หลังจากได้รับการวินิจฉัยจากแพทย์ว่าจะเลือกการรักษาด้วยการผ่าตัด ก็จะต้องมีการเตรียมตัวก่อนผ่าตัด ดังนี้

1. ซักประวัติและตรวจร่างกายโดยแพทย์เพื่อหาสาเหตุของโรคอ้วน เช่น

     - การรับประทานยาบางชนิดจะส่งผลให้น้ำหนักเพิ่มได้ เช่น ยาสเตียรอยด์ ยาฮอร์โมน เช่น ยาคุมกำเนิดบางชนิด

     - การทำงานของฮอร์โมนผิดปกติ เช่น ระดับไทรอยด์ต่ำกว่าปกติ

     - รับประทานอาหารมากเกินไปและไม่ออกกำลังกาย

2. ซักประวัติและตรวจร่างกายโดยแพทย์เพื่อตรวจหาภาวะแทรกซ้อนของโรคอ้วน เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง ไขมันเกาะตับ โรคเกาต์ โรคหยุดหายใจขณะหลับ เป็นต้น

3. ตรวจเช็กเลือดเพื่อเช็กความสมบูรณ์ของร่างกายและตรวจระดับวิตามินและเกลือแร่ในเลือด

การเตรียมตัวก่อนผ่าตัดสำหรับคนที่มีโรคร่วม

1. เตรียมพร้อมร่างกายสำหรับการผ่าตัด หากผู้ป่วยมียารับประทานประจำจะได้รับการปรับยาให้เหมาะสม เพื่อให้ร่างกายพร้อมสำหรับการผ่าตัด

2. งดสูบบุหรี่เพื่อให้การผ่าตัดเป็นไปอย่างปลอดภัย

3. ผู้ป่วยควรต้องมีความเข้าใจเรื่องการผ่าตัดและการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมหลังการผ่าตัดเพื่อให้
น้ำหนักลดแข็งแรงและยั่งยืน และใช้ชีวิตอย่างมีความสุข

4. หลังผ่าตัดผู้ป่วยจะได้รับวิตามินและเกลือแร่รับประทานเพื่อให้ได้รับสารอาหารอย่างครบถ้วน ผู้ป่วยจำเป็นต้องรับประทานวิตามินและเกลือแร่ตามแพทย์สั่งและมาพบแพทย์อย่างสม่ำเสมอ เพื่อป้องกันภาวะขาดสารอาหาร ขาดโปรตีน วิตามินและเกลือแร่

...

ผลที่ได้จากการผ่าตัดรักษาโรคอ้วน

1. น้ำหนักจะลดลงอย่างรวดเร็ว เนื่องจากคนไข้มีกระเพาะอาหารที่เล็กลงและการดูดซึมสารอาหารได้น้อยลง ส่งผลให้คนไข้รับประทานอาหารได้น้อยลงกว่าเดิมมากและไม่ค่อยรู้สึกหิว เนื่องจากการผ่าตัดจะทำให้ฮอร์โมนที่ทำให้รู้สึกหิวลดลง และมีฮอร์โมนที่ทำให้รู้สึกอิ่มมากขึ้น

2. โรคร่วมต่างๆ อาทิ เบาหวานชนิดที่ 2 ความดันโลหิตสูง โรคหยุดหายใจขณะหลับ ไขมันเกาะตับมีอาการดีขึ้นอย่างมากหรืออาจเข้าสู่ภาวะสงบของโรค ทำให้หยุดยาหรือลดขนาดยาบางชนิดลงได้ภายใต้การดูและของแพทย์อย่างใกล้ชิด

ส่วนคนที่ลดน้ำหนักด้วยตัวเอง หากสามารถทำให้น้ำหนักอยู่ในเกณฑ์ปกติ โรคร่วมต่างๆ ก็จะค่อยๆ ดีขึ้นตามไปด้วย ที่สำคัญคือจะต้องค้นหาว่าคุณเหมาะกับการลดน้ำหนักแบบไหน และต้องมีความตั้งใจจริง ไม่ย่อท้อ ก็สามารถทำให้น้ำหนักลดลงได้เช่นกัน

การปฏิบัติตัวหลังผ่าตัด

1. มาพบแพทย์อย่างสม่ำเสมอ เพื่อปรับยาต่างๆ และรับประทานวิตามินและเกลือแร่ตามแพทย์สั่งอย่างสม่ำเสมอ โดยจะมีการตรวจเลือดเป็นระยะๆ

2. ปรับทัศนคติตัวเองใหม่ว่าคุณจะเป็นคนที่มีน้ำหนักตัวที่พอดี มีสุขภาพดีตลอดชีวิต โดยเลือกกินแต่อาหารที่ดีมีประโยชน์ เน้นอาหารที่ให้โปรตีน เพื่อสร้างกล้ามเนื้อ และกินผักในทุกมื้อ เพราะพลังงานต่ำ มีไฟเบอร์ เกลือแร่และวิตามินมาก

3. วางแผนการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ โดยเพิ่มความหนักของการออกกำลังกายขึ้นเรื่อยๆ เพื่อให้ร่างกายแข็งแรง

4. ดื่มน้ำมากๆ ระยะแรกหลังผ่าตัดอย่างน้อยวันละ 1.5 ลิตร และในระยะยาววันละ 2-3 ลิตร เพื่อช่วยให้ไตทำงานได้ดี และป้องกันไม่ให้เกิดนิ่วในไต

5. งดสูบบุหรี่อย่างถาวร

6. หลีกเลี่ยงการกินยาแก้ปวด ยาชุดต่างๆ

7. ผู้หญิงวัยเจริญพันธุ์ ต้องคุมกำเนิดหลังผ่าตัดเป็นเวลา 2 ปี (เนื่องจากใน 2 ปีแรกน้ำหนักยังลดลงอย่างรวดเร็ว)

8. พักผ่อนให้เพียงพอ การนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ จะทำให้ร่างกายได้พักอย่างเพียงพอ และซ่อมแซมระบบต่างๆ ระหว่างที่เรากำลังหลับ

ไม่ว่าคุณจะรักษาโรคอ้วนด้วยวิธีใดก็ตาม สิ่งสำคัญที่คนไข้จะต้องทำได้ก็คือ มีความตั้งใจที่จะลดน้ำหนักเพื่อรักษาระดับน้ำหนักให้อยู่ใกล้เคียงมาตรฐาน ไม่กลับมาอ้วนอีกและมีสุขภาพดีอย่างยั่งยืน

-------------------------------------------------------------

แหล่งข้อมูล

อ.พญ.ประพิมพ์พร ฉัตรานุกูลชัย
สาขาโภชนวิทยาและชีวเคมีทางการแพทย์ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล

อ่านเพิ่มเติม