ถ้าเราพบว่าใครสักคนอยู่ดีๆก็โพล่งขำออกมาจนท้องคัดท้องแข็งอย่างไม่มีปี่ไม่มีขลุ่ย โดยคาดเดาไม่ได้ว่าสิ่งใดทำให้เขามีความหฤหรรษ์ได้ถึงเพียงนั้น หนึ่งในคำตอบที่ดูเป็นไปได้ที่สุดก็คือเขาอาจจะกำลังเคลิบเคลิ้มจากฤทธิ์ของพืชชนิดหนึ่งคือ “กัญชา” นั่นเอง
แฟนานุแฟนคอลัมน์ไทยรัฐซันเดย์สเปเชียลโดยทีมงานนิตยสารต่วย’ตูนคงทราบดีว่า ในปัจจุบันกัญชาเป็นยาเสพติดผิดกฎหมายที่ออกฤทธิ์ต่อจิตประสาททำให้ผู้ที่ “เสพ” เข้าไปมีอาการเคลิบเคลิ้ม จนบางครั้งก็สังเกตได้ง่ายๆจากอาการตาเยิ้ม หรือบ้างก็หัวเราะแบบไม่มีเหตุผล แต่กัญชาก็ไม่ได้มีเพียงแค่ข้อเสีย เพราะเมื่อใช้ในปริมาณที่เหมาะสม กัญชายังให้ประโยชน์ในเชิงการแพทย์ได้ ทั้งช่วยในเรื่องของลมชัก บรรเทาอาการหอบหืด ปวดหัวไมเกรน แถมยังมีผลวิจัยออกมาว่ากัญชาสามารถใช้รักษาผลข้างเคียงของมะเร็ง ป้องกันอาการคลื่นไส้จากการทำเคมีบำบัด อีกทั้งยังสามารถใช้ช่วยกระตุ้นความอยากอาหารได้อีกด้วย
นอกจากสรรพคุณที่ใช้ “เสพ” เพื่อความหฤหรรษ์และใช้เป็นยารักษาโรคแล้ว ต้นกัญชายังมีคุณประโยชน์อื่นๆอีกมาก ที่ชนโบราณในอดีตเคยนำมาใช้ประโยชน์กันเป็นล่ำเป็นสัน อีกทั้งบางอารยธรรมของโลกโบราณยังยกย่องให้กัญชาเป็นพืชศักดิ์สิทธิ์ มีการเชื่อมโยงเข้ากับตำนานของเทพเจ้า หรือบ้างก็นำมาเป็นยาให้เหล่าบรรดาพ่อมดหมอผีใช้ในการติดต่อสื่อสารกับเทพเจ้า หรือบรรดาผู้วายชนม์ที่ล่วงลับไปแล้วด้วยเช่นกัน
...
สิ่งที่น่าทึ่งก็คือ เรื่องราวของการนำกัญชามาใช้ประโยชน์ในสังคมของมนุษย์ดึกดำบรรพ์นั้น ไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้นในหลักสิบหรือร้อยปีหรอกนะครับ แต่สามารถสืบกลับไปได้เป็นพันๆ หรืออาจจะถึง “หมื่น” ปี
หลักฐานแรกสุดของโลกโบราณที่พอจะมีปรากฏให้เห็นถึงการนำเอา “กัญชา” มาใช้ประโยชน์นั้นสามารถย้อนกลับไปได้ไกลถึงราว 26,900 ปีก่อนคริสตกาล ในยุคนั้นยังไม่มีอารยธรรมใดเกิดขึ้น มนุษย์ส่วนใหญ่ของโลกยังอยู่ใน “ยุคหินเก่า” แต่สิ่งที่นักโบราณคดีค้นพบไม่ใช่หลักฐานของการ “พี้ยา” ครั้งแรกของโลกหรอกนะครับ แต่เป็นการนำเอาเส้นใยของกัญชามาผลิตเป็น “เส้นเชือก” และหลักฐานที่ว่านั้นก็คือ เชือกโบราณจากเส้นใยของต้นกัญชาที่ค้นพบจากสาธารณรัฐเช็ก เมื่อปี ค.