“การปฏิรูปการศึกษาครั้งนี้จึงไม่สำเร็จไม่ได้ และจะสำเร็จได้ทุกคนในสังคมไทยต้องร่วมมือกัน”
คำฝากฝังสุดท้ายก่อนอำลาตำแหน่งของประธานคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา ศ.นพ.จรัส สุวรรณเวลา และบรรดาคณะกรรมการ กอปศ.อีก 24 คน ซึ่งทำงานครบรอบ 2 ปี ตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พร้อมกับจัดทำรายงานการปฏิรูปการศึกษาไทยของ กอปศ. รายงานต่อประชาชน สังคมไทย และนำเสนอต่อรัฐบาลใหม่ พร้อมขยายความให้เห็นภาพ
...ประเทศไทยมีการปฏิรูปการศึกษาหลายครั้ง หลายปี ครั้งล่าสุดคือปี 2542 และทำให้เกิดความเจริญก้าวหน้าพอควร แต่เราก็ยังมีปัญหาที่ต้องปฏิรูปอีก...
“ทีมการศึกษา” ขอทำหน้าที่นำเสนอข้อเสนอแผนการปฏิรูปการศึกษาของ กอปศ. ซึ่งสรุปได้ 7 เรื่อง 28 ประเด็น เพื่อให้สังคมติดตามการดำเนินการปฏิรูปการศึกษาของรัฐบาลใหม่
เรื่องที่ 1 การปฏิรูประบบการศึกษาและการเรียนรู้โดยรวมของประเทศ โดย พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ และกฎหมายลำดับรอง ได้แก่ 1.การยกร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติฉบับใหม่ 2.การสร้างความร่วมมือระหว่างรัฐ เอกชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเพื่อจัดการศึกษา โดยสนับสนุนให้ท้องถิ่นจัดการศึกษาเพิ่มขึ้น ขณะเดียวกันก็เพิ่มบทบาทภาคเอกชนร่วมจัดการศึกษาในรูปแบบโรงเรียนประชารัฐและโรงเรียนร่วมพัฒนา 3.การขับเคลื่อนการจัดการศึกษาเพื่อพัฒนาตนเองและการศึกษาเพื่อการเรียนรู้ตลอดชีวิต เพื่อรองรับการพัฒนาศักยภาพคนตลอดช่วงชีวิต 4.การทบทวนและปรับปรุงแผนการศึกษาแห่งชาติ ซึ่งต้องให้ทันกับสากล และสนองต่อการพัฒนาประเทศ 5.การจัดตั้งสำนักงานคณะกรรมการนโยบายการศึกษาแห่งชาติ
...
เรื่องที่ 2 การปฏิรูปการพัฒนาเด็กเล็กและเด็กก่อนวัยเรียน ซึ่ง พ.ร.บ.การพัฒนาเด็กปฐมวัย พ.ศ.2562 ได้ประกาศใช้แล้ว ได้แก่ 1.การพัฒนาระบบการดูแล พัฒนา และจัดการเรียนรู้เพื่อให้เด็กปฐมวัยได้พัฒนาร่างกาย จิตใจ วินัย อารมณ์ สังคม สติปัญญาให้สมกับวัย 2.การสื่อสารสังคมเพื่อสร้างความเข้าใจในการพัฒนาเด็กปฐมวัย
เรื่องที่ 3 การปฏิรูปเพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา โดยมี พ.ร.บ.กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา พ.ศ.2561 เป็นหลัก ซึ่งจะต้องดำเนินการดังนี้ 1.การดำเนินการเพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา 2.การจัดการศึกษาสำหรับบุคคลพิการ บุคคลที่มีความสามารถพิเศษ และบุคคลที่ต้องการการดูแลเป็นพิเศษ 3.การยกระดับคุณภาพการจัดการศึกษาในพื้นที่ห่างไกล หรือในสถานศึกษาที่ต้องมีการยกระดับคุณภาพอย่างเร่งด่วน
