“ครูโซ่” ครูคณิตศาสตร์ชื่อดัง มักแต่งตัวแปลกๆ มาสอนเด็กจนภาพถูกแชร์มากมายในโซเชียล เผยอย่างภูมิใจ ไม่มีเด็กโดดเรียนแม้แต่คนเดียวเพราะมีความสุขในการเรียน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พบผู้ใช้เฟซบุ๊ก ครูโซ่ สอนศิษย์ให้คิดบวก หรือ นายยอดหทัย รีศรีคำ ครูประจำวิชาคณิตศาสตร์ โรงเรียนแกลงวิทยสถาวร จ.ระยอง ได้โพสต์ภาพการแต่งกายในชุดต่างๆ ขณะสอนนักเรียน พร้อมกับข้อความที่กำลังเป็นกระแสเรื่องการแต่งชุดไปรเวทไปโรงเรียนของเด็กนักเรียนมัธยม ว่า “เห็น บาง รร อนุญาตนักเรียนใส่ชุดไปรเวทได้ อยากขอให้อนุญาตครูใส่บ้าง อยากใส่มาจากบ้านนนนน ขี้เกียจแอบเปลี่ยนชุด อิอิ” ซึ่งโพสต์ดังกล่าวถูกแชร์ออกไปอย่างมากมาย
ทางด้าน ครูโซ่ เปิดเผยกับทีมข่าวไทยรัฐออนไลน์ว่า ปัจจุบันสอนในระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1, 3, 5 และ 6 ได้ใช้การสอนแบบ “Active Learning Happiness” ซึ่งตลอดการสอนในรูปแบบนี้มา 7 ปี กับ 2 โรงเรียน เรียกได้ว่าประสบผลสำเร็จ เพราะทำให้ไม่มีเด็กโดดเรียนแม้แต่คนเดียวในวิชาคณิตศาสตร์ เด็กๆ รู้สึกสนุกและความสุขในการเข้าเรียน แม้แต่เด็กที่เรียนไม่เก่ง คะแนนไม่ดี ก็มีคะแนนที่ดีขึ้น สำหรับเรื่องการแต่งกายในชุดต่างๆ ทุกชุดจะต้องเกี่ยวเนื่องกับเนื้อหาของบทเรียน หรือเป็นช่วงที่มีเรื่องราวที่เด็กกำลังสนใจ โดยจะแต่งกายในช่วงเริ่มเนื้อหา ส่วนช่วงท้ายของเรื่องจะเป็นการนำเนื้อหามาแต่งเป็นเพลงให้เด็กจดจำได้ง่าย
“หัวใจหลักๆ ของเรื่องนี้ ผมชอบตรงที่เวลาผมพูดว่าเด็กๆ ถ้าครูพูดถึงบทการแปลงฐานล่ะ เด็กจะนึกถึงภาพการแปลงร่าง เพราะผมโยงไปเรื่องการแปลงร่าง เด็กจะมองเห็นภาพนั้นก่อนแล้ว เด็กจะไม่ลืมเขาจะโยงต่อได้ พูดถึงเลขโรมัน เด็กก็นึกถึงนักรบโรมันแล้วเขาก็ไปต่อได้ ทำให้เด็กที่เป็นกลุ่มหลังของห้องคะแนนเฉลี่ยห้องขึ้นมาสูงมาก นี่คือสิ่งที่เราทำได้ เด็กบางห้องไม่ได้เก่งวิทย์-คณิตแต่เขาต้องเรียน ก็ต้องทำให้เขาผ่านไปได้ เข้าเรียนอย่างมีความสุข ได้อะไรกลับไป นั่นคือสิ่งที่เราต้องการที่สุด จึงทำรูปแบบการสอนนี้ออกมา ถึงแม้ผมจะรับสอนเด็กจากที่อื่นด้วย แต่จะไม่หาเงินด้วยการสอนพิเศษกับลูกศิษย์ตัวเองในโรงเรียนเด็ดขาด ผมทำตลอด 10 ปีที่ผ่านมา”
...
ส่วนกรณีเรื่องนักเรียนสวมใส่ชุดไปรเวทไปเรียนนั้น ตามจริงก็มีหลายโรงเรียนที่ทำเช่นนี้แล้วเพียงแต่อาจจะไม่ได้เป็นที่สนใจมากทำเก่าโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียน แต่คงต้องอ้างไปถึง ระเบียบกระทรวงศึกษาธิการ ว่าด้วยเครื่องแบบนักเรียน พ.ศ. 2551 ข้อ 15 ว่า สถานศึกษาใดจะกำหนดให้นักเรียนแต่งเครื่องแบบลูกเสือ เนตรนารี ยุวกาชาด นักศึกษาวิชาทหารหรือแต่งชุดพื้นเมือง ชุดไทย ชุดลำลอง ชุดฝึกงาน ชุดกีฬา ชุดนาฏศิลป์ หรือชุดอื่นๆ แทนเครื่องแบบนักเรียนตามระเบียบนี้ในวันใด ให้เป็นไปตามที่สถานศึกษากำหนดโดยคำนึงถึงความประหยัดและเหมาะสม
ซึ่งชุดลำลอง ก็แปลตามตัวว่าเป็นชุดที่ใส่แล้วสุภาพ ความเห็นส่วนตัวก็คิดว่าไม่ได้ทำอะไรผิดแปลก และต้องแค่วันอังคาร แต่ก็ต้องใช้ในโรงเรียนที่มีความพร้อมมากกว่า ซึ่งอาจจะใช้ไม่ได้กับโรงเรียนที่ผู้ปกครองยังมีความเหลื่อมล้ำกันอยู่เพราะยังมีสังคมของการแข่งขันหรืออวดของกัน และมองว่าน่าจะเป็นการทดลองของโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนว่ามีผลดีหรือผลเสียต่อการเรียนจริงหรือไม่
ทั้งนี้ ครูโซ่ เผยด้วยว่า “ผู้ปกครองหลายคนอยากจะส่งลูกหลานมาเรียนในรูปแบบวิธีการเรา ทุกวันนี้กระทรวงศึกษาธิการ ก็ให้ไปเทรนด์ครูด้วยกันในฐานะวิทยากร เพื่อสอนนักเรียนในรูปแบบนี้ ครูหลายคนก็เอาไปปรับใช้ในรูปแบบของตนเอง ผมยังฝันเลยว่าอนาคตผมจะต้องมีโรงเรียนแบบนี้แน่ๆ เลย รวบรวมครูที่เป็นแบบนี้มา มันจะสนุกมาก เพราะเราพบแล้วว่าการเรียนที่มีความสุขทำให้เกิดการเรียนรู้ที่ดีที่สุด”
(ขอบคุณเฟซบุ๊ก ครูโซ่ สอนศิษย์ให้คิดบวก, ราชกิจจานุเบกษา)