ไม่อยากใช้คำว่าปิดตำนาน “ชัย ราชวัตร” เพราะการ์ตูนิสต์ชื่อก้องยุทธจักร วัย 78 ปี ขอพักผ่อนจนกว่าจะมีเหตุการณ์บ้านเมืองสำคัญเรียกร้องให้ออกมา โดยหลังอำลาหนังสือพิมพ์ไทยรัฐสิ้นเดือนนี้ สิ่งแรกที่อยากทำคือ กลับไปวาดภาพสีน้ำ สร้างสรรค์ผลงานเพื่อจัดนิทรรศการของตัวเองสักครั้งในชีวิต...จะได้นอนตายตาหลับ!!

“เมื่อ 10 ปีก่อน ผมเป็นมะเร็งลำไส้ ระยะที่สาม ต้องรักษาร่วมปี ให้คีโม 12 เข็ม ตอนนั้นคิดว่าถึงจะจบชีวิตเพราะมะเร็งก็ไม่เสียดายเราเป็นแค่เด็กบ้านนอกเข้ากรุงมีเงินติดตัวไม่กี่บาท มาถึงจุดนี้ได้ไม่รู้จะเรียกร้องอะไรแล้ว ในชีวิต ผ่านมาหมดทั้งสุขทุกข์ แค่เสียดายที่ยังไม่ได้ทำอะไรที่อยากทำอีกหลายอย่าง เช่น อยากวาดภาพสีน้ำเป็นรูปทิวทัศน์ และจัดนิทรรศการของตัวเองสักครั้งในชีวิต ตอนนั้นคิดจริงจังมาก แต่พอรักษาตัวหาย ก็ปล่อยเวลาผ่านไปเป็น 10 ปี และเผลอกลับไปใช้ชีวิตเหมือนเดิม ที่จริงผมควรลาออกตั้งแต่ 10 ปีก่อน เพื่อไล่ล่าความฝัน ผมลาออกจากไทยรัฐครั้งนี้ตั้งใจไปเขียนสีน้ำอย่างเดียว ซื้อกระดาษและสีน้ำไว้เต็มไปหมด แต่ถ้ายังวาดการ์ตูนทุกวัน คงไม่มีโอกาสทำตามความฝัน ไว้อนาคตมีเหตุการณ์อะไรที่เรามีส่วนร่วมต่อสู้ได้เพื่อชาติบ้านเมือง ผมจะกลับมาทำ!! แต่ตอนนี้ทุกอย่างเข้าที่แล้วยังไม่มีความจำเป็น”…“สมชัย กตัญญุตานันท์” เจ้าของนามปากกา “ชัย ราชวัตร” เปิดใจให้สัมภาษณ์เป็นครั้งแรกกับทีมข่าวหน้าสตรีไทยรัฐ

จุดเริ่มต้นของ “ชัย ราชวัตร” มาจากไหน

ผมเกิดและโตที่อุบลราชธานี เรียนจบ ม.6 โรงเรียนสิทธิธรรมศาสตร์ศิลป์ แล้วจึงเข้ากรุงเทพฯมาเรียนต่อ ปวช.ด้านบัญชี ที่กรุงเทพการบัญชีวิทยาลัย พ่อผมเกิดที่เมืองจีน เข้ามาอยู่เมืองไทยในยุคเสื่อผืนหมอนใบ พ่อเป็นคนมีความรู้ มาเป็นหลงจู๊โรงงานน้ำตาล ทำอยู่ได้พักหนึ่งนายทุนเลิก พ่อเลยซื้อโรงงานน้ำตาลเก่ามาทำเอง ตั้งแต่จำความได้พ่อไม่ประสบความสำเร็จในการค้าขาย จนท้อและเลิกไปเอง พ่อดวงชะตาธุรกิจล้มเหลวเพราะโดนพิษการเมืองภายในประเทศนั้นๆ เคยไปทำโรงเลื่อยที่ลาวก็เจอปฏิวัติ ไปค้าขายที่เวียดนามก็โดนปฏิวัติ ขนาดค้าแบงก์ซื้อขายเงินหยวนของจีนก็เจอพรรคคอมมิวนิสต์ปฏิวัติยกเลิกเงินรุ่นเก่า ส่วนแม่ผมเป็นลูกจีนเกิดที่อุบล ผมเป็นลูกคนโตในจำนวนพี่น้อง 9 คน ตอนเป็นเด็กพ่อส่งเรียนโรงเรียนจีนหมด ตอนมาเรียนกรุงเทพฯจะขอเงินพ่อต้องเขียนจดหมายเป็นภาษาจีน เพราะพ่ออ่านภาษาไทยไม่ออก พ่อสนับสนุนเรื่องการเรียนมาก น้องไปเรียนต่ออเมริกา 3 คน และใช้ชีวิตมีครอบครัวอยู่ที่โน่นเลย

...

