อย. เดินหน้าส่งเสริมและยกระดับมาตรฐานการผลิตยาจากสมุนไพร พร้อมพัฒนาให้ผู้ผลิต ทุกระดับผลิตยาให้ได้มาตรฐานสากล (PIC/S GMP) สร้างความมั่นใจในการบริโภค หวังให้ประชาชนเข้าถึงยาสมุนไพรและใช้ในการดูแลสุขภาพและรักษาโรคมากขึ้น พร้อมส่งเสริมการผลิตผลิตภัณฑ์นมให้ได้มาตรฐานหลักเกณฑ์วิธีการที่ดีในการผลิตอาหาร (GMP) พัฒนาผลิตภัณฑ์ให้เหมาะกับสุขภาพของผู้บริโภคตามหลักการของฉลากโภชนาการทางเลือกสุขภาพ (Healthier Choice) โดยนำสื่อลงพื้นที่ศึกษาดูงาน ณ บริษัท ผลิตภัณฑ์สมุนไพรไทย และบริษัท ซีพี-เมจิ จำกัด
นายแพทย์ธเรศ กรัษนัยรวิวงศ์ เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เปิดเผยว่า การปฏิรูปเศรษฐกิจตามรูปแบบโมเดลไทยแลนด์ 4.0 ที่ประกอบด้วย 5 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย ซึ่งมี “สมุนไพร” เป็นหนึ่งในกลุ่มผลิตภัณฑ์ที่จะขับเคลื่อนด้วยการสร้างมูลค่า ซึ่งขณะนี้มีการขับเคลื่อนปฏิรูประบบยาสมุนไพรแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) จึงเดินหน้าส่งเสริมยาจากสมุนไพร และยกระดับมาตรฐานการผลิตยาจากสมุนไพรตามหลักเกณฑ์วิธีการที่ดีในการผลิต (GMP) พร้อมพัฒนาให้ผู้ผลิตยาทุกระดับผลิตยาให้ได้มาตรฐาน ดังนั้น ในวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2562 อย. ได้นำคณะสื่อมวลชนศึกษาดูงานกระบวนการผลิตยาจากสมุนไพรไทย ที่ผ่านการควบคุมมาตรฐานกระบวนการผลิต การบรรจุ การจัดเก็บ จนกระทั่งการขนส่งสินค้าสำเร็จรูปที่ดี ปราศจากสารปนเปื้อน ณ บริษัท ผลิตภัณฑ์สมุนไพรไทย จำกัด อ.วังน้อย จ.อยุธยา ซึ่งเป็นบริษัทที่ผลิตยาสมุนไพรที่มีคุณภาพภายใต้การวิจัยกว่า 40 รายการ เช่น ยาอมมะแว้ง ขมิ้นชันแคปซูล ฟ้าทะลายโจรแคปซูล ฯลฯ ซึ่งทางบริษัทได้รับมาตรฐาน PIC/S GMP สำหรับโรงงานผลิตยาแผนโบราณ มาตรฐาน GMP สำหรับโรงงานผลิตอาหาร และรางวัล อย.ควอลิตี้ อวอร์ด ปี 2554, 2557 และ 2561 นับเป็นการสนองนโยบายของรัฐบาลในการส่งเสริมสมุนไพรไทยและภูมิปัญญาไทยให้มีมูลค่าทางการตลาด รวมไปถึงเพิ่มโอกาสการส่งออกไปจำหน่ายยังต่างประเทศ
เลขาธิการฯ อย. กล่าวเพิ่มเติมว่า อย. กำลังปรับปรุงระบบการกำกับดูแลผลิตภัณฑ์จากสมุนไพรทั้งระบบ ให้สอดคล้องกับ (ร่าง) พระราชบัญญัติผลิตภัณฑ์สมุนไพร พ.