หลังจากที่ได้รู้วิธีการปฏิบัติตัวก่อนและหลังการผ่าตัดกันไปแล้ว การกินอาหารหลังการผ่าตัดก็เป็นเรื่องที่คนไข้จะต้องให้ความสำคัญ และปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัดด้วยเช่นกัน โดยมีหลักการ ดังนี้

การปรับอาหารก่อนการเข้ารับการผ่าตัด

เพื่อให้การผ่าตัดมีประสิทธิภาพและประสบความสำเร็จในการรักษา การลดไขมันที่สะสมบริเวณตับก่อนการผ่าตัดจะเกิดผลดีทั้งระหว่างการผ่าตัดและหลังผ่าตัด เนื่องจากจะช่วยลดความซับซ้อนและระยะเวลาในการผ่าตัด รวมทั้งลดระยะเวลาในการนอนโรงพยาบาล อีกทั้งยังส่งผลดีในด้านพฤติกรรมการลดน้ำหนักที่ยั่งยืนหลังผ่าตัดและแนวโน้มความสำเร็จในการดูแลน้ำหนักอย่างสุขภาพดีในระยะยาว ดังนั้นคนไข้จำเป็นจะต้องปรับอาหารการกิน โดยเตรียมตัวตั้งแต่ก่อนผ่าตัดประมาณ 2 สัปดาห์ถึง 3 เดือน

คนไข้จะปรับเปลี่ยนการรับประทานอาหารเพื่อลดน้ำหนักและไขมัน แต่ยังคงในส่วนของกล้ามเนื้อ โดยจะเป็นอาหารพลังงานต่ำประมาณ 800 กิโลแคลอรีต่อวัน และโปรตีนสูง ประมาณ 1.5-2 กรัม โปรตีนต่อน้ำหนักตัวที่ควรจะเป็น 1 กิโลกรัมต่อวัน หรือประมาณ 90-120 กรัมโปรตีน (คิดที่น้ำหนัก 60 กิโลกรัม) เลือกกินเนื้อสัตว์ที่ไม่ติดหนังติดมัน และเน้นวิธีการปรุงที่ไม่ใช้น้ำมัน หรือใช้น้อยที่สุด และเลือกองค์ประกอบอาหารอื่นๆ ที่ดีต่อสุขภาพ เช่น ผักต่างๆ

ตัวอย่างอาหาร 3 มื้อ แบบที่ 1

มื้อเช้า       ไข่ต้ม เกาเหลาปลา และฝรั่ง
มื้อกลางวัน  ข้าวสวย ต้มเลือดหมู
มื้อเย็น       สุกี้

...

ตัวอย่างอาหาร 3 มื้อ แบบที่ 2

มื้อเช้า       เส้นเล็กเย็นตาโฟ ไข่ต้ม
มื้อกลางวัน  ข้าวสวย ต้มยำปลาทู ไก่กระเทียม
มื้อเย็น       สลัดอกไก่ย่างราดน้ำสลัดโยเกิร์ต

หากคนไข้สามารถลดปริมาณอาหารก่อนผ่าตัดได้ตามคำแนะนำข้างต้น หลังการผ่าตัด การได้รับปริมาณอาหารที่ลดลง ร่างกายก็จะสามารถปรับตัวได้ไม่ยาก

หลังการผ่าตัด คนไข้ก็ต้องปรับอาหารในชีวิตประจำวันเช่นกัน เนื่องจากการผ่าตัดร่างกายเกิดการบาดเจ็บ จึงต้องมีการปรับอาหารให้สอดคล้องกับร่างกาย จนกว่าร่างกายจะดีขึ้น จึงจะสามารถกลับมากินอาหารได้ตามปกติ

ตารางอาหารหลังการผ่าตัด: พลังงานต่ำ โปรตีนสูง และค่อยๆ ปรับพลังงานเพิ่มขึ้นให้เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย และโปรตีนเท่ากับคนทั่วไปที่น้ำหนักปกติเมื่อลดน้ำหนักได้ตามเป้าหมาย

การปฏิบัติตัวหลังการผ่าตัด

1.ดื่มน้ำมากๆ เพราะน้ำเป็นองค์ประกอบสำคัญของร่างกาย ไม่ว่าจะอยู่ในสภาวะใด ก็จะต้องดื่มน้ำให้เพียงพอ ซึ่งการดื่มน้ำหลังการผ่าตัด จะเป็นลักษณะการจิบไปทั้งวัน โดยมีข้อจำกัดในการดื่มน้ำ ดังนี้

