นวัตกรรมนาโนสู่สังคมอัจฉริยะ (NANOVATION for Smart Society) แนวคิดการจัดแสดงนิทรรศการ “Thailand Pavilion” ในงานนิทรรศการนานาชาติ The 18th International Nanotechnology Exhibition and Conference (Nano Tech 2019) ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 30 ม.ค.-1 ก.พ.ที่ผ่านมา ณ Tokyo Big Sight กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น

งานนี้ ศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ หรือ นาโนเทค สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ร่วมกับหน่วยงานพันธมิตรทั้งภาครัฐซึ่งเป็นหน่วยงานภายใต้กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี พร้อมด้วยผู้ประกอบการจากภาคเอกชนในฐานะ “ทีมประเทศไทย” ได้นำ 15 ผลงานที่แสดงถึงการนำนวัตกรรมนาโนที่ประยุกต์เข้ากับชีวิตและสังคมได้อย่างรอบด้านไปร่วมจัดแสดงให้นานาประเทศได้เห็นถึงศักยภาพนักวิจัยไทย

ทีมข่าววิทยาศาสตร์ มีโอกาสร่วมคณะ “ทีมประเทศไทย” ไปร่วมงาน ได้เห็นผลงานวิจัยและนวัตกรรมไทยที่น่าสนใจ อาทิ โมเดลจำลองแผงผลิตพลังงานจากแสงอาทิตย์ ซึ่งเป็นงานวิจัยพัฒนาสารเคลือบและกระบวนการเคลือบดูดซับความร้อน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของท่อนำความร้อนที่ใช้กับแผงรวมแสงอาทิตย์แบบรางพาราโบลา ผลงานไฮไลต์ที่จัดแสดงด้านหน้านิทรรศการ นอกจากนี้ยังมี Nanocoating for Solar Energy System เทคโนโลยีการเคลือบสำหรับอุตสาหกรรมด้านพลังงานเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของระบบผลิตพลังงานแบบรวมแสงอาทิตย์, Windy Pads : Scaleresistance cellulose evaporative cooling pads การพัฒนาสารเคลือบพื้นผิวบนแผ่นทำความเย็นเพื่อป้องกันการเกาะตัวของคราบตะกรัน รวมถึงงานวิจัยที่น่าทึ่งอีกหลายชิ้นจากภาคเอกชน อีกทั้งยังมีผลงานจากเยาวชนทั้ง ธนาคารปูม้าโดยใช้พลังงานแสงอาทิตย์ ของวิทยาลัยเทคนิคสุราษฎร์ธานี และ เครื่องให้อาหารปลาอัตโนมัติพลังงานแสงอาทิตย์ ของโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 24 จ.พะเยา ที่เรียกความสนใจจากผู้ร่วมชมงานไม่น้อย

...

ศ.ดร.ไพรัช ธัชยพงษ์ ประธานกรรมการบริหารศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ ประธานเปิดนิทรรศการ “Thailand Pavilion” เปิดเผยว่า “Nano Tech เป็นนิทรรศการนาโนเทคโนโลยีที่ยิ่งใหญ่ และได้รับการยอมรับจากนักธุรกิจและผู้เชี่ยวชาญด้านนาโนเทคโนโลยีทั่วโลก ประเทศไทยได้ร่วมจัดแสดงตั้งแต่ปี 2552 โดยไม่เพียงแต่นำเสนองานวิจัยนวัตกรรมของภาครัฐ แต่ยังเป็นเวทีที่ให้ภาคเอกชนทั้งที่ทำวิจัยกับภาครัฐหรือทำวิจัยเองมาร่วมแสดงผลงาน โดยเฉพาะญี่ปุ่นซึ่งเป็นประเทศผู้นำด้านนี้ เพื่อนำไปสู่การเป็นหุ้นส่วนทางธุรกิจ การทำวิจัยร่วมระหว่างนักวิจัยไทยและญี่ปุ่น เปิดประตูเรียนรู้ซึ่งกันและกัน รวมถึงประชาสัมพันธ์เขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor Innovation : EECi) สิทธิประโยชน์และมาตรการส่งเสริมการลงทุนในกิจการด้านนาโนเทคโนโลยีที่ไทยกำลังขับเคลื่อน จึงเป็นการสร้างและขยายสัมพันธไมตรีทั้งในแง่ธุรกิจ งานวิจัย และความร่วมมือด้านต่างๆ ที่สำคัญคือการเผยแพร่ถึงศักยภาพประเทศไทย”

“ประเทศไทยมีศักยภาพด้านนาโนเทคโนโลยีที่ดีขึ้น แต่น่าจะขยายอีกสัก 10 เท่า ซึ่งไม่ได้หมายความว่าให้รัฐลงทุนทั้งหมด แต่เราต้องหาแหล่งทุนสนับสนุนจากที่อื่นด้วย มันจึงจะเกิดความหมายในวงกว้าง สำหรับทิศทางของนาโนเทคโนโลยีในอนาคตนั้นไม่น่ากังวล เพราะนักวิจัยมีการพัฒนาไปเองได้อย่างต่อเนื่อง แต่สิ่งที่เรากำลังมองและคาดหวังกับการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นเร็วๆนี้ เพราะรัฐบาลที่ผ่านมาเป็นรัฐบาลแรกที่พูดเรื่องวิจัยและนวัตกรรมมากที่สุด จึงขึ้นอยู่กับทั้งรัฐบาล ตัวเรา เอกชน ต้องไปพร้อมๆกัน หากรัฐบาลมีนโยบายที่ชัดเจน คนอื่นก็จะวิ่งตาม ไม่อยากให้นโยบายต่างๆ ที่เดินมาถูกทิศถูกทางต้องสะดุดด้วยเหตุผลทางการเมือง หากเราไม่ลงทุนด้านวิทยาศาสตร์ การวิจัยเราไม่มีทางสู้ประเทศอื่นได้แน่นอน” ศ.ดร.ไพรัช ฝากแง่คิด

ด้าน ดร.วรรณี ฉินศิริกุล ผู้อำนวยการศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ หัวเรือใหญ่ในการจัดงานครั้งนี้ กล่าวว่า “นอกเหนือจากการแสดงให้ชาวโลกได้เห็นศักยภาพคนไทยกับงานวิจัยนาโนเทคโนโลยีแล้ว ยังเป็นเวทีพูดคุยแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ทัศนคติ มุมมอง เทรนด์ของโลก ซึ่งความต่อเนื่อง ความสม่ำเสมอเป็นสิ่งสำคัญของงานวิจัยพัฒนาและการสร้างสัมพันธภาพ ตัวอย่างที่เห็นชัดคือ นาโนเทคได้สานต่อความร่วมมือกับศูนย์วิจัย Innovation Center of Nanomedicine (iCONM) ซึ่งมีความเชี่ยวชาญการศึกษาวิจัยด้านนาโนเมดิซีน โดยเฉพาะการรักษามะเร็ง หลังจากปีที่แล้วที่คณะประเทศไทยจากกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีได้มาเยือนพร้อมเจรจาความร่วมมือ ครั้งนี้ได้สานต่อความร่วมมือยิ่งขึ้นในการจัดประชุมเชิงปฏิบัติการระหว่างนักวิจัยไทยและญี่ปุ่น เป็นการต่อยอดแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ซึ่งกันและกัน หลังจากนี้เชื่อว่าจะเกิดเป็นโครงการวิจัยร่วมระหว่างไทยและญี่ปุ่นแน่นอน”

“เชื่อว่าอีกไม่เกิน 2–3 ปี จะเห็นสตาร์ตอัพดีๆ ไฟแรง พูดถึงนาโนเทคโนโลยีในผลิตภัณฑ์ต่างๆ ซึ่งจะเป็นเสียงสะท้อนหนึ่งที่สร้างแรงบันดาลใจให้คนอื่นๆ ได้เห็นความสำคัญของนาโนเทคโนโลยีมากยิ่งขึ้น” ดร.วรรณี ทิ้งท้ายถึงความมุ่งมั่น

ทีมข่าววิทยาศาสตร์ เห็นถึงกระแสนาโนเทคโนโลยีที่ได้รับความนิยมอย่างกว้างขวาง และมีบทบาทในชีวิตประจำวัน โดยเฉพาะในวงการแพทย์ อุตสาหกรรมต่างๆ เป็นเทคโนโลยีที่ยังต่อยอดพัฒนาให้ก้าวหน้ายิ่งขึ้นด้วยการศึกษาวิจัย

จึงเป็นโจทย์ข้อใหญ่สำหรับรัฐบาลใหม่ที่กำลังจะเกิดขึ้นภายใต้ระบอบประชาธิปไตย ว่าจะให้ความสำคัญกับงานวิจัยและวิทยาศาสตร์มากน้อยแค่ไหน

เพราะนี่คือพลังสำคัญที่จะชิงความได้เปรียบในการพัฒนาและสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับประเทศอย่างยั่งยืน.

ทีมข่าววิทยาศาสตร์