ในจำนวนพระผงสุพรรณทั้งสามพิมพ์ พิมพ์หน้าแก่ พิมพ์หน้ากลาง และพิมพ์หน้าหนุ่ม ไม่เพียงพิมพ์หน้าแก่ได้รับความนิยมสูงสุด ยังเป็นพิมพ์ที่มีตำหนิทีเด็ดเคล็ดลับหลายแห่ง เป็นตัวช่วยให้ตัดสินใจได้มากที่สุด

แต่เพราะราคาแพงมากๆ พระปลอมนับวันก็ยิ่งพัฒนา ทุกตุ่มติ่ง ทุกเส้นสาย ถึงวันนี้ไม่ใช่เคล็ดลับต่อไปแล้ว รู้กันหมดแล้ว นักปลอมทำได้ใกล้เคียงเข้าทุกวัน

แต่ก็ยัง เหลือความเก่า ผิวผ้า คราบรารักและเนื้อหาให้แยกแท้เก๊ออกจากกันได้ไม่ยากเกินไปนัก

โอกาสจับต้อง “ของจริง” สำหรับบางคนอาจน้อย ก็หมั่นดูภาพพระแท้ในหนังสือมาตรฐานของวงการเข้าไว้...อย่างน้อยก็ไม่ถึงกับหลงพระเก๊ฝีมืออยู่คนเดียว

ตั้งใจดู ด้านหน้าพระผงสุพรรณพิมพ์หน้าแก่ องค์ในคอลัมน์วันนี้...ทุกเส้นสายลายพิมพ์ติดชัดเจน น้ำหนักตำหนิพิมพ์ในพื้นผนัง ก็กำลังดี เส้นเสี้ยน ที่เริ่มจากคอ ผ่านอกมาจรดข้อมือ...ก็ลงตัว

เส้นเสี้ยนเหล่านี้ ติดชัดมากไปก็แสดงเจตนาปลอม ติดเบาบาง พอให้เห็นเค้าลาง โอกาสเป็นพระแท้มากกว่า

สรุปว่าติดหนักไปก็ไม่ดี ไม่ติดเสียเลย ก็ไม่มีตัวช่วย...ไม่ดีเหมือนกัน

จุดเด่นมากของพระองค์นี้ อยู่ที่ผิวฝ้า...รารักดำ หรือจะเรียกคราบก็ได้ เป็นแผ่นหนา ไม่เกาะแน่นสนิท สีดำหม่น ไม่ดำสนิทเหมือนขนกาน้ำ มีร่องรอยหลุดล่อน นี่คือลักษณะของรารักดำของพระแท้

คราบหรือรา...ผิวพระผงสุพรรณ มีสามสี สีดำ เกิดจากเชื้อราดำ ในพระเนื้อแดง คราบขาวเกิดจากเชือราขาวซึ่งมักเกิดกับพระเนื้อดำ และคราบกรุสีเหลือง มักมีในพระเนื้อเขียว

รวมกับรอยเหี่ยวย่น ที่เกิดจากความหดตัวของมวลสารที่จับกันเป็นผลึก เมื่อถูกนำไปเก็บไว้ในกรุ ที่มีความร้อนเย็นสลับกันไป ความชื้นในองค์พระจะถูกขับออกมา

คุณสมบัตินี้ คุณมนัส โอภากุล เขียนไว้ในหนังสือพระเมืองสุพรรณว่า ถ้าพระผงสุพรรณผ่านการเผาไฟจะไม่เกิดรอยเหี่ยวย่นแน่นอน

...

สำหรับคนรักพระผงสุพรรณ ถึงวันนี้มีภาพพระแท้ ให้เทียบเคียงความเหมือนความต่างมากมายหลายองค์ จุดตำหนิที่เป็นเคล็ดลับ ในองค์ที่พิมพ์ติดชัด ถือเป็นตำหนิตายตัว ดูให้เจนตา จำให้แม่นยำ

หลักตัดสินพระแท้มีแค่สองข้อ พิมพ์ใช่ เนื้อก็ใช่ ถ้าพิมพ์ไม่ดี เนื้อก็ไม่ดี ก็วางเลย

ข้อพิจารณาต่อมา นอกจากผงสุพรรณหน้าแก่ มีตำหนิตายตัว ให้ดูหลายตำแหน่งแล้ว ยังต้องรู้จักสัญลักษณ์ที่ไม่ตายตัว อย่าง “ลายมือ” ด้านหลัง

ลายมือผงสุพรรณ เชื่อกันว่าเป็นของพระมหาเถรปิยทัสสะสี สาริบุตร ที่เห็นชัดเจน

คุณมนัส โอภากุล ย้ำว่า ลายมือนั้นมีถึง 99.99% เคยเห็นองค์เดียวไม่มีหลายมือ

ข้อน่าสังเกตมีลายมือแบบก้นหอย ที่เชื่อว่าเป็นลายมือมหาเถร ยังมีอีกลายมือแบบมัดหวาย

ไม่ว่าจะเป็นลายมือแบบไหน ลักษณะที่ตรงกันคือเส้นลายมือหยาบและหยักเป็นคลื่นน้อยๆ เนื่องจากการหดตัวของเนื้อพระ

เฉพาะลายมือก้นหอย คุณมนัสชี้ว่า ตรงกึ่งกลางจะเกิด “เนินเรียบ” เป็นส่วนมาก

อยากรู้ว่าเป็นไง ดูด้านหลังพระผงสุพรรณ องค์ในคอลัมน์นี้ก็ได้ ตรงกลางที่เห็นก้นหอยเลือนราง นั่นแหละ “เนินเรียบ”

ลักษณะของลายมือหลังพระผงสุพรรณ เพียงแต่คล้ายกัน แต่ไม่ตรงกันเป๊ะๆตายตัว

“เนินเรียบ” อาจอยู่กลาง บน หรือล่าง เน้นตรงจุดกลางก้นหอย ไม่ใช่ผิวเรียบที่ลายมือกดไปไม่ถึง

สะสมความรู้เข้าไว้ ตกผลึกจนเกิดเป็นปัญญาเมื่อไหร่ พระผงสุพรรณแท้สักองค์อาจมาโปรดถึงมือ.

พลายชุมพล