เมื่อวันสิ่งแวดล้อมโลก 5 มิถุนายนที่ผ่านมา กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จัดงานวันสิ่งแวดล้อมโลก ภายใต้แนวคิด "Beat Air Pollution : หยุดหมอกควันและอากาศพิษเพื่อคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อม" ณ อาคารอิมแพ็ค ฟอรั่ม ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพ็ค เมืองทองธานี
ภายในงาน มีการระดมความคิดเห็นเพื่อหาแนวทางและข้อเสนอในการทำให้ประเทศไทยปลอดมลพิษทางอากาศ ในหัวข้อ "การขับเคลื่อนให้เกิดการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน ในการแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ” มีผู้เข้าร่วมเสวนาจากหลายภาคส่วน เพื่อพูดคุยเกี่ยวกับการป้องกันและแก้ไขปัญหาอากาศพิษ ที่กำลังเป็นภัยคุกคามทั่วโลกอยู่ในขณะนี้ โดยตามข้อมูลของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ตามรายงานของสหประชาชาติพบว่า ประชาชนได้รับผลกระทบจากมลพิษทางอากาศกว่า 7 ล้านคน โดย 4 ล้านคน อยู่ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก
นายเถลิงศักดิ์ เพ็ชรสุวรรณ รองอธิบดีกรมควบคุมมลพิษ ได้กล่าวถึงสถานการณ์คุณภาพอากาศในประเทศไทยในเดือนมิถุนายนว่าอยู่ในระดับดีมาก เหมาะสมกับการท่องเที่ยว ขณะเดียวกัน สถานการณ์มลพิษทางอากาศที่ผ่านมา มักเกิดขึ้นในช่วงต่อฤดูกาลหรือต้นปี อย่างไรก็ตาม ทางภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชน ให้ความร่วมมือแก้ไขปัญหาเป็นอย่างดี ทำให้สถานการณ์คลี่คลายไปได้
นอกจากนี้ นายเถลิงศักดิ์ยังกล่าวถึงแอปพลิเคชัน Air4Thai ที่กรมควบคุมมลพิษได้จัดทำขึ้นเพื่อแสดงผลการตรวจวัดคุณภาพอากาศตามจุดต่างๆ ทั่วประเทศ โดยปัจจุบัน ได้มีการติดตั้งสถานีวัดคุณภาพอากาศว่า 63 สถานีทั่วประเทศ สำหรับพื้นที่ในกรุงเทพมหานคร ทางกรุงเทพมหานครได้เตรียมติดตั้งอุปกรณ์วัดคุณภาพอากาศให้ครบทุกเขตภายในปี 2563 ด้วย
ขณะที่นายมานิตย์ อุ่นเครือ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลพิชัย จังหวัดลำปาง ระบุถึงการแก้ไขปัญหาสถานการณ์ไฟป่าในภาคเหนือในฐานะประธานอาสาสมัครพิทักษ์สิ่งแวดล้อมหมู่บ้าน (อสม.) จังหวัดลำปางว่าตนได้รับนโยบายจากกรมควบคุมสิ่งแวดล้อมในการจัดการไฟป่า ที่ผ่านมา ตนได้พูดคุยกับแต่ละองค์กรที่เกี่ยวข้องมาโดยตลอด แต่ที่สำคัญที่สุดคือการสร้างความเข้าใจกับประชาชนในพื้นที่เกี่ยวกับการช่วยควบคุมและหยุดยั้งไฟป่า เช่น คณะกรรมการป่าชุมชน โดยนายมานิตย์ย้ำว่า การหยุดยั้งไฟป่าทั้งจากการเผาและสถานการณ์ตามธรรมชาติ ทุกภาคส่วนต้องทำอย่างจริงจังจึงประสบผลสำเร็จ
ด้านผู้ร่วมเสวนาท่านอื่นๆ ได้กล่าวถึงวิธีแก้ไขปัญหาอากาศพิษโดยการลดการใช้รถยนต์และใช้เทคโนโลยีเป็นตัวช่วย เช่น การคมนาคมสีเขียว ทั้งการใช้ขนส่งสาธารณะ เช่น รถไฟฟ้า รถประจำทาง หรือการเดินเท้า ซึ่งในด้านขนส่งสาธารณะ ได้มีการยกตัวอย่างในประเทศในทวีปยุโรปที่ใช้ระบบดิจิทัลแบบบูรณาการ ทำให้การขนส่งมีประสิทธิภาพมากขึ้น เช่น ติดตั้งแผนที่เส้นทางการเดินรถโดยสารประจำทางแบบเรียลไทม์ ที่ทำให้ผู้โดยสารทราบเวลาที่แม่นยำ ทำให้จำนวนผู้ใช้รถโดยสารประจำทางเพิ่มมากขึ้น ลดการใช้รถยนต์ส่วนตัวลง