แพทย์ผู้เชี่ยวชาญเผยหนีฝุ่น PM 2.5 เกินมาตรฐานอยู่ในบ้านหรือในห้อง จะเปิดแอร์หรือไม่เปิดแอร์ก็ไม่พ้นอันตราย เพราะฝุ่นสามารถเข้าได้ ต้องใช้เครื่องฟอกอากาศช่วย...

เมื่อวันที่ 31 ม.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานแพทยสมาคมแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ เครือข่ายวิชาชีพสุขภาพเพื่อสังคมไทยปลอดบุหรี่ เครือข่ายวิชาชีพแพทย์ในการควบคุมการบริโภคยาสูบ ศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ และชมรมลมวิเศษ โครงการอุ่นใจใกล้แพทยสมาคม โดยคณะกรรมการชมรมลมวิเศษจัดงานแถลงข่าว "ถอด N95 ร่วมแก้ปัญหาฝุ่นจิ๋ว" ขึ้น เพื่อเสนอแนวทางแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 ที่กำลังปกคลุมกรุงเทพฯ และปริมณฑล เมื่อเร็วๆ นี้

งานนี้ ศ.นพ.ชายชาญ โพธิรัตน์ อายุรแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคปอด คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่และกรรมการที่ปรึกษาชมรมลมวิเศษ ผู้ที่ติดตามการแก้ไขปัญหาฝุ่นควันพิษ จ.เชียงใหม่ และภาคเหนือต่อเนื่อง กล่าวว่า ปัญหาฝุ่นจิ๋วที่กำลังคุกคามสุขภาพของคนกรุงเทพฯ มี 4 ประเด็นสำคัญ คือ ประเด็นแรก ผลกระทบต่อชีวิตและสุขภาพของประชาชนขั้นรุนแรง โดยผลกระทบในระยะสั้นที่รุนแรง คือ เพิ่มอัตราการเสียชีวิตและการเจ็บป่วยรายวันจากโรคระบบการหายใจ หัวใจ และหลอดเลือดสมองให้สูงขึ้น เช่น โรคปอดอักเสบ กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด และโรคหลอดเลือดสมอง ส่วนผลกระทบระยะยาวที่ร้ายแรง คือ อายุขัยเฉลี่ยสั้นลงตามระดับความเข้มข้นค่าเฉลี่ยรายปีของ PM 2.5 ในพื้นที่บ้านเกิด โดยพบว่าทุกๆ 10 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร (มคก./ลบ.ม.) ที่เพิ่มขึ้นทำให้ผู้ที่เกิดและอยู่อาศัยในพื้นที่นั้นสั้นอายุขัยสั้นลงลง 0.98 ปี ซึ่งหากสามารถลดระดับความเข้มข้นของ PM 2.5 ลงมาตามที่องค์การอนามัยโลกแนะนำค่าเฉลี่ยต่อปีไว้คือ 10 มคก./ลบ.ม. จะทำให้อายุขัยของประชาชนยืนยาวเพิ่มขึ้นอีก 5.53, 4.37 และ 2.41 ปีตามลำดับ

...

ประเด็นที่สอง การกำหนดค่ามาตรฐาน องค์การอนามัยโลกกำหนดระดับค่าความเข้มข้นของ PM2 .5 รายวันและรายปีที่ทำให้ประชากรโลกเสี่ยงต่อการเสียชีวิตและมีผลกระทบต่อสุขภาพขั้นรุนแรงน้อย โดยมาตรฐานดังกล่าวสามารถดำเนินการควบคู่ไปกับการพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคมให้เจริญก้าวหน้าหน้าไปได้อย่างยั่งยืน สำหรับประเทศที่มีระดับมลพิษสูงมากๆ เช่น จีน อินเดีย บังกลาเทศ และเนปาล องค์การอนามัยโลกแนะนำให้ตั้งเป้าหมายในการลดมลพิษเป็นลำดับขั้นให้ชัดเจน เช่น ขั้นแรกตั้งเป้าหมายค่าเฉลี่ยรายปีลดให้ไม่เกิน 35 มคก./ลบ.ม และเมื่อทำได้ก็ตั้งเป้าหมายระยะกลางลดให้ได้ไม่เกิน 25, 15, และสุดท้าย 10 มคก./ลบ.ม ตามลำดับ

