"หมอเคน" ทันตแพทย์เด็ก เผยให้ความรู้กรณีวางยาสลบเด็กเพื่อรักษาฟันผุหลายซี่ ยันไม่อันตราย แต่ต้องอยู่ภายในการดูแลของวิสัญญีแพทย์ แนะพ่อแม่ให้เลิกหย่าขวดนมก่อน 1 ขวบครึ่ง...

สืบเนื่องจากโลกออนไลน์ให้ความสนใจกรณีเด็กชาย 5 ขวบ ฟันผุ 14 ซี่ เนื่องจากติดการดูดนมจากขวด สุดท้ายหมอต้องให้ดมยาสลบ ฉีดยาชา 11 เข็ม เพื่อรักษาฟันที่ผุนั้น

วันที่ 26 ธ.ค.61 ผู้สื่อข่าวไทยรัฐออนไลน์ ได้สอบถามไปยัง ทพ.เสถียร สุรวิศาลกุล หรือ หมอเคน ทันตแพทย์สำหรับเด็ก ที่ จ.ภูเก็ต ให้ข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า ปกติแล้วเด็กควรเลิกนมขวดตั้งแต่อายุ 1 ขวบ ถึงประมาณ 1 ขวบครึ่ง แต่ในทางปฏิบัติอาจจะช้ากว่าในตำราคือประมาณ 2 ขวบ ซึ่งเด็กในวัย 2 ขวบจะเริ่มสื่อสารเป็น สามารถเรียนรู้ได้ว่าหากขอสิ่งที่ต้องการกับใครจะสมความปรารถนา

และหากปล่อยให้เด็ก 2 ขวบครึ่งยังกินนมจากขวดจะยิ่งเลิกยาก และจะส่งผลเสียกว่าเดิม เนื่องจากเด็กวัยนี้จะมีฟันน้ำนมขึ้นครบ 20 ซี่ เชื้อโรคในช่องปากจะทำลายฟันทั้งหมด จากเคสเด็กฟันผุ 14 ซี่ถือว่าเยอะ แต่จากประสบการณ์ที่เคยเจอมา มีเด็กฟันผุมากสุดถึง 20 ซี่

...

ทพ.เสถียร สุรวิศาลกุล กล่าวต่อว่า เหตุผลที่นมขวดทำให้เด็กฟันผุ สาเหตุหลักๆ เกิดจากเวลากินนมจะมีทั้งหมด 3 วิธี คือ กินนมจากแก้ว ใช้หลอดดูด และกินผ่านขวด โดยวิธีการกินผ่านขวดจะมีอันตราการไหลผ่านของนมช้าที่สุด ทำให้เกิดการคลั่งค้างของคราบนมในปากได้มากที่สุด ประกอบการกินนมจากขวดเด็กสามารถกินนมได้ในท่านอน บ่อยครั้งเด็กจะเคลิ้มและเผลอหลับไป

"พ่อแม่เด็กเองพอเห็นลูกหลับก็ไม่อยากปลุก เพราะการที่จะให้เด็กวัยนี้หลับได้เป็นเรื่องยาก เด็กจึงหลับไปโดยไม่ได้ทำความสะอาดฟัน ทำให้แบคทีเรียที่อยู่ปากนำคราบน้ำนมและน้ำตาลที่อยู่ในนมที่ทำให้ฟันผุ แม้กระทั่งคุณแม่ที่เลี้ยงลูกด้วยนมจืดที่ไม่มีน้ำตาลก็ทำให้ฟันผุเช่นเดียวกัน

การให้ด็กดมยาสลบเพื่อรักษาฟันผุ เรื่องนี้ไม่อันตราย การดมยาสลบคือการทำให้เด็กหลับไปแล้วให้ออกซิเจนเข้าไปในปอด ตามจังหวะการหายใจ จากนั้นร่างกายจะลำเลียงออกซิเจนไปที่สมอง ดังนั้นสมองไม่ตาย เด็กตื่นขึ้นมาใช้ชีวิตได้ตามปกติ"

การวางยาสลบจะทำภายใต้การดูแลของวิสัญญีแพทย์ หรือหมอดมยาที่เรียนเฉพาะทางมา จะมีการประเมินก่อนว่าเด็กมีความเป็นไปได้ที่จะดมยาสลบได้มากน้อยเพียงใด ส่วนใหญ่จะทำในเด็กที่มีสุขภาพร่างกายดี ไม่มีหวัดในรอบ 2 อาทิตย์ ให้งดน้ำงดอาหารเพื่อป้องกันการสำลักลงปอด หากเราไม่ใช้วิธีการดมยาสลบเพื่อจะทำฟันเด็กทั้งหมด 14 ซี่ในครั้งเดียว มันเป็นไปไม่ได้เลยที่เด็ก 5 ขวบจะทนไม่ได้เลยกับการฉีดยา 11 เข็ม ซึ่งการฉีดยาชา 11 เข็มนั้น

โดยปกติแล้วหากเด็กฟันผุหลายซี่ เช่นกรณีเด็กฟันผุ 14 ซี่นี้ จะไม่ทำในครั้งเดียว แต่จะถูกแบ่งทำฟันครั้งละ 3 ซี่ จำนวน 4 นัด ซึ่งการนัดแต่ละครั้งเด็กจะถูกฉีดยาชาครั้งละ 2-3 เข็ม อาจทำให้ทัศนคติและการจำฝังใจของเด็กเป็นลบ เพราะฉะนั้นผู้ปกครองกลุ่มหนึ่งที่คิดว่าลูกมีฟันผุเยอะจึงใช้วิธีนี้ เลือกให้ลูกหลับเพื่อลดยุ่งยากและความงอแงของลูก ให้ทุกอย่างเสร็จสิ้นภายในระยะเวลา 2 ชั่วโมง โดยที่เด็กไม่ต้องจดจำความน่ากลัวต่างๆ ระหว่างการทำฟัน

"แต่วิธีนี้ยังมีความท้าทาย เนื่องจากพ่อแม่รวมทั้งคุณหมอบางท่านยังไม่เห็นด้วยกับวิธีการดมยาสลบ เพราะทำให้เด็กกลุ่มนี้ไม่ได้เรียนรู้วิธีการทำฟัน เช่น การทำฟันจะต้องมีเสียงดัง มีเครื่องมือดูดน้ำลาย ซึ่งเด็กกลุ่มนี้จะโตมาแบบทุกอย่างเสร็จเรียบร้อยแล้ว เป็นชีวิตที่สำเร็จรูป" ดังนั้นจึงขึ้นอยู่กับความพอใจและความสามารถด้านการใช้จ่ายของผู้ปกครองด้วย ส่วนค่าใช้จ่ายจะมากน้อยขึ้นอยู่กับสิทธิ์ในการรักษา เป็นต้น.


ข่าวที่เกี่ยวข้อง