อภ.เดินหน้าปลูก-ผลิตสารสกัดกัญชา พ้อยอมเสี่ยงถึงแม้ยังไม่ได้ความชัดเจนจากกรมทรัพย์สินทางปัญญาเรื่องคำขอสิทธิบัตร เผยร่อนหนังสือ 2 รอบยังไม่ได้คำตอบ ด้าน “หมอธีระวัฒน์” ตั้งข้อสังเกตรัฐบาลไทยยอมรับปากร่วมความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิกกับญี่ปุ่นหรือไม่ 11 ม.ค. บุกทวงถาม “สนธิรัตน์” ถึงที่ ประกาศไม่ขอเลือกพรรคพลังประชารัฐเป็นรัฐบาลต่อแน่
ที่กระทรวงสาธารณสุขเมื่อบ่ายวันที่ 8 ม.ค. นพ.โสภณ เมฆธน ที่ปรึกษา รมว.สาธารณสุข ในฐานะประธานคณะกรรมการพิจารณาการนำกัญชามาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ กล่าวภายหลังการประชุมคณะกรรมการฯว่า เดิมที่ประชุมมีมติให้มีการใช้กัญชาทางการแพทย์ 4 กลุ่มโรคคือ ลมชักในเด็ก กล้ามเนื้อแข็ง ผู้ป่วยมะเร็งที่มีอาการคลื่นไส้อาเจียนจากการได้รับยาเคมีบำบัด และปวดเรื้อรัง โดยจะศึกษาปริมาณความต้องการใช้เพื่อกำหนดการปลูกและผลิต อีกทั้งล่าสุดที่ประชุมได้ดำเนินการศึกษาเพิ่มอีก 2 กลุ่มโรคคือ กลุ่มโรคที่น่าจะมีประโยชน์ทางการแพทย์ อาทิ โรคพาร์กินสัน อัลไซเมอร์และการใช้ในผู้ป่วยระยะสุดท้าย อีกกลุ่มคือกลุ่มที่อาจจะมีประโยชน์ เช่นการใช้นํ้ามันกัญชาในการฆ่าเซลล์มะเร็ง จะต้องเริ่มวิจัยตั้งแต่หลอดทดลองและคลินิกต่อไป โดยรอให้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ไปจัดทำกรอบการดำเนินการต่อไป
นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ เลขาธิการ อย. กล่าวว่า การใช้กัญชาทางการแพทย์อยู่ระหว่าง พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษประกาศใช้อย่างเป็นทางการ ระหว่างนี้ อย.เร่งทำกฎหมายลูก 8 ฉบับตามออกมา ในจำนวนนี้มีกฎกระทรวง 2 ฉบับที่ต้องรอให้กฎหมายแม่ประกาศใช้ก่อนถึงจะประกาศตามได้ ในส่วนของร่างประกาศรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข 3 ฉบับ และประกาศคณะกรรมการควบคุมยาเสพติดให้โทษ 3 ฉบับรวมเป็น 6 ฉบับ หากแล้วเสร็จประกาศใช้ได้เลย คาดว่าเร็วๆนี้จะประกาศได้ ทั้งนี้ ในกฎหมายลูกมีการหารือถึงเรื่องการใช้กัญชาในกลุ่มที่ 2 ซึ่งน่าจะมีประโยชน์ทางการแพทย์ เป็นยาที่ยังไม่ได้ผ่านกระบวนการวิจัยทางคลินิก จะให้เป็นการใช้ผ่านช่องทางพิเศษ โดยทำหลักเกณฑ์ วิธีการ ในคนไข้บางคนที่มีความต้องการใช้นั้น ต้องเป็นความเห็นร่วมกันระหว่างแพทย์และคนไข้ เรื่องนี้จะมีการรับฟังความเห็นจากวิชาชีพที่เกี่ยวข้องต่อไป ถึงปริมาณความต้องการใช้กัญชาว่ามีปริมาณเท่าใดในแต่ละกลุ่มโรคเพื่อจะได้มีการกำหนดปริมาณการปลูกต่อไป
...
