กระทรวงทรัพยากรฯ รับมือฝุ่นพิษระลอกใหม่ ระดมสมองคลอดมาตรการ ตั้งเป้าคุม 3 ตัวการ "รถดีเซล-เผาในที่โล่ง-โรงงานอุตสาหกรรม" จ่อประกาศมาตรฐาน "ยูโร" 5 และ 6 เล็งลงโทษหนัก มือเผาในที่โล่ง...


นายวิจารย์ สิมาฉายา ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เปิดเผยว่า แม้ปัจจุบันสถานการณ์ความรุนแรงของปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน หรือ PM 2.5 ในพื้นที่ กทม. และปริมณฑล จะคลี่คลายลงแล้ว แต่คาดการณ์ว่าในอนาคตสถานการณ์เหล่านี้ยังมีโอกาสกลับมาได้อีก จึงได้เตรียมมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหา ทั้งในระยะเร่งด่วน ระยะปานกลาง และระยะยาว พร้อมทั้งมอบหมายให้กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม (สส.) จัดเวทีเสวนา “แนวทางและมาตรการป้องกัน และแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศของประเทศไทย” เพื่อนำเสนอและรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับมาตรการต่าง ๆ จากผู้ทรงคุณวุฒิ รวมถึงจัดเวทีกลุ่มย่อยระดมสมองหาแนวทางเพิ่มเติมจากภาคีความร่วมมือทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาสังคม

สำหรับมาตรการที่วางไว้ในเบื้องต้น ได้มุ่งไปที่การจัดการแหล่งกำเนิดฝุ่น PM 2.5 ซึ่งมี 3 สาเหตุหลัก คือ การจราจร การเผาในที่โล่ง และภาคอุตสาหกรรม โดยเฉพาะการจราจรที่เป็นปัญหาอันดับหนึ่ง 54% และ 86% เกิดจากรถยนต์ดีเซล โดยมาตรการเร่งด่วน อาทิ เร่งนำน้ำมันดีเซลเทียบเท่า EURO 5 มาจำหน่าย, เพิ่มจุดตรวจควันดำ, ชะลอกิจกรรมที่ทำให้เกิดฝุ่นจากการสร้างรถไฟฟ้า, การห้ามเผาในที่โล่ง, ขอความร่วมมือโรงงานหยุดหรือลดกำลังผลิต และปฏิบัติการฝนเทียม เป็นต้น

ส่วนในระยะกลางและระยะยาว เช่น ประกาศใช้มาตรฐานน้ำมันเชื้อเพลิงมาตรฐาน EURO 5 ในปี 2564, เร่งรัดการบังคับใช้มาตรฐาน EURO 6 ในปี 2566, พัฒนาโครงข่ายบริการขนส่งสาธารณะ, เพิ่มภาษีรถยนต์เก่า ลดภาษีรถยนต์ไฟฟ้า, เร่งรัดแผนเปลี่ยนรถโดยสาร ขสมก. เป็นรถมลพิษต่ำ, กำหนดให้ติดตั้ง Diesel Particulate Filter (DPF), ให้เจ้าของ/ผู้ประกอบการที่มีการเผาในที่โล่งในพื้นที่ครอบครองเป็นความผิดอาญา, ควบคุมฝุ่นจากการก่อสร้าง, การปรับค่ามาตรฐาน PM 2.5 เฉลี่ยรายปีตามข้อเสนอ WHO และพัฒนาศักยภาพท้องถิ่นในการติดตามการตรวจสอบคุณภาพอากาศและการควบคุมเป็นระบบ Single Command เป็นต้น

“ในอนาคตประเทศไทยจำเป็นต้องให้ความสำคัญกับการเฝ้าระวังฝุ่นขนาดต่าง ๆ มากขึ้น ตั้งแต่ 10 ไมครอนลงมา จนถึง 0.1 ไมครอน ซึ่งเล็กกว่า 2.5 ที่ปัจจุบันหลายประเทศเริ่มให้ความสำคัญ รวมถึงการเพิ่มพื้นที่สีเขียวในเขตเมือง ซึ่งตอนนี้เรามีค่อนข้างน้อย จึงต้องให้ความสำคัญ เพราะปัญหามลพิษทางอากาศไม่ได้อยู่กับที่ มันสามารถข้ามแดนได้ และเกิดจากแหล่งกำเนิดหลายประเภท มาตรการที่ใช้แก้ไขและบรรเทาสถานการณ์จึงต่างกันไป” ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ย้ำ

นพ.ขจรศักดิ์ แก้วจรัส รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวบนเวทีเสวนา “แนวทางและมาตรการป้องกัน และแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศของประเทศไทย” ว่า มีการเฝ้าระวัง 22 โรงพยาบาลใน กทม. และปริมณฑล ตั้งแต่ปลายเดือนธันวาคม พบตัวเลขผู้ป่วยอยู่ที่ 1,000 กว่าราย สิ่งที่เราเห็นคือเมื่อเข้าสู่ช่วงเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ คนเข้าสู่ระบบคัดกรองมากขึ้น โดยเฉลี่ยอายุอยู่ที่ 0-10 ปี และ 50-60 ปี กลุ่มเสี่ยงคือ เด็ก และผู้สูงอายุ ที่มีโรคหอบหืด ถุงลมอุดกั้น โรคหัวใจสูง โดย จ. สมุทรปราการ สูงสุด และจากนี้ PM 2.5 จะเป็นสิ่งที่ถูกนำมาวินิจฉัยโรคต่าง ๆ ของแพทย์อีกอย่างหนึ่งเพื่อติดตามการเกิดโรคระยะยาว เช่น มะเร็ง เป็นต้น

ขณะที่นายสุพัฒน์ หวังวงศ์วัฒนา อาจารย์คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และอดีตอธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) กล่าวว่า จากตัวเลขการวิเคราะห์ความเสียหายทางเศรษฐกิจของสถาบันการเงินแห่งหนึ่ง ในช่วงที่เกิดฝุ่น PM 2.5 ในกทม.และปริมณฑล ระยะเวลา 65 วัน สร้างความเสียหายกว่า 2 หมื่นล้านบาท ยังไม่รวมความเสียหายด้านสุขภาพ ถ้าสะสมทุกปีความเสียหายจะมากขนาดไหน ดังนั้นการปรับเปลี่ยนคุณภาพน้ำมันที่ต้องลงทุนหลักหมื่นล้านนั้น ถ้าลงทุนแล้วใช้ได้นานก็คุ้ม.

...