สัตวแพทย์ ศวทม.ภูเก็ต ดูแลลูกพะยูนเกยตื้นที่หาดบ่อม่วง กระบี่ ใกล้ชิด หลังนำตัวกลับมาพักฟื้นที่ภูเก็ต พบอาการดีขึ้น สามารถว่ายน้ำเองได้ แต่ยังต้องดูแลใกล้ชิด หลังพบอิดโรย และมีภาวะขาดน้ำ

จากกรณี ชาวบ้านในพื้นที่บ้านบ่อม่วง ต.ทรายขาว อ.คลองท่อม จ.กระบี่ว่า พบลูกพะยูน เกยตื้นบริเวณชายหาดบ่อม่วง มีบาดแผลตามร่างกายหลายแห่ง ตามที่เสนอข่าวไปแล้วนั้น ("มาเรียม" ได้เพื่อนอีกตัว ลูกพะยูนเพศผู้ หลงฝูงเกยตื้นที่กระบี่)

โดยชาวบ้านร่วมกับเจ้าหน้าที่ศูนย์ควบคุมการแจ้งเข้า-ออกเรือประมง กระบี่ (PIPO กระบี่) ร่วมกันให้การดูแลเบื้องต้นก่อน ระหว่างเจ้าหน้าที่จะเดินทางไปช่วยเหลือ หลังรับแจ้งสัตวแพทย์ประจำกลุ่มสัตว์ทะเลหายาก ศูนย์วิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลอันดามัน (ศวทม.) ร่วมกับเจ้าหน้าที่สำนักงานบริหารทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 9 (สบทช.9 ) ได้ไปให้การช่วยเหลือ และรับตัวกลับมายัง จ.ภูเก็ต

จากการตรวจสอบเบื้องต้น เป็นลูกพะยูน เพศผู้ อายุเพียง 3 เดือน ความยาว 111 ซม. รอบตัว 66 ซม. น้ำหนักประมาณ 25 กก. อัตราการเต้นหัวใจ 67 ครั้งต่อนาที อัตราการหายใจ 4 ครั้งต่อ 5 นาที สภาพอ่อนแรง และอิดโรยมาก ไม่สามารถประคองตัวได้ ตามตัวมีบาดแผลจำนวนมาก จากการประเมินเบื้องต้นพบว่า ลูกพะยูนมีขนาดเล็กกว่ามาเรียม อายุไม่เกิน 3 เดือน และสภาพร่างกายอ่อนแรง ไม่สามารถประคองตัวเองได้ตามปกติ คาดว่าอาจจะมาจากการพลัดหลงมานาน และพบภาวะการขาดน้ำ ซึ่งจะต้องทำการตรวจเพิ่มเติมเรื่องการติดเชื้อ และยังมีรอยแผลฉกรรจ์ภายนอกร่างกายคิดเป็นร้อยละ 50 ของสภาพภายนอก

...

จากสภาพดังกล่าวทำให้ไม่สามารถจะอยู่ในธรรมชาติได้ ต้องได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิดในสภาพแวดล้อมที่สามารถควบคุมได้ไปก่อน เจ้าหน้าที่จึงได้ทำการป้อนนม ก่อนทำการเคลื่อนย้ายนำกลับมาพักฟื้นที่ศูนย์ช่วยชีวิตสัตว์ทะเลหายากภูเก็ต แหลมพันวา ต.วิชิต อ.เมืองภูเก็ต ซึ่งเดินทางมาถึงในเวลา 03.00 น.วันที่ 2 ก.ค.

ความคืบหน้าล่าสุด เมื่อช่วงสายวันนี้ สัตวแพทย์และเจ้าหน้าที่กลุ่มสัตว์ทะเลหายาก ศูนย์วิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลอันดามัน (ศวทม.) ร่วมกันป้อนนมให้กับลูกพะยูนตัวดังกล่าว และเฝ้าติดตามอาการอย่างใกล้ชิด โดยพบว่าลูกพะยูนอาการแข็งแรงมากขึ้น สามารถว่ายน้ำได้เอง ไม่ต้องพยุงตัวตลอดเวลา แต่จะต้องอยู่ในการดูแลภายในบ่ออนุบาลอย่างใกล้ชิด

อย่างไรก็ตาม มีรายงานว่า นายจตุพร บุรุษพัฒน์ อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งจะเดินทางมาติดตามอาการลูกพะยูนเพิ่มเติม ที่ ศูนย์วิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลอันดามัน(ศวทม.) ในวันที่ 3 ก.ค.นี้