ปีนี้นับเป็นอีกหนึ่งเหตุการณ์ที่ถูกบันทึกไว้ในหน้าประวัติศาสตร์โลก เมื่อนครรัฐวาติกัน ร่วมกับองค์การสหประชาชาติ (UN) ได้จัดประชุมผู้นำศาสนาในระดับสากลเกี่ยวกับ “บทบาทของศาสนาและการพัฒนาที่ยั่งยืน ของสหประชาชาติ” ขึ้น ที่นครรัฐวาติกัน
ด้วยความสัมพันธ์อันดีระหว่าง พุทธศาสนา และ คริสต์ศาสนา ที่มีมาแต่อดีตอันยาวนาน ตั้งแต่ครั้งที่ สมเด็จพระวันรัต (ปุ่น ปุณณสิริมหาเถร) เจ้าอาวาสวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม (วัดโพธิ์) ซึ่งต่อมาได้รับโปรดเกล้าฯแต่งตั้งเป็น สมเด็จพระสังฆราชองค์ที่ 17 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เดินทางไปเยือน สำนักวาติกัน ตามคำอาราธนาของ สมเด็จพระสันตะปาปาปอลที่ 6 ประมุขแห่งคริสตจักรโรมันคาทอลิก
...
ต่อมาเมื่อปี 2559 สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิส พระสันตะปาปาองค์ที่ 226 ได้ติดต่อขอความร่วมมือจากคณะสงฆ์ วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ช่วยปริวรรต คัมภีร์พระมาลัย ฉบับภาษาบาลีและภาษาไทยที่จารึกด้วยอักษรขอมโบราณให้เป็นอักษรไทยและอักษรโรมัน โดย สำนักวาติกัน จะนำไปแปลต่ออีก 7 ภาษา
สำหรับคัมภีร์มาลัยนี้เป็นของที่ระลึกที่ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ถวาย สมเด็จพระสันตะปาปาปิอุสที่ 11 เมื่อครั้งเสด็จประพาสยุโรป เมื่อปี ค.ศ.1934 (พ.ศ.2477)
คณะสงฆ์วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ใช้เวลา 2 ปี แปล พระคัมภีร์มาลัยอักษรขอม จึงเสร็จ และ นายวีระ โรจน์พจนรัตน์ รมว.วัฒนธรรม ได้นำไปถวายแด่ สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิส เมื่อกลางปี 2561
ปัจจุบัน พระคัมภีร์มาลัยอักษรขอม ที่พระสงฆ์ไทยแปลไว้ ได้มีการแปลอีก 7 ภาษา รวมภาษาไทยเป็น 8 ภาษา และจะถูกนำไปเปิดแสดงที่พิพิธภัณฑ์แห่งนครรัฐวาติกัน ให้นักท่องเที่ยวทั่วโลกได้ชมครั้งแรก กลางปีนี้
ในปีนี้ สมณกระทรวงบริการส่งเสริมการพัฒนามนุษย์แบบองค์รวม นครรัฐวาติกัน ในอาณัติของ สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิส ประมุขแห่งคริสตจักรคาทอลิก จึงได้เชิญ ประเทศไทย เป็น ผู้แทนศาสนาพุทธของโลก ไปร่วมประชุม ผู้นำศาสนาในระดับสากล ด้วย
สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ได้มีบัญชามอบหมายให้ พระพรหมบัณฑิต เจ้าอาวาสวัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร เป็นผู้แทนเดินทางไปร่วมประชุมผู้นำศาสนาในระดับสากลเกี่ยวกับบทบาทของศาสนา และการพัฒนาอย่างยั่งยืนของสหประชาชาติ ครั้งนี้ ระหว่างวันที่ 7-9 มี.ค.2562
โดยมีพระสงฆ์ร่วมคณะประกอบด้วย พระราชรัตนสุนทร, พระราชปริยัติมุนี (เทียบ) ผู้แทน พระเทพวีราภรณ์ เจ้าอาวาสวัดพระเชตุพนฯ (วัดโพธิ์) และ นายฐาปน สิริวัฒนภักดี ไวยาวัจกร วัดพระเชตุพนฯ กรรมการมูลนิธิสิริวัฒนภักดี และ กก.ผอ.ใหญ่ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน)
การจัดประชุมครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ ผู้นำศาสนาต่างๆทั่วโลก ได้นำเสนอทัศนะ และอภิปรายประเด็นต่างๆ ที่จะนำไปสู่ความร่วมมือในการพัฒนาอย่างยั่งยืน ภายใต้กรอบที่กำหนด 5 P คือ People Planet Prosperity Peace และ Partnership ตามความเชื่อ ศรัทธา
จากนั้นนำเนื้อหาการประชุมไปสู่บทสรุปจากทัศนะที่มีการแลกเปลี่ยน ความแตกต่างแต่สร้างสรรค์ เพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนให้บรรลุเป้าหมายของการพัฒนาที่ยั่งยืน ภายในปี ค.ศ.2030 (พ.ศ.2573) ตามที่ องค์การ สหประชาชาติ ได้กำหนดไว้
สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิส ทรงกล่าวสุนทรพจน์ต้อนรับผู้เข้าร่วมประชุม ความตอนหนึ่งว่า...
“ปัญหาของการพัฒนาทุกวันนี้เกิดมาจากความคิดที่คับแคบว่า การพัฒนาหมายถึงการเติบโตทางเศรษฐกิจ (Economic growth)เท่านั้น ดังนั้น ทั่วโลกจึงวัดความเจริญเติบโตด้วย GNP คือผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ ซึ่งวัดเฉพาะการเจริญเติบโตทางวัตถุ ซึ่งมักจะเกิดจากการย่ำยีธรรมชาติแวดล้อมและการเอารัดเอาเปรียบเพื่อนมนุษย์”
ขณะที่ พระพรหมบัณฑิต ได้แสดงทัศนะถึงแนวทางปฏิบัติตามหลักคำสอนของพระพุทธศาสนา ในเรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืนว่า...
“การพัฒนาที่แท้ต้องเป็นการพัฒนาแบบองค์รวมที่ครอบคลุมเป้าหมายทั้ง 3 ด้าน คือการพัฒนาด้านเศรษฐกิจ ด้านสังคมและด้านสิ่งแวดล้อมเข้าด้วยกันโดยไม่แยกจากกัน ซึ่งในประเทศไทยได้มีการนำเสนอชัดเจนเป็นรูปธรรมด้วยหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร เพื่อนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศไทย”
พร้อมทั้งหยิบยกประเด็นหุ้นส่วนสามประสานคือ “บวร” บ้าน วัด ราชการ ที่เป็นวิถีหนึ่งของพุทธศาสนาในประเทศไทย
โดยได้ยกตัวอย่างความสำเร็จของการพัฒนาแบบองค์รวมตามหลัก ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ของ ย่านกะดีจีน ซึ่งรวมชุมชน 6 ชุมชน มี ชุมชนวัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร เป็นต้นแบบ ประกอบด้วย 3 ศาสนา 4 ความเชื่อ ได้แก่ พุทธเถรวาท พุทธมหายาน คริสต์ และอิสลาม แต่สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างสงบสุขตั้งแต่สมัยกรุงธนบุรี
เป็นการพัฒนาใช้นโยบายสามประสาน คือ บ้าน (ภาคธุรกิจภาคเอกชน) + วัด (โบสถ์และมัสยิด) + ราชการ (โรงเรียนและส่วนราชการอื่นๆ) ที่ทำงานร่วมกันอย่างดีจนเป็นแบบอย่างของสังคมที่เข้มแข็งในปัจจุบัน
ที่ประชุมผู้นำศาสนาต่างๆทั่วโลก ต่างชื่นชมแนวทางปฏิบัติตามหลักคำสอนของพระพุทธศาสนาในเรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืนของไทย ที่ทุกศาสนาอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติสุข.
ทีมข่าวภูมิภาค