เข้าสู่วงการเขียนการ์ตูนได้อย่างไร

ตอนเรียนประถมครูเอารูปไปติดบอร์ดได้รางวัลที่หนึ่ง ทำให้เกิดกำลังใจ จากนั้นในจังหวัดมีประกวดภาพเขียนอะไรก็ได้รางวัลทุกที แต่ไม่คิดยึดเป็นอาชีพ เพราะสมัยนั้นคนเก่งศิลปะแทบไม่มีทางไป ถ้าไม่เป็นครูสอนวาดเขียน ก็รับจ้างเขียนป้ายโรงหนังต่างจังหวัด พอเข้ากรุงเทพฯผมถึงเลือกเรียนบัญชี จบมาทำงานแบงก์กรุงศรีอยุธยา ก็รู้สึกว่าโก้มาก ทำฝ่ายต่างประเทศ 9ปี ระหว่างนั้นยังเขียน รูปอยู่ พอดีเกิดเหตุการณ์ 14 ตุลา 2516 นักศึกษาออกมาเดินขบวนเรียกร้องประชาธิปไตย เราเกิดอารมณ์ร่วมเลยไปสมัครเขียนการ์ตูนที่หนังสือพิมพ์แนวซ้าย “มหาราษฎร์” พอพ้นช่วง 14 ตุลา เปิดให้มีเสรีภาพมากขึ้น ทำให้มีหนังสือพิมพ์เกิดใหม่เยอะ มีพรรคพวกจากมหาราษฎร์เข้าไปอยู่เดลินิวส์ จึงชักชวนให้ไปเขียนการ์ตูนต่อที่เดลินิวส์ ใช้นามปากกาว่า “ชัย ราชวัตร” ผมอยู่เดลินิวส์ 3 ปี ก็เกิดเหตุการณ์ 6 ตุลา2519 ยุคนั้น “สมัคร สุนทรเวช” คุมมหาดไทย สั่งปิดหนังสือพิมพ์ทุกฉบับ ให้มาขอหัวหนังสือพิมพ์ใหม่ ยื่นเงื่อนไขว่าต้องไม่มีคอลัมนิสต์ชื่อเหล่านี้ เพราะต้องการล้างคอลัมนิสต์หัวแข็งให้หมด ซึ่งชื่อผมโดนแบล็กลิสต์!!

ต้องหนีหัวซุกหัวซุนขนาดไหน เมื่อเจอพิษการเมือง

ยุคนั้นนักศึกษาและครูบาอาจารย์เข้าป่าเยอะ เราเป็นกองเชียร์อยู่ข้างนอกก็โดนด้วย รู้สึกไม่ปลอดภัยแล้ว มีสิทธิ์ถูกจับติดคุกทหาร จึงหนีไปอเมริกาโชคดีน้องสาวเป็นพยาบาลอยู่อเมริกา จึงสามารถขอกรีนการ์ด และยังให้สิทธิพ่อแม่พี่น้องได้กรีนการ์ดด้วย ผมไปอยู่แอลเอ 2 ปี ไม่คิดว่าจะได้กลับเมืองไทยแล้ว

ตอนหนีไปอยู่อเมริกา ใช้ชีวิตปากกัดตีนถีบขนาดไหน

ผมมีเงินสะสมแสนกว่าบาท สมัย 40 กว่าปีที่แล้วถือว่ามากพอควร ตอนอยู่แอลเอ เพื่อนชวนให้เขียนการ์ตูนในหนังสือพิมพ์เสรีชน เลยเปลี่ยนลายเส้นเปลี่ยนนามปากกาใหม่เป็น “บุญมา ชิคาโก” เพื่อเบนความสนใจ เพราะได้ข่าวจะแบล็กลิสต์คนต่อต้านรัฐบาลไม่ให้กลับเมืองไทย

ตอนนั้นตัวละคร “ผู้ใหญ่มา” ถือกำเนิดหรือยังคะ

เพิ่งจะเขียนการ์ตูน “ผู้ใหญ่มากับทุ่งหมาเมิน” หลังกลับจากอเมริกาโดย “โรจน์ งามแม้น” ได้เลื่อนเป็นหัวหน้ากอง บก.เดลินิวส์ โทร.ไปตามว่า ชัยกลับเมืองไทยไหม เมืองไทยเริ่มมีเสรีภาพ และรัฐบาล “ธานินทร์ กรัยวิเชียร” โดนปฏิวัติแล้ว อย่างน้อยก็เป็นประชาธิปไตยครึ่งใบ การปฏิบัติต่อสื่อค่อนข้างอะลุ่มอล่วย ผมเลยตัดสินใจกลับเมืองไทย เพราะอยู่โน่นก็เป็นประชาชนชั้นสอง