ศ.1997 หลังจากนั้นเมื่อราว 8,000 ปีก่อนคริสตกาล นักโบราณคดีเริ่มค้นพบหลักฐานของการปลูกกัญชาในแปลงเกษตร และมีการนำเอาเส้นใยของกัญชามาใช้ในงานเครื่องปั้นดินเผาของชนโบราณในแถบไต้หวันด้วยเช่นกัน สำหรับ “แหล่งกำเนิด” ของต้นกัญชาก่อนที่เจ้าพืชมหัศจรรย์ชนิดนี้จะเริ่มแพร่กระจายออกไปทั่วโลกนั้นก็ถูกเสนอกันว่าน่าจะอยู่ในแถบ “เอเชียกลาง” ไม่ไกลจากบ้านเรานี่เองล่ะครับ
ประวัติศาสตร์หน้าแรกๆของกัญชายังไม่ค่อยมีพิษมีภัยมากเท่าใดนัก การนำกัญชามาใช้มักจะเกี่ยวข้องกับการนำเส้นใยมาผลิตเป็นเส้นเชือก หรือสิ่งทอเสียมากกว่า หลักฐานแรกสุดที่แสดงให้เห็นถึงการนำกัญชามา “รับประทาน” เกิดขึ้นในประเทศจีนเมื่อประมาณ 6,000 ปีก่อนคริสตกาล ชาวจีนโบราณในยุคนี้จะนำเมล็ดกัญชามาสกัดเป็นน้ำมันเพื่อนำมาใช้เป็นอาหาร ถึงอย่างนั้นก็ยังไม่มีหลักฐานชัดเจนระบุว่า อาหารที่มีส่วนผสมของกัญชาจะออกฤทธิ์ให้คนที่ลิ้มรสต้องออกอาการเคลิบเคลิ้มด้วยหรือไม่ แต่ก็มีการเสนอกันว่าต้นกัญชาที่นำมาผลิตอาหารและเส้นใยต่างๆนี้ ยังมีสารที่เรียกว่า “เตตราไฮโดรแคนนาบินอล” (Tetrahydrocannabinol-THC) ในปริมาณที่ไม่มากนัก (เจ้าสารชื่อยาวเหยียดที่ว่านี้จะพบได้มากในช่อดอกและใบครับ) และสารชนิดนี้เองครับ ที่ส่งผลให้เกิดการกระตุ้นประสาทจนทำให้ผู้ที่ได้ลิ้มรสกัญชาเกิดอาการตาเยิ้มได้
หลักฐานแรกที่บ่งบอกว่าชนโบราณรู้จัก “สรรพคุณ” ของกัญชาในแง่ของยารักษาโรคก็มาจากพี่จีนโบราณของเราเช่นเดิมครับ การนำเอากัญชามาสกัดเป็นยาเกิดขึ้นในสมัยของจักรพรรดิเสินหนง (Shen Nen) เมื่อราว 2,737 ปีก่อนคริสตกาล และในช่วงนี้เองครับที่พลังแห่งความมึนเมา ทำให้จิตล่องลอยประหนึ่งว่าสามารถติดต่อกับพลังเหนือธรรมชาติได้ของกัญชาเริ่มถูกนำมาเชื่อมโยงกับตำนานและพลังอันศักดิ์สิทธิ์ของเทพเจ้ามากขึ้น ส่งผลให้พืชมหัศจรรย์ชนิดนี้กลายมาเป็นหนึ่งในเครื่องบูชาที่ขาดไม่ได้ของพิธีกรรมในหลากหลายอารยธรรมโบราณทั่วโลก เช่น ชาวอินเดียโบราณมีการนำเอาใบกัญชาแห้ง, เมล็ดและกิ่งก้านของต้นกัญชามาใช้เป็นยาที่เรียกว่า “บัง” (Bhang) และยาชนิดนี้ก็ปรากฏอยู่ในคัมภีร์ที่เรียกว่า “คัมภีร์อาถรรพณ์เวท” (Atharvaveda) ในฐานะ “หญ้าศักดิ์สิทธิ์” และชาวฮินดูก็จะใช้ยาที่เรียกว่า “บัง” นี้ในพิธีกรรมเพื่อถวายแด่พระศิวะตามความเชื่อของพวกเขาด้วยเช่นกัน
