ทุกวันนี้ แม้โลกเราจะก้าวหน้าพัฒนายานพาหนะด้วยเทคโนโลยีใหม่ๆจนมนุษย์สามารถเดินทางได้รวดเร็วราวสายฟ้าแลบ อาทิ จรวด รถไฟหัวกระสุน ฯลฯ แต่พาหนะอย่างหนึ่งซึ่งถึงแม้จะไปได้ไม่รวดเร็วนัก ซ้ำยังต้องอาศัยแรงพลังจากร่างกายแทนที่จะเป็นเครื่องยนต์ทุ่นแรง ทว่าก็ยังคงเป็นที่นิยมใช้กันทั่วโลก นั่นก็คือ “จักรยาน” ซึ่งคอลัมน์ไทยรัฐซันเดย์สเปเชียล โดยทีมงานนิตยสารต่วย’ตูน จะขอนำมาเล่าถึงที่มาที่ไปของยานนี้

เอกลักษณ์สำคัญของจักรยานได้แก่ “ล้อ” อุปกรณ์ที่จะขาดมิได้นี้ถือกำเนิดขึ้นมาเมื่อราว 5,500 ปีก่อนโน้นในดินแดนเมโสโปเตเมีย โดยใช้ติดเข้ากับเกวียนแล้วลากด้วยม้าหรือวัว

การใช้ล้อเกวียนดำเนินมายาวนานกว่า 3,000 ปี กระทั่ง 500 ปีก่อน ค.ศ. ชายจีนนามหลูปัน (Lu Ban) จึงคิดประดิษฐ์ยานไม้ที่มี 3 ล้อ พร้อมกับฟันเฟือง แต่ยังคงใช้วิธีลากเหมือนเดิม

ภาพร่างจักรยานของกิอาโคโม คาปรอตติ.
ภาพร่างจักรยานของกิอาโคโม คาปรอตติ.

...


ครั้นแล้วก็เริ่มเข้าสู่ยุคที่มีการออกแบบจักรยานซึ่งมีลักษณะใกล้เคียงกับที่เราใช้กันอยู่ในปัจจุบัน ผู้ออกแบบมีนามว่า กิอาโคโม คาปรอตติ (Giacomo Caprotti) ซึ่งเป็นลูกศิษย์คนหนึ่งของยอดอัจฉริยะ เลโอนาร์โด ดา วินชี (Leonardo da Vinci) เขาสเกตช์แบบจักรยานสองล้อขึ้นในปี ค.ศ.1534 แต่ก็มีผู้รู้บางคนค้านว่ารูปสเกตช์นี้ทำขึ้นในภายหลัง เนื่องจากไม่มีหลักฐานว่าได้สร้างขึ้นให้เห็นแต่อย่างใด

อีกรูปแบบของยานติดล้อที่ไม่มีการสร้างขึ้นจริง ได้แก่ ยานที่เรียกว่า วอลาก (Celerifere) ว่ากันว่าผู้พัฒนาขึ้นมาใน ค.ศ.1790 คือนายคองเต้ มีดเดอ ซิฟราก (Comte Mede de Sivrac) ซึ่งภาพสเกตช์นี้ก็มีหลายคนคัดค้านเหมือนกันว่าปลอมขึ้นในภายหลัง เจ้ายานนี้ที่เห็นตามภาพก็ยังดูคลุมเครือ บางคนบอกว่ามี 4 ล้อ แต่บางคนแย้งว่ามีแค่ 2 ที่นั่ง สามารถเคลื่อนไปได้โดยใช้แรงดึง หรือแรงดัน ดูๆไปแล้วคล้ายรถเจ๊กที่เคยมีในไทยเราสมัยคุณทวด

สิ่งหนึ่งซึ่งช่วยเร่งให้มีการคิดค้นพัฒนายานพาหนะใช้เครื่องจักรเครื่องยนต์ก็คือภัยพิบัติจากธรรมชาติ เช่น ในกรณีการระเบิดของภูเขาไฟแทมโบรา (Tambora) ปี ค.ศ.1815 ในดินแดนที่ปัจจุบันคืออินโดนีเซีย ที่จัดเป็นหายนะครั้งยิ่งใหญ่ของโลก ขี้เถ้าและฝุ่นละอองกระจายคลุ้งสู่นภากาศ บดบังแสงสุริยา และทำให้อุณหภูมิโลกต่ำลงฮวบฮาบ พืชพันธุ์ธัญญาหารสูญสิ้น เป็นทุพภิกขภัยที่สร้างความอดอยากต่อคนและสัตว์ ม้า ลา วัว ควายไม่มีหญ้าจะกินแล้วก็ล้มตายไปเกือบหมด เมื่อไม่มีม้า ลาสำหรับใช้ลากจูงยานพาหนะ ก็จำเป็นต้องคิดประดิษฐ์หากลไกจากเครื่องจักรมาใช้แทน การพัฒนาจักรยานจึงถูกกระตุ้นเร่งรัดขึ้น