ประเด็นที่สาม การประกาศใช้ดัชนีคุณภาพอากาศรายวัน สำหรับการเตือนประชาชนอย่างรวดเร็ว เพื่อให้เกิดผลกระทบต่อชีวิตและสุขภาพน้อยที่สุด และกระตุ้นให้ภาครัฐจัดสรรงบประมาณและมีมาตรการรองรับตามสมควรกับระดับดัชนีคุณภาพอากาศ ดังนั้น จึงควรใช้ค่าการคำนวณดัชนีคุณภาพอากาศที่ไวพอในการเตือนประชาชน เช่น US-EPA AQG ไม่ใช่ตั้งค่าไว้สูงๆ ไว้ก่อน เมื่อสูงมากแล้วค่อยเริ่มเตือนเสมือนลวงให้ประชาชนเข้าใจผิดว่า ยังไม่เป็นอันตรายทำให้ประชาชนไม่มีการป้องกันต่อตนเองและครอบครัว ทำให้เกิดความสูญเสียต่อชีวิตและสุขภาพ และยังมีผลกระทบต่อภาคธุรกิจ การท่องเที่ยว การลงทุน ตลอดจนภาพลักษณ์ของประเทศอีกด้วย

ประเด็นที่สี่ คุณภาพอากาศในบ้าน ในห้อง ในอาคาร คนไทยส่วนใหญ่เข้าใจผิดว่า การหลีกเลี่ยงปัญหาฝุ่นละอองภายนอกโดยการเก็บตัวอยู่ในบ้านหรือ ในอาคารก็ปลอดภัยเพียงพอ ออกไปที่โล่งค่อยใส่หน้ากาก N 95 อันที่จริงแล้วเป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน เพราะเมื่อพักอยู่ในอาคาร เช่น ห้างสรรพสินค้า ห้องเรียน ห้องทำงาน จะเปิดเครื่องปรับอากาศหรือไม่ก็ตาม สภาพห้องโดยทั่วไปมักปิดไม่ได้สนิท อากาศภายนอกยังคงเล็ดลอดเข้ามาในอาคารได้ทำให้ระดับของฝุ่นจิ๋ว PM 2.5 ภายในอาคารลดต่ำลงจากภายนอกเพียงแค่ร้อยละ 15-20 ของระดับฝุ่นภายนอกในขณะนั้นเท่านั้น อากาศที่ดูดเข้ามาใช้ในการหมุนเวียนในอาคารมักไม่ได้ผ่านการกรองละเอียด สภาพอากาศในอาคารจึงไม่ต่างจากภายนอกมากนัก ดังนั้น เมื่ออยู่บ้านหรือห้องทำงาน การมีเครื่องฟอกอากาศจึงเป็นเรื่องจำเป็นในช่วงที่คุณภาพอากาศภายนอกไม่ดี 

รศ.นพ.ฉันชาย สิทธิพันธุ์ อายุรแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคปอด คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และกรรมการที่ปรึกษาชมรมลมวิเศษ กล่าวว่า จากนี้ไปคนกรุงเทพฯ จะต้องปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตให้สามารถรับมือกับปัญหาฝุ่นจิ๋วนี้ ให้ดีขึ้นและปลอดภัยขึ้น เช่น การใส่หน้ากากในช่วงที่มีปริมาณฝุ่นอยู่ในระดับสูง การงดกิจกรรมทางกายกลางแจ้ง การใช้เครื่องฟอกอากาศในบ้านและการเช็ดถูบ้านด้วยผ้าเปียก แทนการกวาดบ้านหรือดูดฝุ่น เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม การแก้ไขปัญหานี้ ในระยะยาวต้องอาศัยทุกภาคส่วนในการแก้ไขปัญหา ไม่ว่าจะเป็นการลดที่มาฝุ่นทั้งแหล่งขนาดใหญ่ ขนาดกลางและขนาดเล็ก เช่น โรงงานอุตสาหกรรม การก่อสร้าง โรงไฟฟ้าถ่านหิน การขนส่งต่างๆ ต้องมีการควบคุมปริมาณฝุ่นให้ลดลงตามมาตรฐานสากล การลดการบริโภคสินค้าที่ก่อให้เกิดฝุ่นควันมากขึ้น เช่น ยาสูบทุกประเภท นอกจากนี้ ภาครัฐอาจต้องเข้ามาช่วยเหลือในการพัฒนานวัตกรรมในการผลิตและขนส่งให้มีฝุ่นน้อยลง การตรวจสอบมาตรฐานเครื่องยนต์ต่างๆ เช่น รถยนต์ที่เสื่อมสภาพ รถยนต์ดีเซลต้องได้รับการตรวจตราที่เข้มงวดอย่างจริงจัง รวมทั้งต้องมีระบบการแจ้งเตือนประชาชน โดยเฉพาะในกลุ่มเสี่ยงให้ปฏิบัติตนอย่างถูกต้อง เพื่อความปลอดภัยของตนเองและควรได้รับการดูแลที่ทันท่วงทีในช่วงที่เกิดวิกฤติ เป็นต้น ซึ่งจากงานวิจัยพบว่า หากดำเนินมาตรการต่างๆ เหล่านี้ให้เห็นผล จะช่วยลดอัตราการเสียชีวิตของประชาชนลงได้ถึง 3.5% ภายในระยะเวลาไม่ถึง 1 ปี.