นอกจากอินเดียแล้ว อีกหนึ่งอารยธรรมโบราณที่มีหลักฐานของการใช้กัญชาในเชิงความเชื่อ, พิธีกรรมและนำมาใช้ในเชิงการแพทย์ด้วยเช่นกันก็คือ ชาวอียิปต์โบราณ นักอียิปต์วิทยาทราบว่าชาวไอยคุปต์เรียกกัญชาในภาษาของพวกเขาเองว่า “เชมเชมตู” (Shemshemtu) พืชชนิดนี้ถูกนำไปใช้ประโยชน์หลากหลาย ทั้งการนำไปแปรรูปเป็นเส้นเชือกและใบเรือเหมือนกับชนโบราณกลุ่มอื่นๆของโลก
นอกจากนั้น “นักวิชาเกิน” ส่วนหนึ่งยังพยายามเสนอว่าชาวไอยคุปต์อาจจะเชื่อมโยงรูปลักษณ์ของ “ใบกัญชา” 7 แฉกเข้ากับสัญลักษณ์รูปร่างคล้ายกันที่ไปปรากฏอยู่บนศีรษะของเทพีที่มีพระนามว่า “เซเชท” (Seshat) ซึ่งเป็นเทพีแห่งการจดบันทึกและความรู้ด้วย แต่ถึงอย่างนั้น นักอียิปต์วิทยาส่วนใหญ่ก็ยังไม่เห็นด้วยกับแนวคิดนี้มากนักหรอกครับ
หลักฐานที่น่าเชื่อถือมากกว่าที่แสดงให้เห็นว่าชาวไอยคุปต์ทราบถึงประโยชน์ในทางการแพทย์ของกัญชาก็คือ กระดาษปาปิรัสทางการแพทย์อายุราว 1,600 ปีก่อนคริสตกาล ที่ระบุถึงการนำพืช “เชมเชมตู” และน้ำผึ้งมาเป็นส่วนประกอบของยาที่ช่วยในการคลอดบุตร นอกจากนั้นยังมีสูตรยาที่นำเอากัญชามาเป็นส่วนผสมของยาสำหรับล้างตาเพื่อรักษาอาการต้อหิน แสดงให้เห็นว่าชาวไอยคุปต์ก็มีการใช้ประโยชน์จากกัญชาในเชิงการแพทย์มายาวนานแล้วล่ะครับ
มาดูหลักฐานของการ “เสพ” หรือ “พี้” กัญชาเพื่อความบันเทิงเป็นครั้งแรกๆของโลกกันบ้างดีกว่า ชนชาติแรกที่บุกเบิกในการหาความสำราญจาก “กัญชา” คือชาวไซเทียน (Scythians) ที่อาศัยอยู่บริเวณตอนกลางของทวีปเอเชียและประเทศอิหร่านครับ พวกเขาเริ่มต้นจากการปลูกกัญชาเพื่อใช้ในการผลิตสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มมาก่อน แต่หลังจากนั้นในช่วงประมาณ 480 ปีก่อนคริสตกาล ชาวไซเทียนเริ่มเห็นคุณสมบัติพิเศษทางด้านการให้ความสำราญของพืชชนิดนี้ และเริ่มนำมาใช้ “เสพ” เพื่อความบันเทิงเป็นครั้งแรกๆของโลก
นักประวัติศาสตร์ชาวกรีกนามว่า เฮโรโดตัส (Herodotus) บันทึกเอาไว้ในหนังสือ “ประวัติศาสตร์” เล่มที่ 4 บทที่ 75 ใจความว่า “ชาวไซเทียนจะนำเมล็ดของต้นกัญชามาแล้วคลานเข้าไปใต้เสื่อ พวกเขาจะโยนเมล็ดกัญชาลงไปบนหินที่ร้อนแดงจนมันพ่นควันออกมา ชาวไซเทียนจะร้องโหยหวนด้วยความสุขกับไอควันนั้น พวกเขาอาบควันแทนน้ำเพราะพวกเขาไม่เคยอาบน้ำเลย” นั่นหมายความว่า ชาวไซเทียนเป็นกัญชาชนยุคบุกเบิกที่ริเริ่มการ “พี้กัญชา” เพื่อความบันเทิงเป็นกลุ่มแรกๆของโลกอย่างแน่นอนล่ะครับ
หลังจากนั้นเป็นต้นมา กัญชาก็เริ่มถูกใช้งานเพื่อความบันเทิงมากขึ้น นักประวัติศาสตร์ทราบจากงานเขียนโบราณหลายชิ้นว่า ชาวกรีกและโรมันก็เสพกัญชาเช่นกัน บันทึกจากหนังสือ “ประวัติศาสตร์ธรรมชาติ” ของนักเขียนชาวโรมันอย่างพลินีผู้ชรา (Pliny the Elder) กล่าวว่าชาวโรมันมักจะนำสิ่งที่เรียกว่า “ใบไม้แห่งเสียงหัวเราะ” (Leaves of Laughter) ผสมลงไปในไวน์สำหรับดื่มเพื่อความมึนเมาด้วย นักวิชาการตีความว่าเจ้าใบไม้แห่งเสียงหัวเราะที่ว่านี้ก็คงจะเป็นอะไรไปไม่ได้นอกจาก “ใบกัญชา” อย่างแน่นอนเลยทีเดียว
นอกจากการใช้กัญชาเพื่อความเคลิบเคลิ้มแล้ว เอกสารของชาวโรมันยังระบุถึงการใช้กัญชาในการรักษาเชิงการแพทย์เอาไว้หลายขนาน ซึ่งก็สอดคล้องกับวิทยาการในปัจจุบันที่ให้การยอมรับแล้วว่าถ้าใช้ในปริมาณที่เหมาะสม กัญชาก็เป็น “ยา รักษาโรค” ได้หลายชนิด
ถัดจากยุคของชาวโรมัน การใช้กัญชาได้แพร่หลายเข้าไปในยุโรป จนถึงช่วงยุคกลางก็ยังพบหลักฐานของการใช้พืชมหัศจรรย์ชนิดนี้ในฐานะของยารักษาโรคกันอยู่ บ้างก็นำมาทำเครื่องดื่มและบ้างก็นำมาพี้เพื่อความบันเทิงกันอย่างไม่ขาดสาย ในช่วงหลังจากปี ค.ศ.800 เป็นต้นมา กัญชาถือว่าเป็นที่นิยมในภูมิภาคตะวันออกกลางเป็นอย่างยิ่ง อันเป็นผลมาจากการแผ่ขยายอำนาจของชาวมุสลิมออกไปในหลายพื้นที่ และถึงแม้ว่าชาวมุสลิมจะถูกห้ามมิให้ดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ รวมทั้งสารมึนเมาอื่นๆ ทว่าพระคัมภีร์อัลกุรอานของศาสนาอิสลามกลับไม่ได้ระบุถึงกัญชาแต่อย่างใด นั่นจึงทำให้พืชชนิดนี้แพร่กระจายไปทั่วพื้นที่ตะวันออกกลางอย่างรวดเร็ว
นับตั้งแต่ช่วงยุคกลางเป็นต้นมา ชาวยุโรปก็เริ่มเล็งเห็นถึงประโยชน์ของกัญชากันมากยิ่งขึ้น เราทราบว่าในช่วงประมาณปี ค.ศ.1621 รายงานเรื่อง “กายวิภาคศาสตร์ของโรคซึมเศร้า” (Anatomy of Melancholy) ถูกเรียบเรียงเขียนขึ้นโดยนายแพทย์โรเบิร์ต เบอร์ตัน (Robert Burton) ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคซึมเศร้าเพื่อระบุว่ากัญชาอาจจะใช้รักษา หรือบรรเทาอาการที่เกิดจากโรคนี้ได้