บารอน คาร์ล ฟอน เดรส กำลังขี่เดรเซียน .
บารอน คาร์ล ฟอน เดรส กำลังขี่เดรเซียน .

สองปีต่อมาใน ค.ศ.1817 บารอน คาร์ล ฟอน เดรส (Baron Karl von Drais) นักประดิษฐ์เยอรมันได้คิดอ่านประกอบรถสองล้อเข็น ซึ่งมีรูปร่างเหมือนจักรยานที่เราใช้ แต่มีเพียงโครงร่างกับล้อหน้าล้อหลัง ปราศจากที่ถีบกับโซ่เฟือง กล่าวคือผู้ใช้จะขึ้นไปยืนคร่อมแล้วใช้สองขาถีบพื้นให้รถพุ่งไปข้างหน้า ยานสองล้อถีบนี้มีชื่อว่า “เดรเซียน” (Draisienne เป็นภาษาฝรั่งเศสตามชื่อผู้ประดิษฐ์)

แม้จะมีที่นั่งและมีมือจับที่สามารถหมุนให้เลี้ยวซ้ายขวาได้ แต่ความแข็งของล้อที่ไร้ยาง ทำให้ยานถีบของเดรสใช้ได้เฉพาะกับพื้นถนนราบเรียบ ทว่าถ้าไปถีบบนถนนกรวดละก็จะมีอาการกระเด้งกระดอน ถึงอย่างไรก็มีบริษัทต่างๆในฝรั่งเศสและอังกฤษผลิตยานถีบนี้ออกมาจำหน่ายในรูปแบบเวอร์ชันต่างๆกันไป

ถัดมาในปี ค.ศ.1839 จึงได้มีการใช้ยานสองล้อติดกลไกขึ้นเป็นครั้งแรก เริ่มโดยช่างเหล็กชาวสกอต ชื่อ เคิร์คแพตริค แม็กมิลแลน (Kirkpatrick Macmillan) เป็นยานที่มีขาถีบอยู่ล้อหน้าและมีก้านเพลาโยงไปยังล้อหลัง แบบเดียวกับเพลาขับเคลื่อนล้อรถไฟ หลังจากนั้น โธมัส แม็คคอล ก็ได้ประดิษฐ์ขึ้นมาบ้างในปี 1869 โดยอาศัยหลักการเดียวกัน แต่พัฒนาให้ใช้งานดีขึ้น

จักรยานมีแกนเพลาของแม็กมิลแลน .
จักรยานมีแกนเพลาของแม็กมิลแลน .
จักรยานมีที่ถีบที่ล้อหน้าแบบเวโลซิพีด.
จักรยานมีที่ถีบที่ล้อหน้าแบบเวโลซิพีด.

ในช่วงเวลาใกล้เคียงกันนั้น ปิแอร์กับเออร์เนสต์ มิโชซ์ (Pierre & Ernest Michaux) ก็ได้ประดิษฐ์จักรยานสองล้อที่เรียกกันว่า เวโลซิพีด (Velocipede) ที่กลางล้อหน้ามีตีนถีบกับจานหมุนติดอยู่ เมื่อขึ้นไปนั่งถีบนั้นล้อหน้าจะหมุนตามแรงถีบ ล้อหลังหมุนตามไปเฉยๆ โครงจักรยานนั้นเป็นไม้ ส่วนล้อทำด้วยโลหะ ผลิตจำหน่ายครั้งแรกในฝรั่งเศสในปี ค.ศ.1867 ทว่านิยมใช้กันแค่ไม่กี่ปีก็โรยราไป สาเหตุมาจากล้อที่แข็งจึงทำให้ยานแล่นบนถนนจะกระเทือนเลือนลั่นเข้าไปถึงกระดูกก้นกบ จึงมีชื่อเรียกขานกันอีกอย่างหนึ่งว่า “ยานสั่นกระดูก” (Boneshaker) ฟังแล้วก็จินตนาการเห็นภาพคนขี่ได้เป็นอย่างดี

