“อาชญากรรมบริสุทธิ์”...ของทาสชุดขาว? เป็นหัวข้อสนทนาสำคัญจากหนึ่งในกรรมการแพทยสภา ผศ.นพ.เมธี วงศ์ศิริสุวรรณ

ผศ.นพ.เมธี บอกว่า ท่ามกลางเสียงปี่เสียงกลองของการเลือกตั้งที่กำลังจะเกิดขึ้น เพื่อกวาดคะแนนเสียงในการเข้าสู่สภาของนักการเมือง หนึ่งในนโยบายอมตะที่ถูกนำมาใช้หาเสียงคือ “นโยบายสาธารณสุข”

เพราะนับแต่การก่อเกิดของ “30 บาทรักษาทุกโรค” ที่เดิม “หมอสงวน” มุ่งเฉพาะให้ “คนด้อยโอกาส” ได้เข้าถึงการรักษาพยาบาลที่มีมาตรฐานและคุณภาพ แต่ถูกนักการเมืองแปรเปลี่ยนไปเป็นโครงการประชานิยมและแจกจ่ายงบที่มีจำกัดให้กับคนที่มีฐานะดีเข้ามาร่วมทานเค้กก้อนเล็กๆ ก้อนเดียวกันนี้ด้วย

“เราจึงเห็นคนขับรถราคาหลายล้านมาแย่งรับยาราคาไม่กี่ร้อยกี่พันบาทฟรีๆ เราเห็นคนมีเงินซื้อเหล้า ซื้อแมงกะไซค์มาแต่งซิ่ง ซื้อโทรศัพท์ราคาครึ่งแสน แต่ไม่มีเงินจ่ายค่ายาหลักร้อยหลักพัน”

หนำซ้ำทุกวันนี้หลาย รพ.ยังเต็มไปด้วยคนต่างด้าวทั้งที่ไม่ได้ทำประกันสุขภาพหรือตั้งใจมาเสียค่าธรรมเนียมในราคาแสนถูก เพื่อแลกกับค่ารักษาหลักแสนหลักล้านที่ไม่ต่างอะไรกับการได้ฟรี ที่น่าตกใจคือมีอาชีพนายหน้ารับพาคนต่างด้าวมาเข้าแย่งเตียง แย่งคิวตรวจกับคนไทยตาดำๆ

...ในอีกมุมหนึ่ง นโยบายนี้ทำให้ภาระงานของผู้ป่วยนอก ซึ่งมีแพทย์ที่ยังรักษาผู้ป่วยและอยู่ในวัยทำงานจริงๆไม่เกิน 40,000 คน เพิ่มขึ้นทะลุปรอทไปมากกว่า 300 ล้านครั้งต่อปี หรือ...อีกนัยหนึ่งเฉลี่ยแล้วคนไทยเดินเข้า รพ.ในแต่ละปีมากกว่า 5 ครั้ง ซึ่งสูงกว่าอัตราเฉลี่ยของประเทศที่พัฒนาแล้วเป็นอย่างมาก

แต่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกลับพยายามเร่งเร้าให้เข้ามารับการรักษาฟรีๆ เพิ่มขึ้นอีก เพื่อจะได้มียอดตัวเลขมาต่อยอดความภาคภูมิใจของตนเอง ทั้งๆที่ความจริงแล้วควรตั้งเป้าลดยอดการเข้า รพ.ลง เพราะหมายถึงนโยบายป้องกันโรคและการเสริมสร้างความรู้ในการดูแลตนเองประสบความสำเร็จ

...

ด้วยภาระงานผู้ป่วยนอกที่มากมายมหาศาล ซึ่งยังไม่นับภาระงานผู้ป่วยในอีกประมาณเกือบ 10 ล้านครั้งต่อปี...ภายใต้งบประมาณจำกัดจำเขี่ยผลทำให้ รพ.ตกอยู่ในสภาพ “ยิ่งรักษา ยิ่งเจ๊ง”

“ไม่ต่างอะไรกับรัฐวิสาหกิจที่เราๆท่านๆเห็นกันตั้งแต่เด็กๆ จนทุกวันนี้เงินสำรองของแต่ละ รพ.ที่ต้องควักมาแจกจ่ายเป็นค่ายาค่าเครื่องมือแพทย์ให้กับผู้ป่วยหมดสิ้นลง จนติดตัวแดงกันทั่วหน้า ไม่ต่างอะไรกับ ขสมก. หรือ...การรถไฟที่นับวันจะสาละวันเตี้ยลง ซึ่งเหตุผลส่วนหนึ่งเกิดจากนโยบายประชานิยมเช่นกัน...”

