ดร.ขวัญฤดี โชติชนาทวรวงศ์ ผอ.ศูนย์วิจัยยุทธศาสตร์สิ่งแวดล้อม สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) เปิดเผยว่า วช.ร่วมกับคณะกรรมาธิการการทรัพยากรธรรมชาติฯ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ จัดเสวนา “ธูป...ทำบุญ...ผลต่อสุขภาพ... มะเร็ง???” โดยจากงานวิจัย “สารก่อมะเร็ง : ภัยเงียบที่มากับควันธูป” ของ นพ.มนูญ ลีเชวงวงศ์ โรงพยาบาลวิชัยยุทธ และ ดร.พนิดา นวสัมฤทธิ์ สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ พบว่า ควันธูปมีสารก่อมะเร็ง 3 ชนิด ได้แก่ เบนซีน บิวทาไดอีน และเบนโซเอไพรีน เพราะธูปเป็นเครื่องหอมที่ทำจากขี้เลื่อย กาว น้ำมันหอมสกัดจากพืช ไม้หอม ใบไม้ เปลือกไม้ รากไม้ เมล็ดพืช เรซิน และสารเคมีที่ใช้ในอุตสาหกรรมน้ำหอมก็จะพอกอยู่บนก้านไม้ ธูปมีหลายรูปหลายขนาดตั้งแต่เล็กถึงใหญ่มากๆ เผาไหม้หมดในเวลา 20 นาที-3 วัน 3 คืน ซึ่งในประเทศไทย ในการบูชาพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ บางคนต้องจุดธูปถึง 9 ดอก ทั้งนี้ มีการคาดการณ์ว่ามีคนจุดธูปทั่วโลกปีหนึ่งๆ เป็นหมื่นถึงแสนตัน และทุกๆ 1 ตันของธูปจะปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 325.1 กิโลกรัม และก๊าซมีเทน 7.2 กิโลกรัม หากปีหนึ่งมีคนจุดธูปเป็นหมื่นถึงแสนตัน จะมีก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และมีเทนออกมาจำนวนมหาศาล ไม่เพียงแต่จะเป็นอันตรายต่อสุขภาพคนเท่านั้น ยังมีผลต่อมลภาวะสิ่งแวดล้อม ทำให้เกิดภาวะเรือนกระจกในชั้นบรรยากาศอีกด้วย นอกจากนี้ ในกระบวนการผลิตธูปปัจจุบันยังมีการนำวัสดุบางประเภทมาใช้ในการผลิต เช่น เศษเฟอร์นิเจอร์เก่าๆ ซึ่งมีสารที่มีองค์ประกอบของสารเคมีที่เป็นอันตรายด้วย

ผอ.ศูนย์วิจัยฯกล่าวต่อว่า ทั้งนี้ วช.จะนำไปสู่ข้อสรุปการจัดการใน 3 ประเด็นหลักคือ การใช้ธูปควรมีแนวทางดำเนินการในสังคมไทยอย่างไร การออกแบบธูปที่เหมาะสมและปลอดภัยต่อสุขภาพในการใช้งานและการลดพฤติกรรมการใช้ธูปในระยะยาว.

...