แล้วก็มาถึงปี ค.ศ.1870 ที่บังเกิดจักรยานสองล้อหน้าตาแปลกขึ้นมา

กล่าวคือล้อหน้านั้นใหญ่เบ้อเร่อ แต่ล้อหลังเล็กนิดเดียว ผู้ขี่จะขึ้นไปนั่งอยู่บนล้อหน้า เรียกว่านั่งสูงลอยฟ้าเลยทีเดียว แล้วใช้เท้าถีบขาถีบที่ติดอยู่กลางล้อหน้า ส่วนล้อหลังเล็กๆนั้นก็หมุนตามไปแบบเดียวกับจักรยานเวโลซิพีด ผู้ประดิษฐ์ได้แก่นายยูยีน เมเยอร์ (Eugene Meyer) ข้อได้เปรียบของยานล้อสูง (High-Wheeler) นี่คือ เมื่อออกแรงถีบรอบหนึ่ง จะได้ระยะไกลกว่า เนื่องจากวงขอบกว้างกว่า นอกจากนี้ยังใช้โครงเป็นโลหะ และล้อมียางหุ้ม ทำให้วิ่งได้ราบเรียบกว่าเครื่องเขย่ากระดูกเป็นอันมาก

จักรยานล้อสูง.
จักรยานล้อสูง.

ในอังกฤษมีชื่อเรียกขานยานล้อสูงนี้ว่า “เพนนี ฟาร์ธิง” (Penny Farthing) ด้วยว่าล้อหน้าที่ใหญ่กับล้อหลังที่เล็กนั้น เปรียบประดุจเงินเหรียญเพนนีกับฟาร์ธิง ที่มีขนาดใหญ่เล็กกว่ากันมาก

และในที่สุด จักรยานแบบที่เราใช้กันทุกวันนี้ก็ถูกประดิษฐ์ขึ้นใน ค.ศ.1876

แฮร์รี จอห์น ลอว์สัน (Harry John Lawson) นักประดิษฐ์ชาวอังกฤษ ได้รับแรงบันดาลใจจากจักรยานเพนนีฟาร์ธิง โดยคิดว่าน่าจะมีจักรยานที่ใช้ปลอดภัยกว่าขึ้นไปนั่งขี่สูงๆยังงั้น ตกลงมาก็เจ็บแอ้ก จึงได้บังเกิดจักรยานที่มีล้อหน้าและหลังขนาดเดียวกัน แล้วใช้โซ่คล้องจานถีบส่งกำลังไปหมุนล้อหลัง ลักษณะนี้จะทำให้เท้าของผู้ขี่ไม่หลุดเข้าไปในกงล้อหน้าด้วย ลอว์สันจึงตั้งชื่อมันว่า “จักรยานปลอดภัย” (Safety Bicycle) ทว่าเขาตั้งราคามันสูงเกินไป เลยขายไม่ออก หลังจากนั้นจอห์น เคมพ์ สตาร์ลีย์ (John Kemp Starley) ชาวอังกฤษอีกคนจึงได้พัฒนาจักรยานที่สามารถจำหน่ายได้ในราคาย่อมเยาลง แล้วใช้ชื่อว่า “ยานหมุน” (the Rover) ปรากฏว่าประสบผลสำเร็จ เป็นที่นิยมตลอดมาจนถึงวันนี้

จักรยานปลอดภัยของลอว์สัน.
จักรยานปลอดภัยของลอว์สัน.
ใบโฆษณา the Rover ของสตาร์ลีย์.
ใบโฆษณา the Rover ของสตาร์ลีย์.

น่าประหลาดใจก็คือ แม้เวลาจะผ่านมา 100 กว่าปีแล้ว แต่หน้าตาจักรยานก็ยังคงรูปแบบเดิมๆอยู่นั่นเอง จะต่างกันบ้างก็ที่ราคา เพราะจักรยานยอดนิยม บางคันในปัจจุบันมีราคาสูงกว่ามอ’ไซค์เสียอีก.

ทีมงานนิตยสารต่วย'ตูน โดย : อุดร จารุรัตน์