อ.ธรณ วิเคราะห์ สึนามิถล่มที่อินโดฯ ยอดผู้เสียชีวิต บาดเจ็บอื้อ เผยสาเหตุสำคัญเพราะคลื่นมาแบบไม่ทันรู้ตัว ระบบแจ้งเตือนไม่สามารถวิเคราะห์ได้...


จากกรณีภูเขาไฟกรากะตัว บนเกาะบริเวณช่องแคบซุนดรา ซึ่งอยู่ระหว่างเกาะชวากับเกาะสุมาตรา อินโดนีเซีย ระเบิดอย่างรุนแรง และเกิดการปะทุเป็นระยะ ปล่อยธารลาวาไหลลงสู่ทะเล ทำให้เกิดคลื่นสึนามิซัดเข้าสู่ชายฝั่งเมื่อคืนวันเสาร์ที่ 22 ธ.ค. ตามเวลาท้องถิ่น ทำให้มีผู้เสียชีวิตและผู้บาดเจ็บจำนวนมากนั้น

วันที่ 23 ธ.ค.61 ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ นักวิทยาศาสตร์ทางทะเล และอาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กถึงกรณีดังกล่าวว่า ปีนี้อินโดนีเซียโดนสึนามิ 2 ครั้ง หนแรกเกิดจากแผ่นดินไหว มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 800 ราย

หนที่สองคือครั้งนี้เกิดจากภูเขาไฟระเบิด ซึ่งอาจทำให้เกิดแลนด์สไลด์ใต้ทะเล ที่น่าสนใจคือ สึนามิทั้ง 2 ครั้ง ไม่มีการแจ้งเตือนล่วงหน้า ไม่ใช่เพราะระบบแจ้งเตือนมีปัญหา แต่มันมีหลายสาเหตุ

1. สึนามิทั้ง 2 ครั้ง ไม่ได้ส่งผลรุนแรงเป็นวงกว้าง แต่เกิดขึ้นในพื้นที่ใกล้กับจุดเกิดแผ่นดินไหว/ภูเขาไฟระเบิด คลื่นสึนามิเคลื่อนที่ด้วยความเร็วสูง (800 กม./ชม.) ทำให้เข้าฝั่งก่อนแจ้งเตือนทัน เช่น ในกรณีที่เพิ่งเกิดขึ้น จากภูเขาไฟอานัคการากาตัวไปถึงชายฝั่งรอบช่องแคบซุนดา ระยะทางเพียงไม่กี่สิบกิโลเมตร

2. สภาพภูมิประเทศที่ซับซ้อน อาจทำให้เกิดสึนามิโดยที่ระบบแจ้งเตือนไม่สามารถวิเคราะห์ได้ เช่น ครั้งที่เกิดช่วงเดือน ต.ค. หนนี้ก็เช่นกัน หากดูแผนที่จะเห็นว่าซับซ้อนมาก ทั้งแหลม ทั้งเกาะ ทั้งช่องแคบ มีอยู่เต็มไปหมด เป็นพื้นที่แห่งเดียวกับที่เคยเกิดมหาภัยพิบัติ 1883 ครั้งที่การากาตัวระเบิด ภูมิประเทศแบบนี้ ทำให้เกิดแรงบีบอัดน้ำบางจุด แต่บางจุดก็อาจไม่โดนหรือโดนน้อย ยากที่จะเจาะจงลงรายละเอียดได้

...

3. ปัจจุบัน ชายหาดส่วนใหญ่เริ่มกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวและมีผู้คนอาศัย ผิดไปจากสมัยก่อน แม้แต่พื้นที่เคยโดนสึนามิ ก็ยังมีคนอาศัยเพิ่มมากขึ้น มีโรงแรมสำหรับผู้อยากไปเที่ยวดูภูเขาไฟการากาตัว อันเป็นตำนาน ยิ่งมีการปะทุเป็นระยะ ก็ยิ่งมีคนอยากดู

ทั้งนี้ ผศ.ดร.ธรณ์ ระบุอีกว่า เมื่อลองดูประเทศไทย จะเห็นว่าสภาพภูมิประเทศของเราต่างจากอินโดนีเซีย สำคัญสุดคือจุดกำเนิดสึนามิ ประเทศไทยไม่ได้มีภูเขาไฟในทะเลเหมือนอินโดนีเซีย ไม่มีการระเบิดแบบฉับพลัน ทำให้เราสามารถทราบก่อน ไม่เหมือนชาวอินโด หนล่าสุดที่คลื่นเข้ามาแบบไม่ทันรู้ตัว

โดยสรุป เมื่อดูจากจุดกำเนิดแผ่นดินไหวและภูเขาไฟระเบิด โอกาสที่เกิดสึนามิแบบรุนแรงจนสร้างความเสียหายใน "อ่าวไทย" นับว่ามีน้อยยิ่งนัก และเนื่องจากอยู่ไกลไปถึงอินโดนีเซีย เราจะทราบล่วงหน้าเป็นเวลานานนับสิบชั่วโมง จึงไม่ต้องตื่นตระหนก เมื่อได้ยินข่าวน้ำลดผิดปกติในอ่าวไทย เพราะเกิดขึ้นเป็นระยะ และไม่ได้เกี่ยวอะไรกับสึนามิ ก่อนสึนามิเข้า น้ำลดต่ำจริง แต่น้ำลดเพราะคลื่นดูดน้ำไป ลดแค่ไม่กี่นาทีคลื่นก็เข้า ไม่ใช่ลดล่วงหน้ากันเป็น 2-3 ชั่วโมงจนเป็นข่าวหรือเป็นภาพในไลน์ส่งมาหาเราได้

ในกรณีทะเล "อันดามัน" เราคงต้องระวังนิด เพราะใกล้กับจุดเสี่ยงแผ่นดินไหว มากกว่าอ่าวไทย แต่เราจะทราบข่าวล่วงหน้าสักแป๊บ และหวังว่าจะมีการตรวจสอบและซักซ้อมระบบเตือนภัยทั้งในทะเลและบนบกอย่างมีประสิทธิภาพ

อย่างไรตาม แฟนเพจ ศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ ระบุว่า เมื่อเวลา 13.00 น.ที่ผ่านมา เบื้องต้นมีรายงานผู้เสียชีวิตแล้ว 65 ราย บาดเจ็บกว่า 630 ราย โดยสึนามินี้ไม่มีผลกระทบต่อประเทศไทย ขอให้ประชาชนอย่าตื่นตระหนก ให้ติดตามข่าวจากทางราชการอย่างใกล้ชิด