ที่น่าแปลกใจยิ่งกว่าคือ รพ.นั้นประสบปัญหาขาดแคลนบุคลากรอย่างรุนแรง แต่กลับผ่านการรับรองมาตรฐานคุณภาพ เหตุเพราะ “ในตัวชี้วัด ไม่มีเรื่องของจำนวนบุคลากรที่เหมาะสม” มากำกับ ทั้งๆที่งานทุกอย่างต้องเริ่มจากคน...“เมื่อเงินไม่พอ คนก็ไม่พอ แถมยังต้องมีงานเอกสารเพิ่มขึ้นมามากมาย” ที่ต้องเบียดบังเวลาในการดูแลเอาใจใส่ผู้ป่วยไป...ผลการรักษาจึงไม่เป็นไปตามคาดหวัง

และตามด้วยวลีสร้างความเกลียดชัง (Hate speech)...“ความเสียหายจากการรักษาพยาบาล!!” ซึ่งเป็นช่องโหว่ให้ใครบางคนเอาไปต่อยอดผลักดันเพิ่มเติมจาก ม.41 เพื่อให้เกิดนโยบายแจกเงินหลักล้านชดเชยความเสียหาย อันเป็นการซ้ำเติมฐานะการเงินของโรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขเข้าไปอีก...

ผศ.นพ.เมธี บอกอีกว่า อย่างไรก็ตาม คุณูปการสำคัญอย่างหนึ่งของรัฐบาลชุดนี้คือการที่ท่านรัฐมนตรีสาธารณสุข ตลอดจนผู้บริหารระดับสูงในกระทรวง ต่างยอมรับความจริงและประสานเสียงว่าคุณภาพการรักษาต้องเริ่มจากสมดุลของสองปัจจัยสำคัญ ภายใต้นโยบาย “2P Safety” โดย...“P” แรกคือ ผู้ป่วย (Patient) และอีก...“P” คือ บุคลากร (Personnel) ...ปลายปีที่ผ่านมาจึงมีการทำแบบสำรวจ “ภาระงานและความอ่อนล้า” ของบุคลากรสาธารณสุขภาครัฐทั่วประเทศ และผลสำรวจที่ได้นั้นเป็นดังนี้

ในส่วนของ “แพทย์” พบว่า โดยเฉลี่ยแล้ว 2/3 แพทย์ทั่วประเทศ ต้องอยู่เวรทุกวัน และแต่ละวันได้พักไม่เกิน 7 ชม. โดยมีอีกประมาณ 1/3 ที่ต้องอยู่เวรทุกวัน แต่ละวันได้พักไม่เกิน 4 ชม. ในขณะที่ 90% ของแพทย์ ต้องทำงานติดต่อกันมากกว่า 24 ชม. โดยมีแพทย์ 15% ที่ต้องอยู่เวรติดต่อกันทั้งอาทิตย์

ในแง่ภาระงานผู้ป่วยนอกที่มักดราม่าตามโลกโซเชียลว่า “หมอหายหัวไปไหนหมด” พบว่า 50% ของแพทย์ทั่วประเทศต้องตรวจคนไข้นอกเฉลี่ย 100 คนต่อวัน ในขณะที่ตามเกณฑ์มาตรฐานนั้น แพทย์สามารถตรวจคนไข้นอก (เก่าและใหม่คละกัน) ไม่ควรเกิน 8 คน/ชม. นั่นหมายความว่า 70% ของแพทย์ภาครัฐ ต้องรับภาระงานหนักกว่าเกณฑ์มาตรฐาน 2-4 เท่าตัว หรืออีกนัยหนึ่งคือแพทย์ 1 คนต้องทำงานแทนแพทย์ 2-4 คน...

เพื่อให้พรรคการเมืองได้หน้าจาก “นโยบายประชานิยม” นี้

ถัดมาในส่วนของ “พยาบาล” พบว่า โดยเฉลี่ยแล้ว 2/3 ของพยาบาลภาครัฐต้องทอดทิ้งครอบครัวตนเองเพื่อมาขึ้นเวรทุกวันและแต่ละวันได้นอนไม่เกิน 7 ชม. ส่วนภาระงานผู้ป่วยในกรณีที่เป็นดราม่าถูกแอบถ่ายวิดีโอคลิปนั้น พบว่า 60% ของพยาบาลต้องดูคนไข้ในมากกว่า 10 ราย ต่อวัน ทั้งๆที่ตามมาตรฐานสากลแล้วพยาบาล 1 คนไม่ควรรับผิดชอบคนไข้ในเกิน 4 คน (1:4) นั่นหมายความว่า...ทุกวันนี้พยาบาลไทย 100% ต้องทำงานเกินกว่าเกณฑ์ไม่น้อยกว่า 2 เท่าตัว เพื่อให้นโยบายหาเสียงเกินจริงของพรรคการเมืองประสบความสำเร็จ