อีกหนึ่งหน้าประวัติศาสตร์สำคัญของกัญชาเกิดขึ้นในประเทศสหรัฐอเมริกาช่วงปี ค.ศ.1972 สมัยประธานาธิบดีริชาร์ด นิกสัน (RichardNixon) ด้วยว่าในช่วงนั้นประธานาธิบดีนิกสันพยายามทำสงครามกับยาเสพติด เขาจึงให้เวลาทีมวิจัยจากเวอร์จิเนียสองปีในการศึกษาว่ากัญชาส่งผลต่อมะเร็งปอดในมนุษย์อย่างไร โดยหวังว่าถ้าผลลัพธ์ออกมาว่ากัญชามีผลเสียเหมือนกับบุหรี่ก็จะได้จัดการกำราบให้เด็ดขาด แต่สุดท้ายแล้วผลลัพธ์กลับออกมาตรงกันข้าม รายงานกลับสรุปว่ากัญชาสามารถเข้าโจมตีเซลล์มะเร็งในร่างกายได้ แถมยังไม่มีผลข้างเคียงอีกด้วย!! เมื่อประธานาธิบดีนิกสันเห็นผลรายงานที่ผิดคาดเข้าก็หัวเสียเลยตัดสินใจโยนรายงานนั้นทิ้งลงถังขยะไปซะ ก่อนที่จะปิดเรื่องนี้เอาไว้เป็นความลับมาอย่างยาวนานหลายสิบปีเลยทีเดียว
จะว่าไปแล้วในช่วงเวลาเดียวกันกับที่ทวีปยุโรปเริ่มมีข้อมูลของการนำเอากัญชามาใช้บำบัดโรคซึมเศร้านั้น ในบ้านเราก็มีหลักฐานของการใช้กัญชาเพื่อรักษาโรคปรากฏให้เห็นอยู่เช่นกันครับ เช่น “ตำราโอสถพระนารายณ์” สมัยอยุธยาตอนปลายที่ใช้ “กัญชา” เป็นหนึ่งในส่วนผสมเพื่อบรรเทาอาการ “กินไม่ได้นอนไม่หลับ” และยังใช้เป็นส่วนผสมของยาที่ช่วยให้นอนหลับสบายอีกด้วย ถึงอย่างนั้นก็มีการระบุเอาไว้อย่างชัดเจนเลยครับว่าให้ “กินพอสมควร” เท่านั้น นั่นหมายความว่าชนโบราณทราบดีว่ากัญชาจะส่งผลเสียเมื่อบริโภคมากเกินไปอย่างแน่นอนครับ
ในปัจจุบัน สหรัฐอเมริกาได้ประกาศให้การใช้กัญชาในรัฐโคโลราโดถูกกฎหมายตั้งแต่ปี ค.ศ.2014 ส่วนประเทศไทยของเราก็เพิ่งประกาศพระราชบัญญัติให้สามารถใช้กัญชาเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์และการวิจัยไปเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ.2562 เช่นกัน ไม่ว่า กัญชาชน จะถูกใจกับสิ่งนี้หรือไม่ นี่ก็คือ “ประวัติศาสตร์หน้าใหม่” ของกัญชาที่น่าจับตามองไม่น้อยเลยทีเดียว
ขอแถมท้ายนิดหนึ่งว่าแฟนานุแฟนที่อยากอ่านเรื่องราวที่ละเอียดกว่านี้ ก็ติดตามอ่านได้จากนิตยสารต่วย’ตูนพิเศษ ฉบับเดือนมิถุนายนที่จะถึงนี้นะครับ.
ทีมงานนิตยสารต่วย'ตูน
โดย โดย : ณัฐพล เดชขจร