สกว.เดินหน้าวิจัยพัฒนานวัตกรรม เพื่อลดความเหลื่อมล้ำผู้สูงอายุไทย เตรียมรับมือสังคมสูงวัย หวังสร้างนวัตกรรมให้ตอบโจทย์ โดยผู้สูงอายุเอง เพื่อลดความเสี่ยง
เมื่อวันที่ 24 ก.พ.62 รศ.ดร.ปัทมาวดี โพชนุกูล รองผู้อำนวยการด้านการวิจัยเชิงยุทธศาสตร์ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) เปิดเผยว่า ปัจจุบันประเทศไทยก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัยแล้ว และมีอัตราสัดส่วนที่เพิ่มมากขึ้น ขณะที่หลายประเทศเริ่มเข้าสู่สังคมสูงวัยในขั้นวิกฤต ซึ่งแม้ว่าประเทศไทยยังก้าวไม่ถึงจุดนั้น แต่จากข้อมูลตัวเลขคาดว่า จะเข้าสู่ระดับดังกล่าวในอีกไม่ช้านี้ จึงเป็นเรื่องที่ สกว.ได้ให้ความสำคัญ เพราะการก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัยจะต้องมีนโยบาย และนวัตกรรมเข้ามาสนับสนุน ตลอดการสร้างความรู้ ความเข้าใจกับสังคม เนื่องจากสังคมไทยยังไม่เข้าใจคำว่า "สังคมสูงวัย" เพราะทันทีที่พูดถึงสังคมสูงวัย จะนึกถึงแต่ "กลุ่มผู้สูงอายุ" ทั้งที่ข้อเท็จจริง คือ สังคมในทุกบริบท ซึ่งครอบคลุมถึงบทบาทครอบครัว ตั้งแต่วัยเด็ก วัยแรงงาน และผู้สูงอายุที่มีความหลากหลาย โดย สกว.ได้วางแนวทางไว้ทุกแพลตฟอร์ม เพื่อรับมือสังคมสูงวัยในทุกมิติ ทั้งมิติเชิงรับและรุก มีการปรับเปลี่ยนแผนและโครงสร้างประชากรของประเทศเรื่อยๆ
รศ.ดร.ปัทมาวดี กล่าวต่อว่า จากการทำงานร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์ฯ) และกองทุนสหประชาชาติเพื่อประชากร (UNFPA) ในประเทศไทย ได้ถอดบทเรียนจากต่างประเทศออกมา พบว่า การพึ่งพาภาครัฐเพียงอย่างเดียวเอาไม่อยู่ ต้องมีการปรับโครงสร้างประชากร การส่งเสริมศักยภาพของประชากรตั้งแต่วัยเด็ก วัยทำงาน เพื่อให้มีศักยภาพดูแลกลุ่มผู้สูงวัยให้มากขึ้น โดยเฉพาะการสร้างความเข้มแข็งของสถาบันครอบครัว เพื่อลดภาระ ลดความพึ่งพาจากภาครัฐ ที่สำคัญเราพบว่าสิ่งที่น่ากลัวสำหรับการเข้าสู่สังคมสูงวัย คือ การซ้ำเติมด้วยปัญหาความเหลื่อมล้ำ เพราะทราบดีว่า ผู้สูงวัยคือกลุ่มคนที่มีปัญหาเรื่องกายภาพ ซึ่งหากมีความยากจนมาซ้ำอีก ก็จะเป็นปัญหาตามมา ซึ่งการปรับโครงสร้างสังคมเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ กลายเป็นโจทย์ที่ยากกว่าการดูแลผู้สูงวัย เพราะหากประเทศไทยมีความเหลื่อมล้ำมาก เท่ากับว่าภาครัฐจะต้องใช้งบประมาณจำนวนมากในการดูแลผู้สูงวัย ในกลุ่มที่ไม่มีศักยภาพทางเศรษฐกิจ ซึ่งจะกลายเป็นปัญหาระยะยาว
...
ด้านศาสตราจารย์ระพีพรรณ คำหอม หัวหน้าโครงการวิจัยเรื่องการพัฒนานวัตกรรมทางสังคม เพื่อลดความเหลื่อมล้ำของผู้สูงอายุประเทศไทย ซึ่งสนับสนุนโดย สกว. กล่าวว่า จากการศึกษาโครงการระยะที่ 2 เรื่องการพัฒนาระบบสวัสดิการสังคมผู้สูงอายุเพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม พบว่า ความเหลื่อมล้ำในผู้สูงอายุเป็นเรื่องใหม่ ที่ยังไม่มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าไปดูแลอย่างจริงจัง จึงพัฒนาโครงการระยะที่ 3 เรื่องการพัฒนานวัตกรรมทางสังคมเพื่อลดความเหลื่อมล้ำของผู้สูงอายุประเทศไทย เพื่อจัดทำคู่มือ แบบประเมินลดความเหลื่อมล้ำของผู้สูงอายุ ไปใช้เก็บข้อมูลซึ่งจะทำให้เห็นภาพความเหลื่อมล้ำของผู้สูงอายุเพื่อตอบโจทย์ยุทธศาสตร์ชาติชาติ 20 ปี ในเรื่องความเหลื่อมล้ำ เพราะไทยกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ และนวัตกรรมมีความจำเป็นที่จะนำมาใช้ประโยชน์
ศาสตราจารย์ระพีพรรณ กล่าวต่อว่า นวัตกรรมจะสามารถช่วยลดความเสี่ยง ของการเสียชีวิตด้วยเหตุที่ไม่ควรได้ แต่ผู้สูงอายุจะเข้าถึงนวัตกรรมอย่างไรขึ้นอยู่แต่ละพื้นที่และนวัตกรรมเพื่อผู้สูงอายุอาจไม่ใช่นวัตกรรมไฮเทคเพราะแพงและผู้สูงอายุเข้าไม่ถึง แต่เป็นนวัตกรรมเชิงพื้นที่ นวัตกรรมในครัวเรือน เช่นระบบส่งสัญญาณขอความช่วยเหลือ ตรวจเช็คสุขภาพของตัวเองได้ ดังนั้นอยากให้ผู้สูงอายุ คิดสร้างนวัตกรรมนั้น และเป็นสิ่งที่นำไปใช้ได้จริง
"โครงการระยะที่ 2 ในพื้นที่สมุทรปราการ พบว่า มีการใช้สติ๊กเกอร์แทนเงินสด และให้มีส่วนลดราคาสำหรับร้านค้าในชุมชน ซึ่งถ้าให้ผู้สูงอายุพยายามหานวัตกรรมด้วยตัวเองจะตอบโจทย์การใช้ชีวิตของพวกเขาได้ ขณะที่การต่อยอดโครงการในระยะที่ 3 จะมีการจัดทำหลักสูตรนวัตกรรมผู้สูงอายุ คัดผู้สูงอายุที่แอคทีฟมาอบรมและให้ลองไปสร้างนวัตกรรมให้ตอบโจทย์กลุ่มผู้สูงอายุด้วยกัน" ศาสตราจารย์ระพีพรรณ กล่าว