่น ไคโตซาน ส้มแขก ถั่วขาว ตะบองเพชร พริกไทยดำ อีกมากมายหลายตัว เชื่อกันว่าจะไปลดการดูดซึมอาหารและเร่งการเผาไขมันในร่างกาย ซึ่งความจริงแล้ว ยังไม่มีผลการวิจัยว่าจะได้ผลแต่อย่างใด

10. วิตามิน เป็นทางเลือกที่นำมาจ่ายควบคู่มาด้วยไปด้วยกับกลุ่มยาต่างๆ ข้างบน เพราะเมื่อใช้ยาเหล่านั้นซึ่งมักมีผลข้างเคียงต่างๆ มากมายที่ทำให้ไม่รู้สึกหิว ทำให้กินอาหารไม่ครบหมู่เพียงพอ หรือผลจากยาขับปัสสาวะหรือยาระบายที่ขับน้ำออกจากร่างกายมากไป ทำให้ร่างกายสูญเสียเกลือแร่และวิตามิน

11. ยากลุ่มที่ลดการดูดซึมของไขมัน ตัวนี้เวลากินแล้ว อุจจาระที่ออกมาจะมีคราบไขมันเต็มโถออกมาด้วย ยาตัวนี้แท้จริงแล้วออกฤทธิ์ยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ที่ปกติจะใช้ในการย่อยไขมัน พอไขมันไม่ย่อยเป็นชิ้นเล็กๆ ก็เป็นผลให้ไม่ถูกดูดซึมเข้าร่างกาย ซึ่งจะเป็นผลให้ร่างกายไม่สะสมพลังงานในรูปแบบไขมัน แต่ผลที่ตามมาร่างกายก็ไม่สามารถดูดซึมวิตามินกลุ่มที่ละลายในไขมันไปใช้ได้ ทำให้ผู้ที่ได้รับยา กลุ่มนี้มักมีอาการขาดวิตามินกลุ่มที่ละลายได้ในไขมันได้ในที่สุด.

ข่าวที่เกี่ยวข้อง