กรมควบคุมมลพิษ แฉ 310 วัดในกรุงเทพฯ มีเตาเผาศพระดับ 3.0 ก่อมลพิษ ถูกร้องเรียนเพียบว่ามีเขม่าควันและกลิ่นจากการเผา แถมยังมีฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน ก่อให้เกิดความเดือดร้อนรำคาญ ทั้งยังมีผลกระทบต่อสุขภาพจิตของประชาชน เพราะการเผาไหม้ที่ไม่สมบูรณ์ อุณหภูมิไม่สูงพอ เตรียมนำร่อง 20 วัด เช่น วัดหลักสี่ วัดสะพาน วัดเวฬุราชิน เป็นต้น ให้ใช้เตาเผาศพ 4.0
แสนอนาถชีวิตคนกรุงอยู่เมืองหรูหรา แต่ต้องทนสูดดมควันพิษที่ลอยอยู่ในอากาศ ซึ่งมีทั้งจากฝุ่นควันจราจรและเขม่าควันจากการเผาศพ ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 2 ม.ค. นายประลอง ดำรงค์ไทย อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เปิดเผยว่า ขณะนี้ปัญหาเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับเขม่าควันและกลิ่นจากการเผาศพมีอยู่เป็นระยะ โดยเฉพาะในเขตชุมชน มลพิษทางอากาศที่เกิดขึ้นจากการเผาศพ ได้แก่ กลิ่น ฝุ่นละออง รวมถึงฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน ก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ ก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ ขี้เถ้าจากการเผาไหม้เชื้อเพลิง ที่มักเกิดขึ้นเนื่องจากการเผาไหม้ที่ไม่สมบูรณ์ หรืออุณหภูมิไม่สูงพอ ก่อให้เกิดความเดือดร้อนรำคาญและมีผลกระทบต่อสุขภาพจิตของประชาชนด้วย สำหรับองค์ประกอบของกลิ่นจากการเผาศพนั้นจะประกอบไปด้วยก๊าซหลายชนิด เช่น แอมโมเนีย ไฮโดรเจนซัลไฟด์ เมอร์แคปแทน และฟอร์มาลดีไฮด์ จากนํ้ายารักษาศพ เป็นต้น และก๊าซเหล่านี้จะถูกกำจัดได้โดยการเผาไหม้ที่อุณหภูมิสูง ในห้องเผาไหม้
นายประลองกล่าวต่อว่า จากปัญหาดังกล่าว กรมจึงจัดทำระดับมาตรฐานเตาเผาศพ เพื่อเป็นการยกระดับเตาเผาศพในประเทศไทยให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และไม่ส่งผลกระทบรบกวนกับชุมชนที่ตั้งอยู่ใกล้เคียงกับวัด หรือฌาปนสถาน รวมทั้งเพื่อให้เกิดการพัฒนาและปรับปรุงเตาเผาศพที่ใช้ในประเทศ ให้มีประสิทธิภาพในการควบคุมมลพิษในระดับที่สูงขึ้น โดยกำหนดระดับมาตรฐานเตาเผาศพของในประเทศไทย เป็น 4 ระดับ คือ 1.เตาเผาศพ 1.0 เป็นเตาเผาศพชนิด 1 ห้องเผา ใช้ถ่านไม้หรือฟืนเป็นเชื้อเพลิง และไม่มีการควบคุมอุณหภูมิในการเผาศพ มีประสิทธิภาพในการควบคุมมลพิษต่ำ เหมาะสำหรับวัดที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ชนบทหรือพื้นที่ห่างไกล 2.เตาเผาศพ 2.0 เป็นเตาเผาศพชนิด 1 ห้องเผา ใช้น้ำมันเตา หรือน้ำมันดีเซลเป็นเชื้อเพลิง มีการควบคุมอุณหภูมิในการเผาศพ มีระบบควบคุมและบันทึกข้อมูลการทำงานของเตาเผาศพ มีประสิทธิภาพในการควบคุมมลพิษในระดับพอใช้ เหมาะสำหรับวัดที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ที่อยู่นอกเขตชุมชน หรือมีการกระจายตัวของชุมชนไม่หนาแน่น
...
อธิบดีกรมควบคุมมลพิษกล่าวอีกว่า ส่วนข้อ 3.เตาเผาศพ 3.0 เป็นเตาเผาศพชนิด 2 ห้องเผา โดยห้องเผาแรกเป็นห้องเผาศพ ห้องเผาที่สองเป็นห้องเผาก๊าซและควันที่เกิดจากห้องเผาแรก ก่อนระบายอากาศเสียสู่บรรยากาศ ใช้น้ำมันดีเซล หรือก๊าซเป็นเชื้อเพลิง มีการควบคุมอุณหภูมิ ระยะเวลา ในการเผาควันและก๊าซตลอดจนการเผาศพ มีระบบควบคุมและบันทึกข้อมูลการทำงานของเตาเผาศพอัตโนมัติ มีประสิทธิภาพในการควบคุมมลพิษในระดับดีเหมาะสำหรับวัดที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ชุมชนเมือง ที่มีการอยู่อาศัยค่อนข้างหนาแน่น และ 4.เตาเผาศพ 4.0 เป็นเตาเผาศพที่มีห้องเผาอย่างน้อย 2 ห้องเผา ห้องเผาแรกเป็นห้องเผาศพ ห้องเผาสุดท้ายเป็นห้องเผาก๊าซและควันที่เกิดจากห้องเผาแรกก่อนระบายอากาศเสียสู่บรรยากาศ ใช้น้ำมันดีเซล หรือก๊าซเป็นเชื้อเพลิง หรือเป็นเตาที่ใช้ไฟฟ้าในการเผาไหม้ มีการควบคุมอุณหภูมิและระยะเวลาในการเผาควันและก๊าซตลอดจนการเผาศพ มีระบบควบคุมและบันทึกข้อมูลการทำงานของเตาเผาศพอัตโนมัติ มีระบบควบคุมมลพิษทางอากาศอื่นๆ มีประสิทธิภาพในการควบคุมมลพิษในระดับดีเยี่ยม เหมาะสำหรับวัดที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ชุมชนเมืองที่มีการอยู่อาศัยอย่างหนาแน่น
นายประลองกล่าวอีกว่า ข้อมูลล่าสุดพบว่าในพื้นที่กรุงเทพฯ มีวัดจำนวน 456 วัด เป็นวัดที่มีเตาเผาศพ จำนวน 310 วัด ทั้งหมดจัดเป็นเตาเผาศพในระดับ 3.0 ภายในปี 2562 สามารถปรับให้เป็นเตาเผาศพระดับ 4.0 ได้จำนวน 20 วัด อาทิ วัดหลักสี่ วัดสะพาน วัดเวฬุราชิน เป็นต้น การยกระดับเตาเผาศพ จะช่วยลดฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน และก๊าซต่างๆทำให้คุณภาพอากาศดีขึ้น กรมจะได้ประสานความร่วมมือกับสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป