เด็กหนุ่มชาวอาข่า คนธรรมดา เติบโตขึ้นมาบนดอยสูงของพื้นที่แสนทุรกันดาร สุดขอบแผนที่ประเทศไทย กลายมาเป็นเจ้าของกาแฟ “อาข่า อ่ามา” ด้วยการพลิกฟื้นสร้างบ้านเกิดให้เข้มแข็งด้วยชูพืชเศรษฐกิจชุมชนสู่ตลาดโลก
สร้างแบรนด์กาแฟเพื่อสังคม และผลักดันให้ครองใจลูกค้าทั้งคนไทย และต่างประเทศ จากผลผลิตของเมล็ดกาแฟในบ้านแม่จันใต้ จ.เชียงราย ที่ไม่เคยมีถนนลาดยาง หรือมีไฟฟ้า น้ำประปาใช้เหมือนกับคนเมือง มีเพียงชาวอาข่าอาศัยอยู่ราว 32 ครอบครัว เสมือนเป็นหมู่บ้านถูกลืมตัดขาด!
ในความโชคร้ายนี้...ยังมีความโชคดีหลงเหลืออยู่บ้าง เพราะพื้นที่แห่งนี้โอบล้อมด้วยหุบเขาเขียวชอุ่ม อากาศบริสุทธิ์ อันอุดมสมบูรณ์กลางหุบเขา มีการจัดการพื้นที่เพาะ “ปลูกกาแฟ” ในดินชุ่มชื้น อากาศเย็นตลอดปี ทำให้ผลผลิตเมล็ดกาแฟมีคุณภาพไม่แพ้ที่อื่นในโลก
จนเป็นแหล่งปลูก “กาแฟพันธุ์อาราบิก้า” ที่ทั่วโลกกำลังจับตามอง “ลี อายุ จือปา” อายุ 34 ปี เจ้าของกาแฟ “อาข่า อ่ามา” นำจุดเด่นของกาแฟแม่จันใต้ ที่มีรสชาติเปรี้ยวเหมือนผลไม้ตระกูลเบอร์รี และกลิ่นหอม หวานสดชื่นคอ ทำให้กาแฟเป็นพืชเศรษฐกิจ สร้างรายได้สู่ทุกครัวเรือน...
ลี อายุ จือปา เล่าให้ฟังว่า สมัยก่อนคนในหมู่บ้านมีฐานะยากจน ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกร ปลูกพืชผัก ต้นกาแฟ และมักถูกเอารัดเอาเปรียบจากพ่อค้าคนกลาง แถมถูกมองจากโลกภายนอกว่าเป็นภัยต่อความมั่นคง ทั้งที่คนในชุมชนไม่มีโอกาสสื่อสาร สร้างความเข้าใจให้กับสังคม
กลายเป็นจุดฝังใจ... มีความคิดอยากเห็นการเปลี่ยนแปลงและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนในหมู่บ้าน เริ่มต้นศึกษาเล่าเรียนหนังสือ โดยเฉพาะการพูด เขียน อ่านภาษาไทย ที่ต้องใช้เวลานานมากกว่าจะอ่านออกเขียนได้
...
