วงสัมมนาวิชาการ เสนอแก้ปัญหา "ฝุ่นพิษ" ต้องจริงจังร่วมมือกันทุกภาคส่วน
เมื่อวันที่ 23 เม.ย. 62 ศ.ดร. ศิวัช พงษ์เพียจันทร์ ประธานสภาคณาจารย์สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ หรือ นิด้า กล่าวว่า มลพิษในชั้นบรรยากาศของประเทศในทวีปต่างๆ เปรียบเทียบให้เห็นอย่างชัดเจนว่า กลุ่มประเทศที่ยังไม่มีกฎหมายอากาศสะอาดรวมทั้งสำนักพิทักษ์สิ่งแวดล้อม ส่วนใหญ่ล้วนแล้วแต่มีค่ามลพิษสูงเกินมาตรฐานด้วยกันทั้งสิ้น เช่น กลุ่มประเทศลาตินอเมริกา กลุ่มประเทศตะวันออกกลาง กลุ่มประเทศในแอฟริกา และหลายประเทศในเอเชีย
จากข้อมูลขององค์การอนามัยโลก หรือ WHO ยังพบว่า จำนวนผู้เสียชีวิตจากมลพิษทางอากาศทั่วโลกมีจำนวนสูงถึงปีละ 7 ล้านคน ทั้งนี้ WHO ได้มีการประเมินตัวเลขของผู้เสียชีวิตจากมลพิษทางอากาศในกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ไว้สูงถึงเกือบ 2 ล้านคน
โดยความจำเป็นของการได้มา ซึ่งกฎหมายอากาศสะอาดว่าจำเป็นต้องผ่านกระบวนการมีส่วนร่วมจากภาคประชาชนอย่างแท้จริงในลักษณะ Bottom up มิใช่การออกแบบในลักษณะ Top down โดยกลุ่มอำนาจของเครือข่ายภาครัฐ กฎหมายอากาศสะอาดจึงจะเป็นเครื่องมือที่ช่วยลดปริมาณการสะสมของมลพิษในชั้นบรรยากาศได้อย่างมีประสิทธิภาพและมีประสิทธิผล
ทางด้าน ดร.นพ.วิรุฬ ลิ้มสวาท จากสำนักวิจัยสังคมและสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข ที่ได้ทำการทบทวนข้อมูลและหลักฐานทางวิชาการที่เพิ่มขึ้นในปัจจุบันสำหรับการร่าง White Paper ฉบับนักวิชาการภาคประชาชนเพื่อนำไปสู่การจัดทำกฎหมายอากาศสะอาด นพ.วิรุฬ ได้ยืนยันอย่างหนักแน่นว่ามลพิษทางอากาศมีอันตรายร้ายแรงต่อสุขภาพ
โดยเฉพาะฝุ่น PM 2.5 ที่สามารถถูกสูดเข้าไปสะสมในถุงลมฝอยของปอดหรือแทรกซึมเข้าสู่กระแสโลหิตและกระจายสารพิษไปทั่วร่างกาย ซึ่งกลุ่มเสี่ยงสำคัญคือ ผู้ป่วยเรื้อรังโรคปอดหรือโรคหัวใจและหลอดเลือด เช่น หอบหืด ถุงลมโป่งพอง เส้นเลือดหัวใจหรือเส้นเลือดสมองตีบ ที่จะมีอาการกำเริบหรือเสียชีวิตเฉียบพลัน
...
นอกจากนี้ เด็ก ๆ ที่ปอดจะถูกทำลายก่อนจะเติบโตสมบูรณ์เมื่ออายุ 20 ปี และผู้สูงอายุที่จะป่วยเป็นโรคปอด รวมถึงมะเร็งปอดเพิ่มมากขึ้น ดังนั้นหากไม่มีการดำเนินการกับการลดมลพิษทางอากาศอย่างจริงจัง ในอนาคตประเทศไทยจะเต็มไปด้วยประชากรที่เจ็บป่วย เป็นสังคมผู้สูงอายุที่อ่อนแอ
นอกจากนี้ สถานการณ์ฝุ่นพิษในประเทศไทย ยังเป็นปัญหาความไม่เป็นธรรมทางสุขภาพ ที่เราทุกคนหายใจในอากาศเดียวกัน แต่ได้รับผลกระทบไม่เท่ากัน เนื่องจากความเหลื่อมล้ำของการเข้าถึงข้อมูลและความรู้
โดยเฉพาะการเข้าถึงข้อมูลระดับมลพิษ ทั้งด้วยพื้นที่นั้นไม่มีเครื่องตรวจวัดค่าฝุ่น PM2.5 หรือมีแต่เสียบ่อย ประชาชนจึงต้องใช้ชีวิตอยู่ในอากาศที่เป็นพิษ โดยไม่ได้รับรู้ ไม่ได้รับคำแนะนำที่เหมาะสม หรือถึงแม้จะเข้าถึงข้อมูลและความรู้
ทั้งนี้ ก็ยังพบปัญหาความเหลื่อมล้ำของการเข้าถึงอุปกรณ์ป้องกันโดยเฉพาะหน้ากาก N-95 และเครื่องฟอกอากาศที่มีราคาสูงมาก เมื่อเทียบกับรายได้และค่าครองชีพของประชาชนทั่วไป และความเหลื่อมล้ำระหว่างเมืองกับชนบท ที่คนในกรุงเทพฯ หรือในเมืองใหญ่ได้รับการเอาใจใส่จากรัฐมากกว่าคนในต่างจังหวัดหรือในอำเภอรอบนอก โดยเฉพาะคนชายขอบของสังคมที่ไม่ได้รับการดูแลหรือตกเป็นจำเลย
อย่างไรก็ตาม ด้วยปัญหามลพิษทางอากาศมีความซับซ้อน และมีบริบทเฉพาะของปัญหาทั้งองค์ประกอบของแหล่งกำเนิด คือ การเผาในที่โล่ง รถยนต์ และโรงงานอุตสาหกรรม และผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง การจัดการกับปัญหาจึงต้องอาศัยการมีส่วนร่วมอย่างกว้างขวางทั้งในแต่ละพื้นที่ ระดับประเทศและระดับภูมิภาค เพื่อสามารถดำเนินการไปสู่เป้าหมายร่วมที่จะมั่นใจได้ว่าทุกคนที่อาศัยอยู่ร่วมกันในสังคม มีอากาศสะอาดไว้หายใจได้อย่างเท่าเทียมกัน
ด้วยเหตุผลดังกล่าวเป้าหมายที่แท้จริงของการยกระดับคุณภาพอากาศจึงไม่ควรหยุดอยู่เพียงแค่การทำ กฎหมายอากาศสำหรับประเทศไทย หรือจัดตั้งสำนักพิทักษ์สิ่งแวดล้อมแห่งชาติ แต่ควรสานต่อไปยังความร่วมมือระดับภูมิภาคนั้นคือการจัดทำ กฎหมายอากาศสำหรับอาเซียน ซึ่ง ณ ปัจจุบัน สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ และ มาเลเซีย ได้มีกฎหมายอากาศสะอาดของตัวเองเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
(อ่านข้อมูลสัมมนาเพิ่มเติมได้ ที่นี่)