หันมาดูสภาพความเป็นอยู่กันบ้าง คำตอบจากแบบสำรวจยังให้ข้อมูลเพิ่มอีกว่า 80% ของทั้งแพทย์และพยาบาลเคยต้องทำงาน...ขึ้นเวร ทั้งๆที่ตนเองป่วยหรือต้องทอดทิ้งครอบครัวและญาติสนิทที่ป่วยไข้ไป เพื่อขึ้นเวร แลกกับค่าตอบแทนรายชั่วโมงไม่ถึงร้อยบาท!...ที่น่ารันทดยิ่งกว่าคือ 1/3 ของทาสชุดขาวเหล่านี้ ต้องทำงานแบบไม่มีวันหยุดและทำให้ชีวิตผู้ป่วยต้องตกอยู่ในอันตรายอันเนื่องมาจากความอ่อนล้าของร่างกาย

เพื่อแลกกับเศษเงินที่หน่วยงานรัฐ ซึ่งคุมเรื่องการเงินประสานเสียงพูดว่า...มากเกินพอแล้ว?

หากจะอินเทรนด์...ก็ลองมาดูตัวชี้วัดเรื่อง Happinometer (มาตรวัดความสุขในการทำงาน) ที่หลายหน่วยงานนำมาใช้เพื่อประเมินว่ามีการดูแลบุคลากรในสังกัดดีมากน้อยอย่างไร พบว่า 60% ของบุคลากรทางการแพทย์ที่ต้องขึ้นเวร...แพทย์ พยาบาล เภสัชกร นักเทคนิคการแพทย์ นักรังสีเทคนิค ล้วนไม่มีความสุขในการทำงาน...

จึงไม่น่าแปลกใจว่าทำไมจึงมีภาพการกระทบกระทั่งกับ “ผู้ป่วย” หรือ “ญาติ” อยู่เนืองๆ

ทั้งหมดข้างต้นเหล่านี้คงไม่ผิดที่จะกล่าวว่า “ประเทศไทยยังมีทาสแรงงานที่ไม่ได้รับการเหลียวแล” หลงเหลืออยู่ “ทาสชุดขาว”...ที่ถูกบังคับให้ทำงานโดยไม่ได้รับความคุ้มครองจาก พ.ร.บ.แรงงาน ที่แม้แต่สาวโรงงาน กรรมกรหาเช้ากินค่ำยังได้รับความคุ้มครอง ที่น่าเสียใจยิ่งกว่า...การต้องทำงานแข่งกับเวลาเพื่อช่วยชีวิตคน กลับถูกตีความโดยนักกฎหมายว่า “การรักษา...การช่วยชีวิตคนไม่ต่างอะไรจากการซื้อสินค้าหรือบริการทั่วไป”

“ทั้งๆที่สินค้าหรือบริการทั่วๆไปในธุรกิจบริโภคนั้น จะมุ่งเน้นเรื่องการหลอกลวง เอารัดเอาเปรียบเพื่อนมนุษย์ผ่านการโฆษณาชวนเชื่อ การหลอกลวงด้วยสัญญาคดโกง เพื่อดูดเงินในกระเป๋ามาสู่บริษัทห้างร้าน แต่ที่ยิ่งหนักหนาสาหัสขึ้นไปอีกคือ...เมื่อการช่วยชีวิตไม่ประสบความสำเร็จ กลับถูกมองว่าต้องนับเป็นความอาญา ในฐานความผิดประมาททำให้ผู้ป่วยถึงแก่ความตาย แบบเดียวกับที่อาชญากรได้รับ”

ทั้งๆที่จริงๆแล้ว ฐานความผิดนี้เป็นคนละประเด็นกัน เพราะฝ่ายหนึ่งจ้องจะใช้เหตุประมาทมาเป็นช่องโหว่หลีกเลี่ยงไม่ต้องรับโทษจากการกระทำที่ไปก่อความเดือดร้อนให้ผู้อื่นโดยเขาไม่อนุญาต แต่อีกฝ่ายถูกบังคับให้ต้องช่วยชีวิตคนตามที่กฎหมายบัญญัติ ที่สำคัญการกระทำเพื่อช่วยชีวิตคนนั้นมี “เจตนาดี (Mens Rea)” แต่แรก หาใช่การมุ่งใช้ช่องโหว่กฎหมายไปทำร้ายผู้อื่นแต่อย่างใดไม่...

ในอีกสองเดือนเราจะได้เห็น “รัฐบาลใหม่” ถึงเวลาแล้วหรือยังที่ “พรรคการเมือง” จะหันมาให้ความสำคัญกับคนหลักแสน เพื่อคุณภาพที่ดีของระบบสาธารณสุขในการดูแลประชากรหลักสิบล้านคน.