ปวดท้อง ท้องอืด แน่นท้อง อาการ ธรรมดาๆที่มีส่วนเกี่ยวพันกับหลายโรค เช่น โรคกระเพาะอาหาร โรคกรดไหลย้อน และที่หลายคนอาจนึกไม่ถึง นั่นก็คือ อาการของนิ่วในถุงน้ำดี ที่โดยทั่วไปแล้วอาจจะไม่มีอาการแสดงเด่นชัดทำให้ไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้อง มารู้ตัวอีกทีก็ตอนที่ก้อนนิ่วหลุดไปอุดตันจนเกิดการอักเสบ ซึ่งนอกจากจะเสี่ยงต่อการติดเชื้อในช่องท้องแล้ว ยังอาจถึงขั้นทำให้เสียชีวิตได้

นพ.ชนินทร์ ปั้นดี ศัลยแพทย์ด้านการผ่าตัดผ่านกล้อง ศูนย์ศัลยกรรม โรงพยาบาล กรุงเทพ กล่าวว่า ปกติแล้วภาวะนิ่วในถุงน้ำดีพบได้บ่อยถึง 10-15% โดยเฉพาะผู้หญิงวัย 40 ปีขึ้นไป หลายคนพบนิ่วในถุงน้ำดีเมื่อมาตรวจสุขภาพ บางคนมีญาติพี่น้องตรวจพบนิ่ว บ้างอยู่ในวัยทำงานไม่มีเวลาดูแลตนเองด้านอาหารการกินและสุขภาพ และยังเป็นโรคที่เกิดภาวะแทรกซ้อนได้ โดยช่วง แรกอาจมีอาการไม่มาก แต่หากปล่อยทิ้งไว้จนเกิดการอุดตันอักเสบส่งผลให้ถุงน้ำดีอักเสบเฉียบพลัน ซึ่งเป็นภาวะฉุกเฉินที่พบได้ 20% ของผู้ป่วยที่เป็นนิ่วที่มีอาการแต่ไม่ได้รักษา

สาเหตุของถุงน้ำดีอักเสบแบ่งออกเป็นสองกลุ่มหลักๆ คือ

...

 

1.ถุงน้ำดีอักเสบจากนิ่ว เป็นสาเหตุของโรคถุงน้ำดีอักเสบ กลุ่มนี้ พบมากถึง 95% โดยอาจเกิดจากก้อนนิ่วในถุงน้ำดี (gallstone) หรือตะกอนของถุงน้ำดี (biliary sludge) ไปอุดตันทางออกถุงน้ำดี (cystic duct) จนทำให้เกิดการติดเชื้อและอักเสบ และอาจทำให้เกิดถุงน้ำดีเป็นหนอง ถุงน้ำดีขาดเลือดเกิดเนื้อตายเน่า ถุงน้ำดีแตกทะลุ ท่อน้ำดีติดเชื้อ หรือติดเชื้อในกระแสเลือด มีอันตรายร้ายแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้

2.ถุงน้ำดีอักเสบจากสาเหตุอื่น พบได้ประมาณ 5% เช่น ถุงน้ำดีได้รับอุบัติเหตุฉีกขาด ถุงน้ำดีหรือท่อน้ำดีเกิดเนื้องอก ท่อน้ำดีตีบตันจากพังผืด การทำงานที่ผิดปกติของถุงน้ำดีในผู้ป่วย ICU ผู้ป่วยสูงอายุที่มีเส้นเลือดเสื่อม ติดเชื้อ หรือได้รับอาหารทางเส้นเลือดนานๆ

คุณหมอชนินทร์ บอกว่า ผู้ป่วยที่เป็นโรคถุงน้ำดีอักเสบเฉียบพลัน (Acute Cholecystitis) จะมาด้วยอาการปวดท้องรุนแรง จุก เสียดแน่นท้องบริเวณลิ้นปี่หรือใต้ชายโครงขวา โดยเฉพาะเวลาหายใจเข้าลึกๆ จะปวดมาก หากเป็นมากในบางรายอาจมีภาวะดีซ่าน ตัวเหลือง ตาเหลืองปัสสาวะเหลืองเข้ม อุจจาระสีซีดเนื่องจากน้ำดีไหลลงลำไส้ไม่ได้จนย้อนเข้ากระแสเลือด หรือเมื่อถุงน้ำดีแตกทะลุ ผู้ป่วยจะมีไข้หนาวสั่น คลื่นไส้อาเจียน กล้ามเนื้อหน้าท้องแข็งปวดบิดเกร็งเป็นพักๆ อาจมีปวดร้าวไปยังหัวไหล่ขวาหรือหลัง เจ็บทุกส่วนของช่องท้อง หากมีอาการดังกล่าวควรรีบพบแพทย์อย่างเร่งด่วน

“การมาพบแพทย์ในกรณีดังกล่าว แพทย์จะซักถามอาการ ตรวจร่างกาย ตรวจเลือด และทำอัลตราซาวนด์ช่องท้องส่วนบนเพื่อวินิจฉัยแยกจากโรคอื่นที่ทำให้เกิดอาการปวดท้องที่คล้ายกัน เช่น โรคกระเพาะอาหาร อักเสบ ตับอ่อนอักเสบ ผู้ป่วยบางรายอาจมีนิ่วอุดตันในท่อน้ำดีหลักร่วมด้วย อาจจำเป็นต้องตรวจทางเดินน้ำดีด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าเพิ่มเติม” ศัลยแพทย์ด้านการผ่าตัดผ่านกล้องให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า โดยทั่วไปถุงน้ำดีอักเสบเป็นโรคที่รักษาให้หายได้ภายใน 1-2 สัปดาห์ ถ้าผู้ป่วยมีอาการภายใน 1 สัปดาห์แพทย์มักจะแนะนำให้ทำการผ่าตัด แต่หากผู้ป่วยมีภาวะแทรกซ้อน เกิดถุงน้ำดีอักเสบรุนแรง แพทย์จะให้ยาปฏิชีวนะหรือเจาะถุงน้ำดีใส่สายระบายการติดเชื้อ ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของแพทย์

