ศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ อาจารย์คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า จากการลงพื้นที่ชุมชนเมืองและชุมชนต่างจังหวัดเพื่อเก็บข้อมูลเกี่ยวกับสถาบันครอบครัว พบภาวะแทรกซ้อนของปัญหาครอบครัวคือ การก้าวเข้าสู่โลก 4.0 ซึ่งมีทั้งด้านดีและด้านลบ โดยด้านดีคือ ทำให้คนตื่นตัวและปรับตัวเข้ากับสื่อและเทคโนโลยี ขณะเดียวกัน บรรยากาศโดยรวมของประเทศและนโยบายที่มุ่งสู่การเข้าสู่สังคมเทคโนโลยี ก็ก่อให้เกิดผลด้านลบคือ ทำให้ครอบครัวห่างเหินเพิ่มขึ้น ทุกคนมีกรุ๊ปไลน์ เฟซบุ๊ก ส่วนพ่อแม่ก็ไม่มีเวลาพาเด็กไปเล่นในพื้นที่ธรรมชาติ เด็กใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่กับโทรศัพท์มือถือ ไอแพด คอมพิวเตอร์ นาน 5-7 ชั่วโมงต่อวัน พ่อแม่จะมองข้ามเรื่องการปลูกฝังคุณธรรมจริยธรรม ความเสียสละ ซึ่งพบว่า คนรุ่นใหม่ไม่บริจาคเงิน และคิดว่าตนเองเป็นศูนย์กลางของทุกเรื่องมากกว่าการจะเผื่อแผ่ให้ผู้อื่น
“ในอนาคตมีความน่าเป็นห่วงว่า เราจะเห็นการทอดทิ้งผู้สูงอายุมากขึ้น มีการทำร้ายต่างๆ เพราะว่าจิตใจไม่ได้รับการปลูกฝังแต่เล็กจากครอบครัวในเรื่องความเมตตา ความเข้าใจ ความเห็นอกเห็นใจซึ่งกันและกัน คนรุ่นใหม่จะติดอยู่กับระบบข้อมูล ระบบเอาตัวเป็นศูนย์กลาง คิดในมิติที่ตนเองได้ประโยชน์มากเกินไป ผมคิดว่าทุกคนรู้ดีว่าสถาบันครอบครัวเป็นสถาบันสำคัญ แต่ทุกคนเพิกเฉย ไม่ได้ให้องค์ความรู้หรือสร้างความเข้าใจที่จำเป็น และกลับมาสร้างความเข้มแข็งให้กับสถาบันครอบครัวมากเท่าที่ควร ดังนั้น ครอบครัวไทยจึงมีลักษณะตามมีตามเกิด ครอบครัวใครครอบครัวมัน ดูแลจัดการกันเอง สถาบันครอบครัวในประเทศไทยสั่นคลอนหนัก” ศ.ดร.สมพงษ์กล่าวและว่า สิ่งที่น่าเป็นห่วงอีกประการหนึ่งคือ พบว่าชุมชนและครอบครัวไม่มีความกระตือรือร้นในการทำงานเหมือนในอดีต ไม่เป็นแหล่งผลิตสินค้าหรือผลิตภัณฑ์ ไม่พึ่งพาตนเองเหมือนเดิม เราพบว่า ครอบครัวรอคอยเงินจากภายนอก เช่น เงินจากลูกหลาน เงินเสี่ยงดวงจากสลากกินแบ่งรัฐบาล รวมทั้งรอคอยเงินจากโครงการพลังประชารัฐ จึงน่าเป็นห่วงว่าต่อไปเทศกาลสงกรานต์และวันครอบครัว ที่เราพูดถึงการกลับไปหาครอบครัว หรือดูแลญาติผู้ใหญ่ ก็อาจจะเป็นเพียงวาทกรรมแต่ไม่เกิดขึ้นในชีวิตจริง.
...