พอกลับเมืองไทย สถานการณ์บ้านเมืองปลอดโปร่งจริงไหม

ทางเดลินิวส์ให้ผมกลับมาเขียนการ์ตูน 3 ช่อง ในคอลัมน์ “งิ้วการเมือง” เป็นแนวเสียดสีล้อเลียนการเมือง ดังตั้งแต่ยุคก่อน6 ตุลา โดยมี “พี่ปรีชา สามัคคีธรรม” เป็นคนเขียนบท ส่วนผมเขียนการ์ตูน แต่ผมเบื่อรอบทจากคนอื่น จึงขอเขียนบทเองและวาดการ์ตูนเอง โดยใช้ชื่อ “ผู้ใหญ่มากับทุ่งหมาเมิน”

ชื่อ “ผู้ใหญ่มากับทุ่งหมาเมิน” จุดประกายไอเดีย จากไหน

สถานการณ์เมืองไทยยังเป็นประชาธิปไตยครึ่งใบ จะเขียนล้อการเมืองตรงๆไม่ได้ ก็คิดว่าน่าจะจำลองเหตุการณ์บ้านเมืองขึ้นมาลักษณะเดียวกับ “อาจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์” เคยเขียนเรื่องสั้นวิจารณ์รัฐบาลในยุค “จอมพลถนอม กิตติขจร” ใช้นามปากกาว่า “นายเข้ม เย็นยิ่ง” ผมสมมติว่าทุ่งหมาเมินคือประเทศไทย ผู้ใหญ่บ้านคือนายกรัฐมนตรี หรือตัวแทนชนชั้นปกครอง ส่วนไอ้จ่อยเป็นลูกบ้านคอยโต้เถียง กับผู้ใหญ่มา แล้วก็จับข่าวแต่ละวันมาล้อ เขาให้ลองเขียนเป็นการ์ตูน 3 ช่องทุกวัน เขียนได้เดือนหนึ่งติดตลาด ตัวละครตัวอื่นค่อยตามมา ผมตั้งคอนเซปต์ว่าตัวละครแต่ละตัวคือตัวแทนของกลุ่มคนในสังคม เขียนอยู่ 3 เดือน เกิดปัญหาภายในเดลินิวส์ “โรจน์ งามแม้น” ลาออก ผมกับ “ว.ณ เมืองลุง” นั่งกินเหล้าอยู่ เพื่อนยื่นมือให้จับบอกว่าใครกลับเดลินิวส์คนนั้นเป็นหมา!! เอ้าออกก็ออกด้วยกัน

ย้ายค่ายจากเดลินิวส์มาอยู่ไทยรัฐ ถูกจำกัดเสรีภาพการทำงานไหม

พอมาอยู่ไทยรัฐป๊ะบอกให้เอา “ผู้ใหญ่มากับทุ่งหมาเมิน” มาเขียนต่อ โดยป๊ะให้เสรีภาพเต็มที่ เพียงแต่เราต้องรู้ด้วยปฏิภาณไหวพริบว่าไม่ควรแตะคนที่เกื้อหนุนไทยรัฐ ก็มีบ้างที่อึดอัดในการทำงาน แต่ยอมรับสภาพ ว่าไปอยู่ไหนต้องเจอปัญหาหมด มีโอกาสก็ตอดนิดตอดหน่อยตามประสา แต่ไม่จองล้างจองผลาญใคร

ชีวิตนี้ภูมิใจกับผลงานชิ้นไหนที่สุด

ถือเป็นเกียรติยศสูงสุดที่ได้มีโอกาสถวายงานในหลวง รัชกาลที่ 9 เขียนการ์ตูนประกอบพระราชนิพนธ์เรื่องทองแดง และพระมหาชนก นอกจากนี้ ยังได้รับรางวัลหลายแขนง ทั้งรางวัลผู้มีผลงานดีเด่นด้านศิลปวัฒนธรรมสาขาสื่อสารมวลชน จากสำนักงานวัฒนธรรมแห่งชาติ และเป็นนักเขียนการ์ตูนไทยคนเดียวที่มีชื่อตีพิมพ์ประวัติลงใน The World Encyclopedia of Comics

