เจ้าหน้าที่ส่วนอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติ บุกรวบตัวยูทูบเบอร์ทำคลิปต้มยำงูสิง ชี้ผิดกฎหมาย พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พร้อมบอกเหตุผลทำไมถึงเอาไปทำอาหารไม่ได้
วันที่ 4 พ.ค.62 แฟนเพจ ส่วนประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช โพสต์ภาพและข้อความว่า เมื่อวันที่ 1 พ.ค.ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ส่วนอนุรักษ์สัตว์ป่า สบอ.15 ร่วมกับเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ลงพื้นที่ตรวจสอบตามข้อร้องเรียนสายด่วน 1362 หลังมีรายการเผยแพร่คลิปฆ่างูสิงเพื่อทำอาหาร
คณะเจ้าหน้าที่ได้เดินทางไปยังบ้านของผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 3 ต.แม่กา อ.เมือง จ.พะเยา ซึ่งผู้ใหญ่บ้านได้เชิญตัวผู้ที่อยู่ในคลิป จำนวน 2 คน จากทั้งหมด 5 คนมาสอบถามข้อเท็จจริง โดยผู้ที่อยู่ในคลิป 2 คน ยอมรับว่าได้ร่วมกันกระทำการฆ่างูสิงและช่วยกันประกอบอาหารจริงตามคลิป
เจ้าหน้าที่จึงได้ทำการบันทึกปากคำและนำบุคคลทั้งสองไปชี้ยังจุดเกิดเหตุและนำตัวส่งพนักงานสอบสวนเพื่อดำเนินคดีตามความผิด พ.ร.บ.สัตว์ป่าฯ ที่ สภ.แม่กา อ.เมือง จ.พะเยา ตาม ปจว.ข้อ 2 ลว. 30 เม.ย.62 คดีที่ 178/62
ทั้งนี้ ทางเพจระบุเพิ่มเติมว่า "เดิมทีงูสิงไม่ได้ถูกบรรจุให้เป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง แต่เนื่องจากหลายสิบปีที่ผ่านมามีการจับงูสิงเพื่อส่งออกจำนวนมาก เพื่อถลกหนังขาย หรืออาจนำไปเป็นอาหาร ขณะเดียวกันชาวบ้านมักนิยมจับงูสิงเป็นอาหารด้วยเช่นกัน เพราะมีพิษอ่อน แต่เนื่องจากงูสิงมีความสำคัญต่อระบบนิเวศ หากมีการจับหรือล่าจนมากเกินไป จะส่งผลต่อระบบนิเวศและห่วงโซ่อาหารได้ เพราะงูสิงจะคอยควบคุมประชากร เช่น หนูที่ทำลายพืชผลการเกษตร รวมทั้งสัตว์ฟันแทะด้วย ดังนั้นเมื่อปริมาณงูสิงเริ่มลดลง กรมอุทยานฯ จึงได้บรรจุงูสิงเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง ตาม พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2535 ฝ่าฝืนมีโทษจำคุก 4 ปี ปรับไม่เกิน 40,000 บาท"
...
อนึ่ง สัตว์ป่าคุ้มครองจำพวกสัตว์เลื้อยคลาน ประเภท งู มีดังนี้
1. งูเขียวกาบหมาก
2. งูจงอาง
3. งูทางมะพร้าวเขียว
4. งูทางมะพร้าวดำ หรือ งูทางมะพร้าวมลายู หรือ งูหลุนชุน
5. งูทางมะพร้าวแดง
6. งูทางมะพร้าวลายขีด
7. งูทางมะพร้าวหางดำ หรือ งูใบ้ หรือ งูทางมะพร้าวถ้ำ
8. งูสิง
9. งูสิงหางดำ
10. งูสิงหางลาย หรือ งูสิงลาย
11. งูแสงอาทิตย์
12. งูหลาม
13. งูหลามปากเป็ด
14. งูเหลือม
(ภาพและข้อมูลจาก แฟนเพจ ส่วนประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช)