ประธาน คกก.วิสามัญพิจารณาร่างข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร แจงขึ้นค่าธรรมเนียม เก็บขยะ 80 บาท เม็ดเงินไปไหน เตรียมยกระดับ การจัดการให้มีความเรียบร้อยขึ้น ไร้น้ำขยะ ไหลเป็นทางบนผิวการจราจร
สืบเนื่องจากสำนักสิ่งแวดล้อมจะจัดเก็บค่าธรรมเนียมจัดเก็บขยะมูลฝอยอัตราใหม่ 80 บาทต่อเดือน ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.62 เป็นต้นไป เนื่องจากอัตราค่าธรรมเนียมเก็บขนขยะมูลฝอยของกรุงเทพมหานครที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน ได้ถูกใช้มาตั้งแต่ปี 2548 ทำให้ประชาชน โดยเฉพาะในพื้นที่กรุงเทพมหานคร เร่ิมมีการตื่นตัวกันอย่างมากนั้น
จากการสอบถาม นายชยาวุธ ศิริยุทธ์วัฒนา สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร และประธานคณะกรรมการวิสามัญพิจารณาร่างข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่องค่าธรรมเนียมการให้บริการในการจัดการสิ่งปฏิกูลหรือมูลฝอยตามกฎหมายว่าด้วยการสาธารณสุข เปิดเผยกับทีมข่าวไทยรัฐออนไลน์ว่า ในปัจจุบัน กทม. เสียงบประมาณในการจัดเก็บและกำจัดขยะมูลฝอยปีละประมาณ 6,900,000,000 ล้านบาท กฎหมายเก่าเก็บได้เพียงประมาณ 520,000,000 ล้านบาท
...
จะเห็นได้ว่าเป็นการขาดทุนอย่างมาก มีการจัดสรรงบประมาณจากส่วนอื่นมาช่วยเหลือตรงนี้ จึงได้มีมติเรียกเก็บเพิ่มขึ้น เพื่อให้ได้เม็ดเงินเพิ่มขึ้น เป็นการลดงบประมาณที่จะนำไปพัฒนาส่วนอื่น เช่น ทำถนน บริหารจัดการน้ำ ดูแลสุขภาวะของประชาชน ดูแลสิ่งแวดล้อมได้มากขึ้น ซึ่งทางกระทรวงสาธารณสุขสามารถให้เรียกเก็บค่าจัดเก็บขยะได้ไม่เกิน 65 บาท และค่าจำกัดขยะอีกไม่เกิน 155 บาท ต่อครัวเรือนในแต่ละเดือน
ทั้งนี้ในปัจจุบัน กทม.มีต้นทุนค่าเก็บขนกับครัวเรือนทั่วไปอยู่ที่ 130 บาท ค่ากำจัด 98 บาท (ต่อขยะ 20 ลิตร หรือประมาณ 4 กิโลกรัมต่อวัน) ทั้งหมด 228 บาท แต่กฎหมายที่ใหม่เรียกเก็บเพียง 80 บาท คือค่าเก็บขนเพิ่มขึ้นจาก 20 บาท เป็น 40 บาท และคิดค่าจำกัดขยะ 40 บาท ซึ่งก็ยังขาดทุนอยู่ดี แต่พยายามไม่กระทบต่อประชาชนมาก ส่วนสถานประกอบการจะแยกเก็บเป็นหน่วย
"เมื่อการจัดเก็บค่าธรรมเนียมเพิ่มขึ้น การบริการจัดการความเรียบร้อยในการจัดเก็บ ความสะอาด เป็นระเบียบเรียบร้อย ประสิทธิภาพในการจัดเก็บต้องดีขึ้น ต่อไปรถขยะจะมีช่องคัดแยกขยะตามที่แหล่งกำเนิดคัดแยก ไม่มีน้ำขยะซึมออกจากรถไปพื้นผิวจราจร เป็นการกำหนดรถขยะในสัญญาเช่าชุดใหม่"
สำหรับวิธีการกำจัดขยะของ กทม. มี 3 วิธี ได้แก่ 1. การฝังกลบ 2. หมักปุ๋ย และ 3. กำจัดด้วยการเข้าเตาเผา โดยการฝังกลบจะว่าจ้างให้เอกชนนำไปฝัง ส่วนใหญ่ไปฝังที่จังหวัดอื่น เช่น อ.พนมสารคาม และ จ.นครปฐม แต่วิธีการนี้จะใช้ได้ไม่นาน และปัจจุปันเร่ิมหาพื้นที่ฝังกลบยากขึ้น เนื่องจากกฎหมาย พ.ร.บ.รักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง ได้กำหนดเงื่อนไขในการฝังกลบว่า ต้องได้รับความยินยอมจากเจ้าของท้องที่ก่อนจะนำขยะไปฝังกลบ
หลังจากนี้ กทม.จะลดการฝังกลบและตั้งเป้ามาใช้วิธีเผาในเตาขยะให้เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 30 จากร้อยละ 5 และใช้การทำปุ๋ย ลดการฝังกลบ และเพิ่มวิธีอื่นอีก เช่น สร้างวินัยและจิตสำนึกต่อประชาชนในการคัดแยกขยะ
เมื่อถามถึงปัญหาที่บางครัวเรือนไม่จ่ายค่าจัดเก็บขยะ นายชัยวุธ กล่าวว่า กทม. เล็งเห็นและกำลังแก้ไขปัญหานี้อยู่ ดูจากสถิติแล้วมีจำนวนไม่มาก ประมาณ 9% อาจมาจากหลายสาเหตุ เช่น การจัดเก็บที่ไม่มีหน่วยจัดเก็บโดยเฉพาะ ให้คนเก็บขยะเป็นคนจัดเก็บ ช่องทางจึงไม่เปิดมาก คือส่วนใหญ่จะไปเก็บขยะเวลาราชการ ผู้ต้องชำระก็ไม่อยู่ ต้องไปทำงาน เป็นต้น ไม่ได้เจอกัน บางครัวเรือนไม่อยู่ประจำ เป็นบ้านเช่า ย้ายบ่อย เป็นสาเหตุให้เก็บไม่ทั่วถึง ซึ่งทางฝ่ายบริหารกำลังปรับปรุงระบบจัดเก็บ เป็นแบบ E-payment มีการจ่ายผ่านธนาคาร ร้านสะดวกซื้อ ซึ่งพร้อมใช้วันที่ 1 ต.ค. 62 นี้ การเก็บค่าธรรมเนียมที่เพิ่มขึ้นตรงนี้ จะเป็นผลดีแก่พนักงานเก็บขยะ กล่าวคือ พนักงานจะได้ค่าธรรมเนียมเพิ่มขึ้นเป็นโบนัสหรือส่วนแบ่งจากเงินเดือน มีหลักประกัน
อย่างไรก็ตาม นายชยาวุธ ได้ฝากให้ประชาชนมีจิตสำนึกในการแยกขยะ รักษาสิ่งแวดล้อม และร่วมมือกันคัดแยกขยะ เพราะในปัจจุบันพนักงานเก็บขยะเกือบอยู่ในภาวะขาดแคลน ไม่ค่อยมีใครอยากทำ เนื่องจากต้องอยู่กับมลภาวะ มลพิษ และเสี่ยงอันตราย ทางราชการก็ไม่สามารถจ้างแรงงานต่างด้าวมาทำงานตรงนี้ได้อีกด้วย.