ด้าน นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ในฐานะกรรมการคณะกรรมการฯ กล่าวว่า ขณะนี้ข้อบ่งใช้ทางการแพทย์ขยายกว้างมากขึ้น ทั้ง 4 กลุ่มโรคมีหลักฐานชัดและเป็นที่ยอมรับอยู่แล้ว ส่วนกลุ่มที่ 2 จะต้องมีการทำความเข้าใจกับคนไข้ และแพทย์ในการใช้ว่าไม่สามารถรักษาให้หายได้ เช่น โรคทางสมอง พาร์กินสัน อัลไซเมอร์ หรือการเจ็บปวด อยากให้ขยายใช้ในกลุ่มคนที่มีความจำเป็น แต่รักษาทางอื่นไม่ได้แล้ว เช่น คนสูงอายุ 80-90 ปี สิ่งที่เราพยายามทำกันมาทั้งหมดจะเป็นความสูญเปล่าทันที เพราะจากการตรวจสอบข้อมูลนอกจากปัญหาคำขอสิทธิบัตรกัญชาที่กรมทรัพย์สินทางปัญญายังไม่ดำเนินการยกเลิกแล้ว ยังพบว่ารัฐบาลไทยไปรับปากรัฐบาลญี่ปุ่นว่าจะแสดงความจำนงเข้าร่วมความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (CPTPP) ซึ่งจะครอบคลุมเรื่องการคุ้มครองพันธุ์พืชกัญชาด้วย หมายความว่าไทยไม่สามารถใช้ผลิตภัณฑ์กัญชาที่ไทยผลิตได้ หรือแม้แต่ผลิตภัณฑ์กัญชาจากประเทศอื่นที่นอกเหนือจากญี่ปุ่น หากใช้ต้องจ่ายค่าสิทธิบัตร ดังนั้นในวันที่ 11 ม.ค. ภาคประชาสังคม 3 คน มหาวิทยาลัยรังสิต 3 คน และสภาการแพทย์แผนไทยจะมีการเดินทางไปพบนายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รมว.พาณิชย์ เพื่อทวงถามความชัดเจนเรื่องนี้
“จากสิ่งที่รัฐบาลชุดนี้ทำมาตั้งแต่การไม่แบนสารเคมี 3 ตัวในภาคเกษตร จนมาถึงเรื่องของการใช้กัญชาทางการแพทย์ ทำให้ผมตัดสินใจได้อย่างชัดเจนมากว่าจะไม่เลือกพรรคพลังประชารัฐเป็นรัฐบาลต่อแน่นอน” นพ.ธีระวัฒน์กล่าว
ภญ.นันทกาญจน์ สุวรรณปิฎกกุล ผอ.สถาบัน วิจัยและพัฒนาองค์การเภสัชกรรม หรือ อภ. กล่าวว่า เรื่องการยื่นขอจดสิทธิบัตรกัญชาของต่างชาติยังไม่มี ความชัดเจน ที่ผ่านมา อภ.ได้ทวงถามไปยังกรมทรัพย์สินทางปัญญาถึง 2 ครั้งแล้วแต่ก็ยังไม่ได้รับคำตอบ อภ.เองก็ลำบากใจ แต่ยังยืนยันว่าจะเดินหน้าทำการปลูกกัญชาและผลิตสารสกัดกัญชาเพื่อผู้ป่วยต่อไป เพราะจริงๆแล้วเรื่องการขอจดสิทธิบัตรกัญชาของต่างชาติไม่สามารถทำได้ เชื่อว่ารัฐบาลจะสามารถทำการแก้ไขเรื่องนี้ได้ อภ.เองก็ได้มีการหารือกันและให้ฝ่ายกฎหมายดูรายละเอียดเกี่ยวกับเรื่องการขอจดสิทธิบัตรกัญชาของต่างชาติควบคู่ไปด้วย