ตามที่ที่ประชุมรัฐสภาลงมติเลือก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี สมัยที่สอง ขณะที่การจัดตั้งรัฐบาลยังไม่ลงตัว โดยไม่มีพรรคร่วมรัฐบาลพรรคใดแสดงท่าทีชัดเจนว่าต้องการดูแลกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) นั้น

ศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ อาจารย์คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ ควรเรียนรู้จากประสบการณ์การบริหารรัฐบาล 5 ปีที่แล้วมาว่าส่งคนที่มีความรู้ด้านงานการศึกษาจริงและมีความสามารถมาเป็นบริหารงานการศึกษาที่อยู่ในภาวะวิกฤติหรือไม่ ซึ่งตนตอบได้เลยว่าไม่เหมาะสม ทั้งทหารและหมอ เพราะพบว่าการศึกษาที่ผ่านมาไม่นานก็กลับเข้าสู่ระบบเดิม แสดงให้เห็นว่า 5 ปีที่ผ่านมาการศึกษาไม่ได้เปลี่ยนแปลงอะไรมากนัก ทุกอย่างกลับสู่สภาพเดิมอย่างรวดเร็ว ไม่ตรงกับที่ประกาศว่าเป็นยุคที่ต้องปฏิรูปการศึกษา ทำให้เห็นว่าการคัดเลือกคนที่จะมาดูแลงานการศึกษาขาดความพิถีพิถัน ขณะที่การหาเสียงช่วงเลือกตั้งก็ไม่มีพรรคการเมืองชูเรื่องการศึกษา ไม่มีนโยบายการศึกษาที่ชัดเจน การจัดตั้งรัฐบาลใหม่ก็พบว่ากระทรวงด้านการศึกษาถูกมองข้ามไป ไม่มีพรรคไหนสนใจ แล้วระยะยาวประเทศไทยจะไปรอดได้อย่างไร

“อยากให้ พล.อ.ประยุทธ์ และพรรคการเมืองเปลี่ยนวิธีคิดใหม่ กลับมาให้ความสำคัญศธ.และ อว.ซึ่งเป็นกระทรวงหลักในการสร้างคน ขอให้นายกรัฐมนตรีให้ความสำคัญเป็นพิเศษในการคัดเลือกคนที่จะมาดูแล ศธ.และ อว. เพราะเป็นกระทรวงที่จะสร้างประเทศได้ในระยะยาวตามยุทธศาสตร์ประเทศ 20 ปีที่นายกฯ วางไว้ โดยนโยบายรัฐบาลใหม่ควรยึดแนวทางปฏิรูปการศึกษาที่เสนอโดยคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา อย่างน้อยร้อยละ 50 อีกร้อยละ 50 เป็นการหลอมรวมนโยบายพรรคร่วมที่ได้หาเสียงไว้ และบูรณาการกับนโยบายปฏิรูปการศึกษาเข้าด้วยกัน” ศ.ดร.สมพงษ์ กล่าว

...