คุณหมอชนินทร์ อธิบายว่า วิธี การผ่าตัดถุงน้ำดีอาจทำได้โดย ผ่าตัดถุงน้ำดีแบบเปิดหน้าท้อง ซึ่งเป็นวิธีผ่าตัดแบบดั้งเดิม ปัจจุบันแพทย์จะเลือกใช้ในกรณีที่ถุงน้ำดีมีอาการอักเสบมากหรือแตกทะลุ และ การผ่าตัดถุงน้ำดีแบบผ่านกล้อง

“ปัจจุบันการผ่าตัดผ่านกล้อง ที่เรียกว่า Lapar– oscopic Cholecystectomy ได้กลายเป็นวิธีผ่าตัดมาตรฐาน ซึ่งต้องทำโดยศัลยแพทย์ที่ได้รับการฝึกอบรมมาเฉพาะและมีความชำนาญสูง เนื่องจากการผ่าตัดแบบผ่านกล้องในภาวะที่มีการอักเสบของถุงน้ำดีทำได้ยาก”

คุณหมอชนินทร์ อธิบายวิธีการผ่าตัดผ่านกล้องว่า แพทย์จะเจาะรูขนาดเล็กบริเวณหน้าท้องด้วยเครื่องมือ จากนั้นจึงใส่กล้องเข้าไปเลาะถุงน้ำดีให้หลุดออกจากตับ ตัดขั้วของถุงน้ำดี แล้วนำถุงน้ำดีที่ตัดใส่ถุงปลอดเชื้อออกมาทางสะดือ หลังผ่าตัดแผลมีขนาดเล็ก อาการปวดแผลน้อยกว่าการผ่าตัดแบบเดิม ลดอัตราการเกิดภาวะแทรกซ้อน ผู้ป่วยสามารถลุกเดินได้ภายใน 4-6 ชั่วโมงหลังผ่าตัด ผู้ป่วยจะอยู่โรงพยาบาลเพียง 1-2 วัน ฟื้นตัวเร็ว และกลับไปทำงานได้เร็วขึ้น

จุดเด่นของการรักษา คือ การรักษาโดยทีมแพทย์ที่มีความชำนาญ ร่วมกับ เทคนิคการผ่าตัดแผลเล็ก และ การนำเอาเทคโนโลยีผ่าตัดที่คมชัดสูงผ่านกล้องแบบ 3 มิติ (3D) หรือใช้กล้องชนิดที่ให้ความละเอียดของภาพในระดับ 4K เข้ามาใช้ช่วยให้แพทย์สามารถเห็นภาพถุงน้ำดีและอวัยวะต่างๆในมิติลึกได้ดียิ่งขึ้น ส่งผลให้การผ่าตัดมีความแม่นยำมากขึ้นลดความเสี่ยงที่ถุงน้ำดีรั่วแตก หรือเลือดออกขณะผ่าตัด การตัดถุงน้ำดีที่มีการอักเสบหรือพังผืดเกาะติดเป็นการผ่าตัดที่ค่อนข้างยากและมีความเสี่ยงสูง อาจส่งผลกระทบต่ออวัยวะใกล้เคียง เช่น ตับ ลำไส้ หรือท่อน้ำดี เกิดภาวะน้ำดีรั่วหลังผ่าตัด หรือท่อน้ำดีถูกผูก ฯลฯ

ปัจจุบันการผ่าตัดผ่านกล้องในภาวะที่มีการอักเสบของถุงน้ำดี ไม่เพียงแผลมีขนาด เล็ก เจ็บน้อย ผู้ป่วยฟื้นตัวและกลับมาใช้ชีวิตประจำวันได้เร็ว ยังจะช่วยป้องกันไม่ให้เกิดภาวะแทรกซ้อนต่างๆได้อีกด้วย จากการเก็บข้อมูลของศูนย์ศัลยกรรม โรงพยาบาลกรุงเทพ พบว่า93% ของคนไข้ที่เข้ารับการผ่าตัดผ่านกล้อง นิ่วในถุงน้ำดีเมื่อปี พ.ศ.2561 สามารถผ่าตัดผ่านกล้องได้สำเร็จแม้ในรายที่มีการอักเสบเฉียบพลันก็ตาม อัตราการบาดเจ็บที่ท่อน้ำดีหลัก และการติดเชื้อหลังผ่าตัดในรายที่ไม่มีการอักเสบเฉียบพลัน เท่ากับ 0%

สำคัญคือ การผ่าตัดผ่านกล้องเพื่อรักษาถุงน้ำดีอักเสบ ควรได้รับการดูแลโดยแพทย์ผู้ชำนาญการและทีมสหสาขาวิชาชีพ เพื่อให้ผู้ป่วยกลับไปมีคุณภาพชีวิตที่ดีโดยเร็ว.