เมื่อจบชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ตัดสินใจออกจากบ้าน มาเรียนต่อในระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้นและตอนปลาย เพื่อเก็บเกี่ยวประสบการณ์ และหาความรู้ให้มากที่สุด
กระทั่งมีโอกาสเรียนที่คณะมนุษยศาสตร์ เอกภาษาอังกฤษ หลักสูตรนานาชาติ มรภ.เชียงราย ตอนนั้นมีความตั้งใจทำงานกับองค์กรระหว่างประเทศ เพื่อนำความรู้กลับมาพัฒนาชุมชนให้ได้มากที่สุดเท่าที่ทำได้
ทำให้เกิดแนวคิดใหม่ที่จะกลับมาพัฒนาบ้าน “เพื่อตอบแทนคุณแผ่นดิน” ในรูปแบบพัฒนาอาชีพ ส่งเสริมคนในชุมชนให้มีส่วนร่วมอย่างยั่งยืน
พัฒนาในสิ่งที่ชุมชนมีอยู่เดิมแล้ว คือ ทุกครัวเรือนปลูกกาแฟ ในการนี้ที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 พระราชทานพันธุ์พืชเมืองหนาว และกาแฟให้เกษตรกรในพื้นที่ และมีพระราชดำริจัดทำโครงการปลูกพืชเศรษฐกิจเมืองหนาวขึ้นมา และเมล็ดกาแฟ รวมถึงส่งเสริมให้เกษตรกรชาวเขาปลูกพืชเมืองหนาวนี้
“ตอนนั้นรุ่นพ่อแม่มีความรู้เฉพาะขั้นตอนการปลูกและการดูแลต้นกาแฟเท่านั้น ไม่สามารถแปรรูปเมล็ดกาแฟมีคุณภาพเป็นอย่างอื่น ต้องรอพ่อค้าคนกลางมารับซื้อเมล็ดพันธุ์ ไม่เคยมีอำนาจต่อรอง จนถูกกดราคากาแฟ” ลี อายุ จือปา ว่า
ทำให้ต้องคิดพัฒนาผลผลิตจากกาแฟ มีการศึกษาแผนกลยุทธ์การตลาด กระบวนการปลูกกาแฟให้มีคุณภาพ ทั้งยังศึกษาการคั่วกาแฟ การควบคุมคุณภาพ และการชงกาแฟ ในการนำเมล็ดกาแฟของชาวบ้าน มาสร้างให้เกิดมูลค่าเป็นที่ประจักษ์ “แบรนด์กาแฟไทย” ให้มีพื้นที่ยืนในกลุ่มผู้บริโภคกาแฟ ช่วยให้มีรายได้เพิ่มมากขึ้น
และเสนอกู้ยืมเงินกับธนาคารต่างๆ แต่ไม่มีองค์กรใดรับพิจารณาแนวคิดนี้ เพราะไม่มีกรรมสิทธิ์ในที่ดิน ที่อยู่อาศัยเป็นหลักค้ำประกัน ทำให้เรียนรู้ว่า...ใครอยากเป็นหนี้นั้น...ไม่ใช่เรื่องง่าย
โชคดีในช่วงศึกษา มรภ.เชียงราย เคยฝึกงานกับ “มูลนิธิเกื้อฝันเด็ก” ก่อตั้งโดยชาวสวิตเซอร์แลนด์ 2 ปี และได้นำแผนธุรกิจที่ร่างขึ้น หารือกับผู้สนับสนุนมูลนิธิเกื้อฝันเด็ก และได้รับโอกาสเห็นถึงความตั้งใจ และเล็งเห็นโอกาสสู่ความสำเร็จของแผนธุรกิจนี้ สนับสนุนโครงการแบบฟรีในระยะ 3 ปี
มีเงื่อนไข...ในปีแรก ต้องมีจุดจำหน่ายเกิดขึ้น ข้อนี้เราเลือกเปิดร้านกาแฟในพื้นที่ จ.เชียงใหม่ และใช้เป็นสถานที่จำหน่ายเมล็ดกาแฟของชาวบ้าน รวมถึงเป็นช่องทางแนะนำให้คนเมืองได้รู้จักกับกาแฟของบ้านแม่จันใต้โดยตรง ในปีที่ 2 ต้องมีรายได้เพิ่ม...ไม่ขาดทุน และในปีที่ 3 ต้องมีเงินต้นทุนเพื่อขยายกิจการต่อในปีที่ 4
เพราะตั้งใจสนับสนุนให้ “ต้นทาง” กาแฟของชาวบ้านมีโอกาสได้พบเจอกับ “ปลายทาง” จากผู้ดื่มได้ผ่านโมเดลนี้ มีการส่งเมล็ดกาแฟ ประกวดองค์กรกาแฟชนิดพิเศษแห่งยุโรป และเมล็ดกาแฟอาข่า อ่ามา ได้รับเลือกเป็น 1 ใน 21 แบรนด์จากทั่วโลก เพื่อใช้ในเวทีการชิมกาแฟนานาชาติ
นับแต่วันนั้น...เมล็ดกาแฟนี้เป็นที่รู้จักกันแพร่หลาย และประสบความสำเร็จ กาแฟอาข่า อ่ามา มียอดขายสูงสุด 3–4 ตันต่อปี จากการส่งออกทั่วโลก ทำให้ชาวบ้านที่ปลูกกาแฟ เกิดความภาคภูมิใจ...