     - ไม่ดื่มน้ำก่อนกินอาหาร 30 นาที
     - หลังกินอาหาร 30 นาที จึงจะดื่มน้ำได้
     - ไม่ควรกินน้ำร่วมกับการกินอาหาร เพราะจะทำให้อิ่มเร็ว เนื่องจากคนไข้มีขนาดกระเพาะอาหารที่เล็กลง และอาจส่งผลเร่งให้อาหารผ่านจากกระเพาะไปยังลำไส้เร็วขึ้น ทำให้มีอาการ Dumping syndrome ได้แก่ ปวดท้อง คลื่นไส้ ท้องเสีย อาเจียน ความดันต่ำ หน้ามืด หัวใจเต้นเร็ว เหงื่อออกมาก เป็นต้น
     - กินน้ำอย่างน้อย 1.5 ลิตร และเพิ่มปริมาณเป็น 2-3 ลิตรต่อวัน

2.หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลทุกชนิด เพราะน้ำตาลเป็นคาร์โบไฮเดรตที่ร่างกายดูดซึมได้ง่าย ประกอบกับกระเพาะขนาดเล็กทำให้อาหารส่งผ่านมาที่ลำไส้เล็ก ส่งผลต่อการกระตุ้นอินซูลินให้หลั่งออกมาอย่างรวดเร็วและปริมาณมากเพื่อจัดการน้ำตาลในเลือด ส่งผลให้เกิดภาวะน้ำตาลต่ำตามมา ซึ่งเป็นภาวะแทรกซ้อนในกลุ่มอาการของ Dumping syndrome

3.การกินอาหารจะต้องเคี้ยวให้ละเอียด โดยเคี้ยว 15 ครั้งต่อ 1 คำ จึงจะต้องใช้เวลาในการกินประมาณ 30 นาที จะทำให้การย่อยและดูดซึมอาหารได้ดีขึ้น

4.เลือกกินโปรตีนที่มีคุณภาพ หลีกเลี่ยงการกินเนื้อสัตว์ที่ติดหนังติดมัน เนื้อสัตว์แปรรูปต่างๆ เนื่องจากมีข้อจำกัดของพื้นที่กระเพาะอาหาร จึงต้องเลือกกินสารอาหารที่จำเป็นก่อนอย่างโปรตีน

5.หลีกเลี่ยงการกินอาหารฟาสต์ฟู้ดตะวันตก เพราะมีพลังงาน ไขมันและแป้งค่อนข้างมาก และมีโปรตีนต่ำ

6.หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิด เพราะหลังผ่าตัด ร่างกายจะดูดซึมแอลกอฮอล์ได้ง่ายกว่าปกติ และอาจมีผลต่อการดูดซึมอาหารที่ลดลงได้เช่นกัน

7.หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่มีกาเฟอีน เครื่องดื่มบำรุงกำลังต่างๆ เนื่องจากการที่ร่างกายได้รับกาเฟอีนมากๆ จะปัสสาวะบ่อย อาจทำให้ร่างกายเสี่ยงต่อการขาดน้ำมากขึ้น เพราะหลังผ่าตัดอาจจะมีภาวะแทรกซ้อนที่ทำให้สูญเสียน้ำ เช่น อาเจียน ท้องเสีย หรือการดื่มน้ำไม่เพียงพออยู่เป็นพื้นอยู่แล้ว

8.กินวิตามินเสริมตลอดชีวิต เนื่องจากคนไข้กินอาหารได้น้อยลงและการดูดซึมวิตามิน แร่ธาตุที่จำเป็นลดลง จึงจำเป็นจะต้องได้รับวิตามินเสริม เพื่อให้ร่างกายได้รับวิตามินที่ต้องการอย่างเพียงพอ

9.ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เพื่อเสริมสร้างกล้ามเนื้อและร่างกายให้แข็งแรง

10.พักผ่อนให้เพียงพอ เพื่อให้ร่างกายซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอ

สุดท้ายเป้าหมายของการผ่าตัดรักษาโรคอ้วน คนไข้ควรพึงระลึกไว้เสมอว่า เมื่อมีน้ำหนักตัวที่เหมาะสมแล้ว ก็ต้องดูแลร่างกายให้มีสุขภาพดีอย่างยั่งยืนตลอดไปด้วย

แหล่งข้อมูล

อ.วนะพร ทองโฉม นักวิชาการโภชนาการ กลุ่มสาขาวิชาโภชนศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล

อ่านเพิ่มเติม