(ภาพ : นพ.บรรลุ - ไพรวรรณ)

ปลุก "วัยชรา" สู่ "พฤฒพลัง"

11,312,447 คน จำนวนประชากรผู้สูงอายุไทย 60 ปีขึ้นไปในปี 2561

คาดการณ์อีก 2 ปีข้างหน้าประเทศไทยจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ ซึ่งจะมีผู้สูงอายุถึง 1 ใน 5 ของประชากรทั้งประเทศ หลังจากที่ได้เข้าสู่การเป็นสังคมผู้สูงวัยแล้วตั้งแต่ปี 2548 โดยมีผู้สูงอายุมากกว่าร้อยละ 10 ของประชากรทั้งหมด

ขณะที่สถานการณ์ผู้สูงอายุจากข้อมูลหน่วยงานต่างๆ สะท้อนความน่าเป็นห่วง ทั้งจาก กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) โดย พม.โพล ระบุผลสำรวจล่าสุดพบผู้สูงอายุร้อยละ 35.04 ถูกทำร้ายจิตใจ ร้อยละ 30.98 ถูกทอดทิ้ง และร้อยละ 23.5 ถูกทำร้ายร่างกาย ที่น่าตกใจผู้กระทำความรุนแรง ส่วนใหญ่ร้อยละ 52 เป็นบุคคลใกล้ชิดที่อยู่ในครอบครัว

สอดรับกับข้อมูล กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข ระบุสถิติผู้สูงอายุไทยที่ฆ่าตัวตายปี 2560 มี 801 ราย คิดเป็นร้อยละ 20.3 ของผู้ที่ฆ่าตัวตายทั้งหมด สาเหตุมาจากความสัมพันธ์กับคนใกล้ชิด เจ็บป่วยเรื้อรัง และโรคซึมเศร้า

...

สภาวการณ์ความยากลำบากของผู้สูงอายุนี้นำไปสู่การคลอดมาตรการขับเคลื่อนระเบียบวาระชาติ เรื่อง “สังคมผู้สูงอายุ” ซึ่งผ่านความเห็นชอบเป็นมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 4 ธ.ค.2561 พร้อมกำหนดให้ พม.เป็นเจ้าภาพร่วมกับกระทรวงแรงงาน กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และกระทรวงสาธารณสุข รวม 6 กระทรวง ขับเคลื่อนมาตรการระเบียบวาระชาติเรื่องสังคมผู้สูงอายุใน 6 ความยั่งยืน (Sustainable) 4 การเปลี่ยนแปลง (Change)

6 ความยั่งยืน หรือ 6S ประกอบด้วย S1 การสร้างระบบคุ้มครองและสวัสดิการผู้สูงอายุ S2 ส่งเสริมการมีงานทำและมีรายได้ของผู้สูงอายุ S3 ระบบสุขภาพเพื่อรองรับสังคมสูงอายุ S4 ปรับสภาพแวดล้อมชุมชนและบ้านให้ปลอดภัยกับผู้สูงอายุ S5 ธนาคารเวลาสำหรับการดูแลผู้สูงอายุ และ S6 การสร้างความรอบรู้ให้คนรุ่นใหม่

ส่วน 4 การเปลี่ยนแปลง หรือ 4C ประกอบด้วย C1 การยกระดับความร่วมมือเสริมสร้างพลังสังคมผู้สูงอายุ C2 การปรับเปลี่ยนกฎหมาย ระเบียบปฏิบัติ ข้อบังคับเอื้อต่อการทำงานด้านผู้สูงอายุ C3 ปฏิรูประบบข้อมูล เพื่อขับเคลื่อนงานด้านผู้สูงอายุอย่างมีประสิทธิภาพ และ C4 พลิกโฉมนวัตกรรมเพื่อลดความเหลื่อมล้ำในสังคมสูงอายุ

ไพรวรรณ
ไพรวรรณ

นางไพรวรรณ พลวัน อธิบดีกรมกิจการผู้สูงอายุ (ผส.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าการขับเคลื่อนวาระชาติสังคมผู้สูงอายุว่า “ด้านส่งเสริมการจ้างงานผู้สูงอายุ ซึ่งกระทรวงแรงงานเป็นเจ้าภาพหลัก ตั้งเป้าหมายจ้างงานผู้สูงอายุให้ได้ 1 แสนคนภายในปีนี้ ขณะนี้ดำเนินการไปได้แล้ว 4-5 หมื่นคน ด้านสุขภาพอนามัย ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขเป็นเจ้าภาพหลัก มีการทำงานเชิงรุกและเตรียมความพร้อมของคนทุกวัยในการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ การจัดทำฐานข้อมูลผู้สูงอายุ ซึ่ง ผส.ดำเนินการไปแล้วในส่วนของสถิติและข้อมูลพื้นฐานที่เชื่อมโยงกับตัวเลข 13 หลักตามบัตรประชาชน สามารถดูได้ผ่านเว็บไซต์ ผส. และขณะนี้กำลังเชื่อมฐานข้อมูลกับทุกกระทรวงที่เกี่ยวข้อง คาดว่าจะเสร็จสมบูรณ์

ปี 2563 การปรับสภาพแวดล้อม มีการจัดสถานที่ ชุมชน แหล่งท่องเที่ยวที่มีสิ่งอำนวยความสะดวกเอื้อต่อผู้สูงอายุ ซึ่งกระทรวงมหาดไทยและกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬารับผิดชอบ ธนาคารเวลา ได้นำร่อง 48 พื้นที่ใน 28 จังหวัด และกำลังจัดทำคู่มือโดยถอดบทเรียนจากพื้นที่นำร่องเพื่อขยายผลไปยังพื้นที่อื่น การเตรียมความพร้อมเด็กและเยาวชน โดยกระทรวงศึกษาธิการรับผิดชอบให้การศึกษาสร้างความตระหนักในการเข้าสู่วัยผู้สูงอายุอย่างมีคุณภาพ นวัตกรรมสำหรับผู้สูงอายุ ที่กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีรับผิดชอบ กำลังเดินหน้าอย่างต่อเนื่อง”

นพ.บรรลุ
นพ.บรรลุ

ด้าน นพ.บรรลุ ศิริพานิช ประธานมูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย อายุ 94 ปี ซึ่งได้รับการประกาศเกียรติคุณจากคณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ (กผส.) ให้เป็นผู้สูงอายุแห่งชาติประจำปี 2562 เสนอมุมมองถึงการเป็นผู้สูงอายุที่มีคุณภาพว่า “จะต้อง well prepared คือการเตรียมตัวที่ดี ประกอบด้วย 1.สุขภาพ ทั้งสุขภาพกายที่ไม่เจ็บป่วย สุขภาพจิตที่ดี รวมถึงสุขภาพทางสังคม สามารถทำกิจกรรมอยู่ร่วมกับผู้อื่นในสังคมได้ 2.มีความมั่นคง ทั้งการเงิน ด้วยการทำงานสร้างรายได้ เก็บออมเพื่อใช้ยามจำเป็น รวมทั้งต้องทำงานเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อม และยังต้องมีความมั่นคงทางครอบครัว เป็นแบบอย่าง ถ่ายทอดประสบการณ์ให้กับสมาชิกในครอบครัว และ 3.อยู่ใน สิ่งแวดล้อมที่ดี ทั้งนี้ทุกคนต้องเตรียมความพร้อมตั้งแต่ก่อนเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุสิ่งสำคัญคือต้องเตรียมตัวเอง พึ่งตนเอง อย่าหวังพึ่งแต่คนอื่น หากเรา well prepared ตั้งแต่ก่อนเป็นผู้สูงอายุ เราก็จะเป็นผู้สูงอายุอย่างมีคุณภาพ”

ทีมข่าวการพัฒนาสังคม เห็นด้วยกับการเร่งขับเคลื่อน 6 ความยั่งยืนและ 4 การเปลี่ยนแปลงรองรับสังคมผู้สูงอายุเต็มรูปแบบ

แต่เราขอสะท้อนความเป็นจริงที่คงต้องยอมรับว่าที่ผ่านมาประเทศไทยยังให้ความสำคัญในการรับมือเตรียมความพร้อมการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุไม่มากเท่าที่ควร การดำเนินงานต่างๆเป็นเพียงตั้งรับกับสถานการณ์

สิ่งที่เราอยากขอฝากทุกส่วนทั้งภาครัฐ เอกชนและสังคม คือ ทำอย่างไรที่จะสร้างความตระหนักตื่นตัวเตรียมความพร้อมรับมือตั้งแต่วัยเด็ก ขณะเดียวกันผู้สูงอายุเองก็ต้องเอาใจใส่ตนเอง เตรียมความพร้อมในการเป็นผู้สูงอายุที่มีความสุข โดยบุคคลรอบข้าง ลูกหลานต้องให้ความสุขกับผู้สูงอายุซึ่งกันและกัน อย่าเพียงหวังแต่จะรอความช่วยเหลือหรือพึ่งพิงผู้อื่น ขณะเดียวกัน ต้องมีระบบดูแลช่วยเหลือกลุ่มเปราะบางที่ไม่สามารถช่วยเหลือตนเอง โดยอาศัยคนในพื้นที่ชุมชนช่วยดูแลซึ่งกันและกัน

ร่วมกันสร้าง “พฤฒพลัง” หรือ “พลังผู้สูงอายุ” ในการขับเคลื่อนพัฒนาประเทศตามเป้าหมายมาตรการระเบียบวาระชาติ

คงเป็นเรื่องน่าเศร้าที่อาจกลายเป็นวิกฤติชาติ หากประเทศมีแต่ผู้สูงอายุไร้คุณค่า หรือเป็นแค่คนแก่กะโหลกกะลา!

ทีมข่าวการพัฒนาสังคม