เริ่มขยายฐานการผลิตของ “ต้นทางกาแฟ” ยังหมู่บ้านใกล้เคียง ให้เกิดองค์ความรู้กระบวนการปลูกกาแฟคุณภาพ ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม ส่วนคนในหมู่บ้านแม่จันใต้ เคยร่วมงานกับกาแฟอาข่า อ่ามา บางคนยืนได้แล้ว ก็นำโมเดลนี้ ไปขยายธุรกิจแปรรูปกาแฟเป็นของตัวเอง...
“กระบวนการดำเนินงาน กาแฟอาข่า อ่ามา เสมือนต้นแบบองค์ความรู้ การพัฒนาแปรรูปเมล็ดกาแฟในหลายรูปแบบ เพื่อให้เป็นพืชเศรษฐกิจของชุมชน”
การดำเนินธุรกิจอาข่า อ่ามาเพื่อสังคม เป็นในรูปแบบค้นหาปัญหา และหาทางออกให้กับชุมชน ผลักดันเมล็ดกาแฟมีคุณภาพ และหาช่องทางการขายเมล็ดกาแฟให้กับชาวบ้าน ทำให้เกิดเป็นรายได้ถูกส่งคืนกลับสู่ชุมชน ทำให้ชาวบ้านมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น สามารถส่งลูกหลานให้ได้รับการศึกษาที่ดี
ลึกๆ...ในความสำเร็จนี้ ได้นำหลักแนวคิดและทฤษฎีของโครงการหลวง ในพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 มาเป็นแนวทางปรับใช้ในการเรียนรู้ นำพัฒนาส่งเสริมคนในชุมชนเพาะปลูกพืชผักและผลไม้ ผสมผสานการปลูกกาแฟ
กลายเป็นมีช่องทางสร้างรายได้หลากหลาย ไม่หวังรายได้จากการปลูกกาแฟเพียงอย่างเดียว อีกทั้งยังนำเอารูปแบบของสหกรณ์มาใช้นำผลผลิตเมล็ดกาแฟออกจำหน่าย หรือร่วมดำเนินธุรกิจกับบริษัทเอกชน
หัวใจของการพัฒนาชุมชนนั้น ผลิตภัณฑ์กาแฟ เป็นเพียงเครื่องมือกระตุ้นชาวบ้าน มีส่วนร่วมสร้างรายได้ แต่สิ่งสำคัญ คือ ปลูกฝังจิตสำนึกในการใช้อนุรักษ์ และพัฒนาทรัพยากรอย่างเหมาะสม สร้างความสุขของคนในชุมชนที่ไม่ต้องออกจากหมู่บ้านไปหารายได้ในเมืองหลวง
ทุกวันนี้การดำเนินธุรกิจ “กาแฟอาข่า อ่ามา” ในรูปแบบกิจการเพื่อสังคม ก้าวเข้าสู่ปีที่ 10 ในมุมมองธุรกิจกาแฟ ถือว่าประสบความสำเร็จในระดับหนึ่ง แต่ยังเหมือนเด็กกำลังเข้าเรียนชั้นประถมปีที่ 1 ที่ได้เรียนรู้พื้นฐาน ที่มีเส้นทางอีกยาวไกล ให้ต้องเดินทางต่ออีกมากมาย
ส่วนชาวบ้านยังขาดความรู้ ความเข้าใจ ในกระบวนการผลิตกาแฟ ถูกเอารัดเอาเปรียบกดขี่ราคาอย่างไม่เป็นธรรมจากพ่อค้าคนกลาง ทำให้การทำงาน “กาแฟอาข่า อ่ามา เพื่อสังคม” ก็ยังไม่สิ้นสุด เพราะเป้าหมายสูงสุด อยากให้ชุมชนยืนอยู่ได้ด้วยตัวเอง โดยไม่ต้องพึ่งอาข่า อ่ามา
ในการตามความฝัน...ที่มุ่งหมายไม่เคยลืมที่จะนำความรู้ที่ได้จากการเล่าเรียน กลับมาพัฒนาคุณภาพคนในชุมชน ส่งเสริมให้มีรายได้ยั่งยืน กลายเป็นความสุขอย่างถาวร เพื่อทดแทนคุณแผ่นดิน
น่าชื่นชม ชื่นหัวใจ เพราะมีน้อยคนนักที่จะเกิดความคิดมุ่งมั่นตั้งใจจริง...และทำได้เช่นนี้.