เรื่องที่ 4 การปฏิรูปกลไกและระบบการผลิต คัดกรอง และพัฒนาผู้ประกอบวิชาชีพครูและอาจารย์ ซึ่งได้แก่ 1.การผลิตครูและการคัดกรองครู เพื่อให้ได้ครูที่มีคุณภาพตรงกับความ ต้องการของประเทศ และมีจิตวิญญาณของความเป็นครู โดยโรงเรียนควรมีส่วนร่วมในการคัดเลือกครูด้วย 2.การพัฒนาวิชาชีพครู 3.เส้นทางวิชาชีพครู เพื่อให้ครูมีความก้าวหน้า ได้รับค่าตอบแทนและสวัสดิการที่เหมาะสม 4.การพัฒนาผู้บริหารสถานศึกษา เพื่อยกระดับคุณภาพการจัดการศึกษาในสถานศึกษา 5.องค์กรวิชาชีพครู และปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้อง โดยปรับบทบาทหน้าที่ของคุรุสภา องค์การค้า คณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) คณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา (สกสค.) ให้สนองตอบต่อการพัฒนาการศึกษา
เรื่องที่ 5 การปฏิรูปหลักสูตร การเรียนรู้ และการประเมินผลการศึกษา โดยมีประเด็นการปฏิรูปดังนี้ 1.การปรับหลักสูตรเป็นหลักสูตรฐานสมรรถนะ แทนการใช้ฐานเนื้อหาสาระ ขณะที่ครูต้องปรับจากการเป็นแหล่งความรู้ ให้เป็นผู้จัดการให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ 2.การจัดการศึกษาเพื่อเสริมสร้างคุณธรรมและจริยธรรม 3.การประเมินคุณภาพการจัดการศึกษาระดับชาติและระบบคัดเลือกเข้าศึกษาต่อ 4.ระบบความปลอดภัย และระบบสวัสดิภาพของผู้เรียน เช่น อุบัติเหตุในโรงเรียน ความรุนแรง ภัยพิบัติ และโรคติดต่อ เป็นต้น 5.การปฏิรูปอาชีวศึกษา เพื่อสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ 6.การปฏิรูปอุดมศึกษาเพื่อยกระดับคุณภาพ เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ประสิทธิภาพและธรรมาภิบาลของระบบอุดมศึกษา 7.การจัดตั้งสถาบันหลักสูตรและการเรียนรู้แห่งชาติ
เรื่องที่ 6 การปรับโครงสร้างของหน่วยงานในระบบการศึกษา เพื่อบรรลุเป้าหมายการปรับปรุงการจัดการเรียนการสอนและยกระดับคุณภาพการจัดการศึกษา ดังนี้ 1.สถานศึกษามีความเป็นอิสระในการบริหารและจัดการศึกษา 2.พื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ตามที่ พ.ร.บ.พื้นที่นวัตกรรมการศึกษา พ.ศ.2562 กำหนด 3.การปรับปรุงโครงสร้างกระทรวงศึกษาธิการให้มีเอกภาพ มีธรรมาภิบาล มีความรับผิดชอบต่อการจัดการศึกษาทุกระดับ
เรื่องที่ 7 การปฏิรูปการศึกษาและการเรียนรู้โดยการพลิกโฉมด้วยระบบดิจิทัล ในเรื่องต่างๆ ได้แก่ 1.การปฏิรูปการเรียนรู้ด้วยดิจิทัลผ่านแพลตฟอร์มการเรียนรู้ด้วยดิจิทัลแห่งชาติ 2.ระบบข้อมูลสารสนเทศเพื่อการศึกษา 3.การพัฒนาความเป็นพลเมืองดิจิทัล
ทั้งหมดนี้คือข้อสรุปของ กอปศ.ที่จะเสนอต่อรัฐบาลใหม่ ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรีสมัยที่สอง ซึ่ง “ทีมการศึกษา” หวังว่าข้อเสนอของ กอปศ.จะได้รับการบรรจุเข้าเป็นส่วนสำคัญของนโยบายรัฐบาล
การศึกษาคือ การสร้างคน สร้างชาติ นั้น ต้องเกิดจากความร่วมมือร่วมใจของทุกฝ่ายของทุกพรรคร่วมรัฐบาลเพราะ “การปฏิรูปการศึกษาครั้งนี้จึงไม่สำเร็จไม่ได้”!!
ทีมการศึกษา