สมาคมผู้บริหารโรงเรียนมัธยมศึกษาแห่งประเทศไทยออกแถลงการณ์ ไม่สนับสนุนรัฐบาลใช้อำนาจบังคับใช้กฎหมายการศึกษาแห่งชาติ เนื่องจากไม่เห็นด้วยในเนื้อหาสาระของร่างกฎหมายนี้ เพราะในการร่างกฎหมาย ไม่มีข้าราชการครูและผู้เกี่ยวข้องด้านการศึกษามีส่วนร่วมในการเสนอความเห็นต่างๆ อีกทั้งไม่ดำเนินการ ตามรัฐธรรมนูญที่ให้รับฟังความคิดเห็นจากประชาชน

สมาคมผู้บริหารโรงเรียนมัธยมขวางรัฐบาลใช้อำนาจกับฝ่ายบริหารครั้งนี้มีขึ้นเมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 8 พ.ค. ที่ห้องประชุม โรงแรมโลตัส ปางสวนแก้ว อ.เมืองเชียงใหม่ สมาคมผู้บริหารโรงเรียนมัธยมศึกษาแห่งประเทศไทย (ส.บ.ม.ท.) พร้อมสมาชิกซึ่งเป็นผู้บริหารโรงเรียนมัธยมทั่วประเทศกว่า 2,400 คน ได้ประชุมใหญ่สามัญประจำปี 2561 ครั้งที่ 48 และในงานยังมีการสัมมนาทางวิชาการเรื่อง “การมัธยมศึกษาไทยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” โดยมีนายพีระ รัตนวิจิตร รองเลขาธิการคณะกรรมการศึกษาขั้นพื้นฐานเป็นประธานเปิดงาน

ก่อนจะมีการประชุม นายรัชชัยย์ ศรสุวรรณ นายก ส.บ.ม.ท.ได้ออกแถลงการณ์เรื่อง “สมาคมผู้บริหารโรงเรียนมัธยมศึกษาแห่งประเทศไทยเรื่อง ไม่สนับสนุนให้รัฐบาลใช้อำนาจฝ่ายบริหาร ตราพระราชกำหนด บังคับใช้กฎหมายการศึกษาแห่งชาติ” ในใบแถลงการณ์สรุปใจความได้ว่า ตามที่คณะกรรมการปฏิรูปประเทศไทยด้านการศึกษาได้จัดทำร่างพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติแล้วเสนอให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณาประกาศใช้เป็นกฎหมายแต่เนื่องจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติได้ปิดสมัยประชุมไปก่อน ทางคณะกรรมการปฏิรูปประเทศไทยด้านการศึกษา (กอปศ.) จึงพยายามที่จะเสนอให้รัฐบาลใช้อำนาจตรามาตรา 172 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2562 โดยให้มีการตราพระราชกำหนดให้มีการบังคับใช้กฎหมายการศึกษาฉบับดังกล่าวนั้น

...

ทางสมาคมผู้บริหารโรงเรียนมัธยมศึกษาแห่งประเทศไทยไม่เห็นด้วยกับการดำเนินการของคณะกรรมการการปฏิรูปประเทศไทยด้านการศึกษาและไม่เห็นด้วยกับเนื้อหาสาระของการร่างกฎหมายการศึกษา อีกทั้งไม่เห็นด้วยกับกระบวนการพิจารณาเกี่ยวกับร่างกฎหมายฉบับนี้ สำหรับร่างพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติฉบับที่เสนอให้รัฐบาลพิจารณาบังคับใช้โดยตราเป็นพระราชกำหนดนั้นเป็นร่างพระราชบัญญัติที่ไม่มีข้าราชการครูมีส่วนร่วมในการพิจารณาเสนอความคิดเห็นต่างๆเป็นเรื่องของการศึกษาของชาติที่ให้ข้าราชการครูเป็นผู้มีประสบการณ์มีความรู้ความเข้าใจ เนื่องจากเป็นผู้ปฏิบัติโดยตรงและร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติดังกล่าวมีความเกี่ยวข้องกับข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาทุกรายในร่างพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติฉบับดังกล่าวไม่ได้ดำเนินการตามที่มีบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 มาตรา 77 ที่บัญญัติไว้ว่าก่อนการออกกฎหมายทุกฉบับรัฐต้องจัดรับฟังความเห็นของผู้เกี่ยวข้อง วิเคราะห์ ผลกระทบที่เกิดจากกฎหมายรวมทั้งเปิดเผยผลการรับฟังความคิดเห็นต่อประชาชนเรื่องนี้ ถึงแม้ว่าคณะกรรมการกฤษฎีกาจะแจ้งให้ประชาชนทั่วไปและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องแสดงความคิดเห็นผ่านทางเว็บไซต์ของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตั้งแต่วันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2562 ถึงวันที่ 12 มีนาคม 2562 แต่การเปิดให้ประชาชนแสดงความคิดเห็นดังกล่าวไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของกฎหมายและยังเป็นการดำเนินการไม่ครบองค์ประกอบที่ได้บัญญัติไว้ในมาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญ

ขณะที่นายรัชชัยย์ ศรสุวรรณ นายกสมาคมผู้บริหารโรงเรียนมัธยมศึกษาแห่งประเทศไทย กล่าวว่า หากมีการบังคับใช้กฎหมายการศึกษาฉบับนี้โดยอาศัยช่องทางในเรื่องการออกเป็นพระราชกำหนด ทางสมาคมจะดำเนินการดังนี้คือ ยื่นฟ้องต่อศาลรัฐธรรมนูญและผู้ตรวจการแผ่นดินให้ดำเนินการให้มีการยกเลิกเพิกถอนและร่วมกลุ่มกับองค์กรครูอื่นๆตามที่เห็นสมควรในการจัดกิจกรรมอันเป็นสัญลักษณ์ของการไม่เห็นด้วยและยื่นเรื่องต่อพรรค การเมืองทุกพรรคเพื่อลงมติในสภาผู้แทนราษฎรไม่ผ่านกฎหมายฉบับนี้และดำเนินการแสดงพลังครูทั้งประเทศในเรื่องการเดินทางไปประชุมที่กรุงเทพฯเพื่อเรียกร้องให้มีการพิจารณายกเลิกกฎหมายการศึกษานี้ ขณะเดียวกันในที่ประชุมสมาชิกกว่า 2,400 คน ต่างยกมือไม่เห็นด้วยต่อการบังคับใช้กฎหมายการศึกษาแห่งชาติฉบับนี้เช่นกัน