ศ. …. ซึ่งกำลังอยู่ในระหว่างการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ โดยการจัดตั้ง “กองผลิตภัณฑ์สมุนไพร” ขึ้นเป็นการเฉพาะ และเร่งรัดให้มีการจัดทำหลักเกณฑ์ใหม่สำหรับการพิจารณาอนุมัติ/อนุญาตก่อนที่ผลิตภัณฑ์สมุนไพรจะออกสู่ท้องตลาด ให้เหมาะสมกับบริบทของผลิตภัณฑ์สมุนไพรมากขึ้น รวมทั้งมีหลักเกณฑ์ที่เหมาะสมสำหรับการพิจารณาอนุมัติ/อนุญาต นวัตกรรมผลิตภัณฑ์สมุนไพรกลุ่มที่มีคำกล่าวอ้างทางสุขภาพที่ช่วยสร้างเสริมสุขภาพ หรือลดความเสี่ยงในการเกิดโรค ซึ่งกำลังเป็นกลุ่มผลิตภัณฑ์แห่งอนาคต สำหรับรองรับการก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุของประเทศไทย โดยเชื่อว่าการปรับปรุงระบบฯ ดังกล่าวจะช่วยส่งเสริมเศรษฐกิจ เพิ่มทางเลือกในการดูแลสุขภาพของประชาชน และต่อยอดภูมิปัญญาดั้งเดิมของชาติ ในขณะที่ยังสามารถคุ้มครองความปลอดภัยให้ผู้บริโภคได้
นอกจากนั้น การนำสื่อมวลชนศึกษาดูงานในครั้งนี้ ยังได้เข้าเยี่ยมชมโรงงานผลิตผลิตภัณฑ์นมที่ผ่านหลักเกณฑ์และวิธีการที่ดีในการผลิตอาหาร (GMP) และมีระบบการประกันคุณภาพขั้นสูงที่เน้นเรื่องความปลอดภัยอาหาร เช่น ISO 22000 เป็นต้น ณ บริษัท ซีพี-เมจิ จำกัด อ.หนองแค จ.สระบุรี ซึ่งเป็นบริษัทผู้ผลิตนมและผลิตภัณฑ์จากนม ได้แก่ นมพาสเจอไรส์ นมเปรี้ยว และโยเกิร์ต ตราเมจิ และ เมจิ บัลแกเรีย โดยทาง บริษัทฯ ได้นำเทคโนโลยีการผลิตที่ทันสมัยจากประเทศญี่ปุ่นมาใช้ ทำให้ผลิตภัณฑ์มีคุณภาพมาตรฐานและปลอดภัย สามารถส่งออกไปยังประเทศเพื่อนบ้านได้ ที่สำคัญบริษัทฯ ได้พัฒนาผลิตภัณฑ์อย่างต่อเนื่องจนได้รับสัญลักษณ์โภชนาการทางเลือกสุขภาพ (Healthier Choice) รวม 11 ชนิด เช่น นมพาสเจอไรส์ ตราเมจิ รสจืด, นมพาสเจอไรส์ ตราเมจิ สูตรไขมัน 0%, นมพาสเจอร์ไรส์ ตราเมจิ สูตรไขมันต่ำ, โยเกิร์ต ตราเมจิ บัลแกเรีย รสธรรมชาติ เป็นต้น เพื่อเป็นทางเลือกให้กับผู้บริโภคสามารถเลือกผลิตภัณฑ์ที่เหมาะสมกับสุขภาพของตนเองได้ ถือเป็นการยกระดับอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์นมในประเทศไทยให้มีมาตรฐานและมีคุณค่าทางโภชนาการที่ดี และยังสามารถนำรายได้เข้าประเทศจากการส่งออกผลิตภัณฑ์ไปยังประเทศเพื่อนบ้าน
เลขาธิการฯ อย. กล่าวในตอนท้ายว่า อย. ยังเดินหน้าส่งเสริมผู้ประกอบการทุกระดับ โดยการควบคุมกำกับดูแลคุณภาพผลิตภัณฑ์สุขภาพให้ได้มาตรฐาน และเป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภคอย่างต่อเนื่อง เพื่อคุ้มครองความปลอดภัยและความสมประโยชน์ของผู้บริโภค อีกทั้งเพื่อช่วยเพิ่มมูลค่าทางการตลาดและเพิ่มโอกาสการส่งออกไปจำหน่ายยังต่างประเทศ หวังขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยเชื่อมโยงเศรษฐกิจโลกต่อไป