มุ่งเน้นการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ผ่านพิพิธภัณฑ์มีชีวิต

เพื่อสร้างความเข้าใจและความรู้ด้านประวัติศาสตร์ โบราณคดี ของพระราชวังบวรสถานมงคล ในรูปแบบร่วมสมัยอย่างครบวงจร กรมศิลปากร โดย คุณสิริกิติยา เจนเซน (คุณใหม่) ผู้บริหารและข้าราชการกระทรวงวัฒนธรรม กรมศิลปากร ในฐานะผู้อำนวยการโครงการการศึกษาสันนิษฐานรูปแบบพระราชวังบวรสถานมงคล (วังหน้า) และสื่อความหมายด้วยเทคโนโลยี ได้จัดนิทรรศการพิเศษ “วังหน้านฤมิต ในมิติแห่งกาลเวลา” ซึ่งเป็นภาคที่ 3 กิจกรรมภาคสุดท้ายของโครงการการศึกษาสันนิษฐานรูปแบบพระราชวังบวรสถานมงคล (วังหน้า) เพื่อเผยแพร่ความรู้ด้านประวัติศาสตร์ โบราณคดี สถาปัตยกรรมและศิลปกรรมของพระราชวังบวรสถานมงคล ผ่านการตีความและสื่อความหมายด้วยรูปแบบงานศิลปกรรมร่วมสมัย จากมิติและมุมมองที่หลากหลาย เพื่อให้เข้าใจง่ายและชัดเจนยิ่งขึ้น เป็นการนำผู้คนในยุคปัจจุบันให้เข้ามามีส่วนร่วมกับมรดกทางวัฒนธรรมของชาติ

โอกาสนี้ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยาม บรมราชกุมารี ได้เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิด และทอดพระเนตรนิทรรศการพิเศษ “วังหน้านฤมิต ในมิติแห่งกาลเวลา” ณ พระที่นั่งอิศราวินิจฉัย และมุขกระสัน พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร เมื่อวันที่ 2 มี.ค.ที่ผ่านมา โดยมีคุณสิริกิติยา เจนเซน พระธิดาในทูลกระหม่อมหญิง อุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี ผู้ควบคุมการจัดนิทรรศการฯ เป็นผู้นำชมและอธิบายนิทรรศการครั้งนี้

...

นิทรรศการนี้ ประกอบด้วยนิทรรศการ “นัยระนาบนอกอินซิทู : แปลงร่างอดีตในหลืบแห่งปัจจุบัน” เป็นนิทรรศการแนวทดลองที่ผสานมุมมองของศิลปินร่วมสมัย 7 คน ได้แก่ ปรัชญา พิณทอง, อุดมศักดิ์ กฤษณมิษ,นิพันธ์ โอฬารนิเวศน์, ฤกษ์ฤทธิ์ ตีระวนิช, ธณัฐชัย บรรดาศักดิ์, ออน คาวารา,หยัง โว มาร่วมสร้างบทสนทนากับพระที่นั่งอิศราวินิจฉัยผ่านงานศิลปะร่วมสมัย

อีกทั้งขยายขอบเขตการจัดแสดงโดยเชิญผู้เชี่ยวชาญ อาทิ นักภาษาศาสตร์ นักดนตรี นักผังเมือง สถาปนิก นักพฤกษศาสตร์ นักออกแบบ นักประวัติศาสตร์ศิลปะ มาร่วมนำเสนอผลงาน แสดงมุมมองและแรงบันดาลใจที่มีต่อประวัติศาสตร์ ประกอบกับการนำสิ่งของจัดแสดงบางส่วนจาก “นิทรรศการวังน่านิมิต” กลับมานำเสนออีกครั้ง