อะไรทำให้ “ชัย ราชวัตร” เป็นที่นิยมมาตลอด 4 ทศวรรษ ที่ปักหลักอยู่ไทยรัฐ

ผมติดตามข่าวการเมืองตั้งแต่เด็ก ที่เข้ามาเขียนการ์ตูนเพราะชอบการเมือง คนอ่านมาอ่านความคิดของคนเขียน ไม่ใช่มาดูรูป เสน่ห์ของอาชีพเขียนการ์ตูนอยู่ที่อารมณ์ขัน ถ้าไม่มีอารมณ์ขันคนไม่ติดตาม วาดสวยไม่สวยไม่สำคัญเท่ามุก เขียนแล้วคนต้องขำและคม แต่ยอมรับว่าไม่ได้คมทุกวันหรอก มันก็มีจืดบ้าง ผมไม่อยากวางปากกาตอนหมดไฟ ไม่อยากถึงวันที่คนบอกว่าเมื่อไหร่จะเลิก ผมจะไม่เขียนการ์ตูนเพื่อเอาใจคนอ่าน ตลอดชีวิตการเขียนการ์ตูน ผมไม่เคยเป๋ไม่เคยกลับข้าง ผมยืนหยัดชัดเจนเสมอ

“ชัย ราชวัตร” เลือกอยู่ข้างอะไร

ผมเลือกอยู่ข้างความถูกต้องมาตลอดชีวิต ผมจะโกรธมากถ้าใครบอกว่าผมเขียนการ์ตูนเป็นกลาง เพราะกูไม่เคยเป็นกลาง!! ผมเลือกอยู่ข้างความถูกต้องเท่านั้น คนทำหนังสือพิมพ์อยู่ใกล้ข่าวสารข้อมูล ฉะนั้น เราต้องเลือกว่าอะไรดีไม่ดี ต้องมีจุดยืนชัดเจน ไม่ว่าบ้านเมืองจะวิกฤติยังไงใครจะด่าว่ายังไง ผมสามารถอธิบายเหตุผลได้ว่าทำไมถึงเลือกข้างนี้ ไม่ใช่เลือกเพราะเสน่หาส่วนตัว

อะไรคือความถูกต้องในทัศนะของ “ชัย ราชวัตร”

ไม่มีผลประโยชน์ส่วนตัว ยึดอุดมการณ์ทำเพื่อชาติบ้านเมือง ผมยอมรับว่าไม่มีใครสมบูรณ์แบบ แต่อย่าโกงกินคอร์รัปชัน อันนี้รับไม่ได้!! คนไหนที่เราคิดว่าควรอนุรักษ์ไว้ คนไหนเราควรช่วยขจัดออกไปจากบ้านเมือง ต้องมองสิ่งเหล่านี้ให้ออก อาชีพนี้หวานอมขมกลืน แต่ผมก็ยืดอกมองหน้าใครได้อย่างสนิทใจแน่นอน เพราะ 40 กว่าปีในวงการสื่อ ผมไม่เคยแปดเปื้อนเรื่องหาประโยชน์ ไม่เคยเอาชื่อไทยรัฐไปหากินที่ไหน ผมมาอย่างคลีนและจะไปอย่างคลีน

ถามจริงๆ “ชัย ราชวัตร” พยายามชี้นำสังคมไหม

ชี้!! เราต้องบอกความจริงให้สังคม ถ้าเราเห็นสังคมกำลังเดินผิดทาง แล้วไม่ชี้นำ เราก็ไม่ควรทำหน้าที่สื่อ!! ถ้าเราคิดถึงแต่ความปลอดภัยก็ควรไปทำอาชีพอื่นที่ไม่ต้องเสี่ยง ในยุคหลังๆเวลาเจออะไรเข้าก็ไม่กล้าเขียน โดยอ้างว่าสื่อต้องเป็นกลาง ความเป็นกลางคือข้ออ้างของคนขี้ขลาด!!

ถึงจะลาออกจากไทยรัฐ แต่ “ชัย ราชวัตร” ก็ไม่ทิ้ง พวกเราใช่ไหม

ผมยังแสดงความคิดเห็นเหมือนเดิม แต่เปลี่ยนจากหนังสือพิมพ์ไปแอ็กทีฟในสื่อโซเชียลมีเดีย แฟนคลับอาจน้อยลง แต่เราสบายใจกว่า ผมไม่กล้ารับปากว่า “ผู้ใหญ่มากับทุ่งหมาเมิน” จะไม่กลับมาอีก ถ้าสถานการณ์บ้านเมืองชวนให้ต้องออกมา “ชัย ราชวัตร” ก็คงออกมาทำหน้าที่อีกครั้ง!!

ทีมข่าวหน้าสตรีไทยรัฐ