ประเด็นสำคัญในรอบ 1-2 อาทิตย์ที่ผ่านมา คงหนีไม่พ้นเรื่อง ปัญหามลพิษ ฝุ่น PM2.5 ที่กำลังเป็นเรื่องใหญ่ของประเทศไทย ปัญหาดังกล่าวไม่ได้เกิดขึ้นแค่ใน กทม.เท่านั้น แต่ลุกลามไปยังต่างจังหวัดใหญ่ๆ รวมถึงเมืองอุตสาหกรรมสำคัญของประเทศ
ทั้งนี้ หากมองย้อนกลับไปในช่วง 5-6 ปีที่ผ่านมา จีน ก็ถือเป็นอีกประเทศหนึ่งที่ต้องรับมือกับการเติบโตของเมืองแบบก้าวกระโดด ซึ่งมาพร้อมกับปัญหามลพิษ ไม่ว่าจะเป็นโรงงานอุตสาหกรรม การก่อสร้างต่างๆ รวมถึงไปการใช้พลังงานจากถ่านหิน แต่ไม่นานมานี้ เรื่องของมลพิษของจีนกลับเบาบางลง ซึ่งจีนมีมาตรการรับมือกับปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างไร
ภากร กัทชลี แอดมินแฟนเพจ อ้ายจง เปิดเผยกับทีมข่าวไทยรัฐออนไลน์ว่า จีนใช้วิธีแก้ปัญหาตั้งแต่ต้นน้ำยังปลายน้ำ เริ่มต้นที่การปิดโรงงานที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม หรือ การเฝ้าระวังโรงงานต่างๆ ถ้าไม่ทำตามก็ได้รับโทษตามกฎหมาย โดยทางการจีนไม่ได้สนใจว่าจะส่งผลกระทบต่อภาพรวมเศรษฐกิจอย่างไร เพราะเขาให้ความสนใจประชาชนมากกว่า โดยเฉพาะปัญหาสุขภาพที่เป็นปัญหาในระยะยาว
...
ทั้งนี้ ถ้าเทียบระหว่างไทยกับจีน เราก็เริ่มมาถูกทาง แต่ปัญหาที่สำคัญ คือ ระบบความคิดของคน ซึ่งเราอาจจะไม่เห็นผลกระทบเรื่องมลพิษมาก่อนหน้านี้ แต่เมืองจีนมีการรณรงค์เพื่อให้ประชาชนตระหนักถึงปัญหานี้ และสร้างการรับรู้ปัญหาที่เกิดขึ้นเพื่อช่วยกันแก้ไข
"ยกตัวอย่างเช่น การปิ้งย่างริมถนน หรือพวกย่างหมาล่า ก็ขอให้ช่วยหยุดขาย หรือให้ช่วยกันเปลี่ยนจากเตาที่ย่างถ่านเป็นเตาไฟฟ้า เปลี่ยนจากกินนอกร้านริมถนนไปกินในร้านแทน ซึ่งจีนเองอากาศแห้ง ไม่มีลมเลย พอเป็นช่วงเปลี่ยนฤดูก็กลับมาขายกันปกติ รวมไปถึงการเกิดปัญหามลภาวะทางคมนาคม ยกตัวอย่างเช่น เมืองปักกิ่ง ที่รถเมล์เปลี่ยนมาเป็นระบบไฟฟ้า 90-95% ถามว่าไทยทำได้ไหม บอกเลยว่าทำได้ ซึ่งอยู่กับนโยบายภาครัฐ ทางจีนเองก็ค่อยๆ เปลี่ยน ไม่ใช่เขาเปลี่ยนเลย ที่สำคัญต้องเปลี่ยนความคิดของคนว่า เราจะต้องแก้ปัญหามลพิษไปด้วยกัน"
ภากร กล่าวอีกว่า รัฐบาลจีนเองก็เคยโดนประชาชนแสดงความคิดเห็นในแง่ลบเกี่ยวกับมาตรการดังกล่าว โดยเฉพาะในโลกโซเชียล ซึ่งมีการทำเป็นแคมเปญล้อเลียนรัฐ แต่รัฐเองก็ไม่ได้ตอบโต้อะไร รัฐบาลก็พยายามแก้ไขควันพิษ ออกแผนรับมือทุกๆ 5 ปี ล่าสุดรัฐประกาศเลยว่าจะแก้ปัญหามลพิษภายในปี 2020
นอกจากนี้ การดูแลราคาสินค้าที่เกี่ยวกับการป้องกันฝุ่น เช่น หน้ากากอนามัย ราคาไม่แพง ทุกคนสามารถซื้อได้ ซึ่งรัฐเองมีงบประมาณอุดหนุนให้บริษัทผู้ผลิตหน้ากากอนามัย ทำให้ราคาไม่สูง และไม่เคยขาดตลาด ซึ่งข้อนี้ถือเป็นสิ่งสำคัญ
โกหกเรื่องตัวเลขที่เกี่ยวกับมลพิษ เข้าข่ายผิดคอร์รัปชัน
หากย้อนกลับไปเมื่อปี 59 เมืองซีอานที่ตนอยู่นั้น มีข่าวเรื่อง "เจ้าหน้าที่ของจีนลงดาบเจ้าหน้าที่รัฐในซีอาน เนื่องจากปลอมแปลงข้อมูลสภาพมลพิษทางอากาศในสถานีตรวจเช็ก" อย่างที่เราทราบๆ กันว่า ปัญหามลพิษทางอากาศถือเป็นปัญหาใหญ่ของจีน และทางรัฐบาลกำลังเอาจริงกับการแก้ปัญหานี้ ซึ่งตามพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศจีน จะมีสถานีตรวจเช็กมลพิษทางอากาศแบบ Real-time เพื่อนำข้อมูลมาประมวลผลและวิเคราะห์ ดังนั้นข้อมูลจึงสำคัญมาก
โดยทางการจีนให้สิทธิ์เจ้าหน้าที่ในสำนักงานป้องกันสิ่งแวดล้อมในเขต หรือในเมืองนั้นมีสิทธิ์ลงโทษโรงงาน-ผู้ประกอบการ ที่ก่อให้เกิดภาวะมลพิษทางอากาศในพื้นที่ แต่ถ้ามลพิษทางอากาศในพื้นที่นั้นสูงเกินกว่ากำหนด เจ้าหน้าที่จะต้องรับโทษด้วยเช่นกัน
ด้วยเหตุข้างต้น ทำให้เจ้าหน้าที่สถานีตรวจเช็กสภาพอากาศในเขตฉางอัน ทางตอนเหนือของเมืองซีอาน มณฑลส่านซี ที่เป็นเมืองหนึ่งที่ประสบปัญหาสภาพอากาศ คิดปลอมแปลงผลตรวจสภาพอากาศ เพื่อหลีกเลี่ยงการรับโทษ แต่สุดท้ายก็ถูกจับได้เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา และกำลังอยู่ระหว่างการดำเนินคดี
สำหรับวิธีการปลอมแปลงข้อมูลนั้น ทางเจ้าหน้าที่ได้แอบเข้าไปในสถานีตรวจเช็ก โดยนำผ้าก๊อซปิดตัวเซนเซอร์ตรวจจับสภาพอากาศ เพื่อให้ผลตรวจเช็กต่างจากความเป็นจริง โดยการกระทำครั้งนี้ ทางหัวหน้าสถานีรู้เห็นเป็นใจด้วย ทั้งนี้หัวหน้าสำนักงานปกป้องสิ่งแวดล้อมในเขตนั้น ซึ่งดูแลควบคุมสถานีตรวจเช็กแห่งนี้ ถูกดำเนินคดีร่วมกับหัวหน้าสถานีและเจ้าหน้าที่ที่ร่วมกระทำการในครั้งนี้ด้วยเช่นกัน
ภากร กล่าวอีกว่า นี่เป็นอีกหนึ่งเหตุการณ์ที่ยืนยันได้เป็นอย่างดีว่า หากเจ้าหน้าที่รัฐคนใดกระทำผิด ต้องรับโทษ ไม่มีข้อยกเว้น ตามนโยบายปราบคอร์รัปชันของประเทศจีน ซึ่งก็เริ่มเห็นผลอย่างชัดเจนใน 1-2 ปีมานี้ ที่อากาศในจีนเริ่มดีขึ้น ทั้งประชาชนและเจ้าหน้าที่รัฐ รวมถึงภาคเอกชนให้ความร่วมมือแก้ไขปัญหาร่วมกันในทิศทางที่ดี.