คุณใหม่-สิริกิติยา เจนเซน ได้อธิบายถึงการทำโครงการนี้ว่า สืบเนื่องมาจากเมื่อ 2-3 ปีที่ผ่านมาได้มีการพูดคุยกับนักอนุรักษ์ จะทำอย่างไรให้คนในยุคปัจจุบันเข้าใจในประวัติศาสตร์ว่ามีความสำคัญและเกี่ยวข้องอย่างไรกับเรา ซึ่งกรมศิลปากรมีข้อมูลอยู่จำนวนมาก และมีผู้เชี่ยวชาญที่เก่งๆมากด้วย เราจะนำข้อมูลต่างๆเข้าถึงคนโดยผ่านวิธีการที่เข้าใจง่ายๆได้อย่างไร จึงทำนิทรรศการนี้ให้เป็นตัวอย่างของพิพิธภัณฑ์ในมุมมองที่เปลี่ยนไป ให้ผู้ชมสามารถสัมผัสได้ อยากให้คนเห็นว่าประวัติศาสตร์ไม่ใช่เรื่องไกลตัว

หากไม่อยากให้ประวัติศาสตร์ตายไปประวัติศาสตร์ก็ต้องมีชีวิต ซึ่งต้องเคลื่อนโดยคนที่จะทำอย่างสร้างสรรค์ ตนอยากให้คนมาดูประวัติศาสตร์ แล้วคิดว่าเอ๊ะ มันมีอะไรอยู่ในห้องนี้ เลือกว่าตัวเองสงสัยอะไร จะเกี่ยวข้องอย่างไร เพื่อจะเล่าต่อได้อย่างไร อยากให้คนได้กลับไปคิดว่าประวัติศาสตร์เป็นเรื่องร่วมสมัย จากการทำงานจะเห็นว่าตนเป็นคนชอบใช้วิธีสมัยใหม่ เช่น เทคโนโลยี ศิลปะ ดีไซน์ นำมาเชื่อมโยงอดีตสู่ปัจจุบัน เพื่อให้เข้าใจประวัติศาสตร์ได้ง่ายขึ้นกว่าการพูดบรรยายถึงอดีต สิ่งที่ทำเป็นวิธีค่อนข้างใหม่ ก็พยายามทำโครงการให้เป็นตัวอย่าง ในมุมมองคนทำงานอนุรักษ์มองว่าสิ่งที่ขาดไป

ในงานอนุรักษ์คือ ขาดคน เราบูรณาการประวัติศาสตร์หลายอย่าง แต่ลืมว่าใครเป็นคนสร้าง มันอยู่เพื่อใคร ถ้าเราไม่เข้าใจวิญญาณของเรื่องนั้นจะหายไป โครงการนี้จะไม่ทำสเกลใหญ่ แต่จะทำให้เล็กๆแล้วให้คนเข้าไปสัมผัส มีส่วนร่วม

คุณใหม่กล่าวด้วยว่า สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯได้มีรับสั่งว่าทรงชอบ ด้วยทรงเป็นอาจารย์มีพระวินิจฉัยว่า วิธีที่ใช้นิทรรศการนี้ เป็นวิธีที่ใช้การเรียนรู้เยอะ

ฉะนั้นต้องรู้ว่าเราคาดหวังอะไรจากผู้เข้าชม ต้องรู้ว่าจะใช้ข้อมูลอะไร วิธีอะไร ตนไม่อยากที่จะทำให้คนไทยมาเดินชมพิพิธภัณฑ์อย่างเดียว ที่สำคัญคือต้องทำให้พิพิธภัณฑ์มีชีวิต ผ่านการจัดกิจกรรมเรียนรู้ที่คนสามารถเข้าถึง ได้สัมผัส ได้เข้าใจง่ายขึ้น สนุก และได้สร้างสรรค์ ไม่ใช่ทำให้ประวัติศาสตร์เป็นเรื่องไกลตัว

สำหรับนิทรรศการพิเศษ “วังหน้านฤมิต ในมิติแห่งกาลเวลา” เปิดให้เข้าชม ระหว่างวันที่ 6 มี.ค.-28 เม.ย. เวลา 09.00-16.00 น. (ปิดวันจันทร์-อังคาร และวันหยุดนักขัตฤกษ์) ณ พระที่นั่งอิศราวินิจฉัย และมุขกระสัน พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร.