ความฝันในการผลิตพลังงานจากแสงอาทิตย์ที่ถือเป็นพลังงานหมุนเวียนได้จากธรรมชาติ หรือเรียกว่าพลังงานสีเขียว เพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนพลังงานในโลกอย่างยั่งยืน โดยติดตั้งตามหน้าต่างอาคาร อาจใกล้ความเป็นจริงแล้วเมื่อโอลกา มาลินกีวิคส์ นักฟิสิกส์และนักธุรกิจสาวชาวโปแลนด์ ได้พัฒนาวิธีการประมวลผลแบบอิงก์เจ็ต (inkjet) หรือการพิมพ์แบบพ่นหมึกแบบใหม่ ไปใช้กับแผงเซลล์แสงอาทิตย์ที่ทำมาจากเพอรอฟสไกต์ (perovskites)

เพอรอฟสไกต์รู้จักในแวดวงวิทยาศาสตร์มาตั้งแต่ปี พ.ศ.2436 เป็นแร่แคลเซียมไทเทเนียมออกไซด์ พบในเทือกเขายูราลในรัสเซีย ถูกยกย่องว่าเป็นทางเลือกแห่งอนาคตด้านพลังงานแสง อาทิตย์ เพราะทุกวันนี้วัสดุเก็บเกี่ยวเซลล์แสงอาทิตย์ส่วนใหญ่ทำจากซิลิคอน ที่ผลิตด้วยอุณหภูมิสูงมีราคาแพง ต่างจากวัสดุเพอรอฟสไกต์ที่ผลิตได้ในอุณหภูมิต่ำมีราคาถูก ด้วยโครงสร้างของแร่ที่มีน้ำหนักเบา ยืดหยุ่น สามารถทำเฉดสีและระดับความโปร่งแสงที่แตกต่างกันได้

เมื่อต้องการผลิตกระแสไฟฟ้าหรือพลังงานในร่ม ก็เคลือบวัสดุนี้ลงไปที่พื้นผิวประเภทต่างๆ เช่น คอมพิวเตอร์พกพา รถยนต์ ยานอวกาศ เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าในการใช้งานเครื่องใช้หรือยานยนต์เหล่านี้ เนื้อสารจะดูดซับแสงอาทิตย์ได้ดี เมื่อนำมาพัฒนาร่วมกับกระบวนการพิมพ์แบบอิงก์เจ็ต ก็เพิ่มประสิทธิภาพและลดต้นทุนการผลิต ซึ่งเพอรอฟสไกต์ได้พิสูจน์แล้วว่าประสบความสำเร็จบนพื้นผิวที่ได้รับแสงแดดเพียงเล็กน้อย สามารถนำไปใช้ได้ทุกที่.