“ข้อไหล่” เป็นอวัยวะที่มีการเคลื่อนไหวได้มากที่สุดของร่างกาย ด้วยรูปแบบและโครงสร้างของข้อไหล่ช่วยให้เรายกแขนเคลื่อนไหวไปตามทิศทางที่ต้องการได้
เมื่อไรก็ตาม? ที่เริ่มเจ็บหัวไหล่...ไขว้มือไปด้านหลังได้ไม่สุด...เกาหลังไม่ถึง...ติดตะขอด้านหลังไม่ได้ หรือปวดไหล่อย่างรุนแรง ปวดจนไม่สามารถทำกิจวัตรประจำวันหรือไม่สามารถเล่นกีฬาได้ บางรายอาจถึงกับไม่อยากนอนหลับเพราะปวดทรมานมาก แสดงว่า...มีปัญหาข้อไหล่
ควรพบแพทย์เฉพาะทางเพื่อทำการรักษา นพ.ไผทวุฒิ อุ่นสมบัติ ศัลยแพทย์กระดูกและข้อเฉพาะทางด้านการผ่าตัดส่องกล้องโรคข้อเข่าและไหล่ BASEM สถาบันเวชศาสตร์การกีฬาและออกกำลังกาย รพ.กรุงเทพ หรือศูนย์เพื่อความเป็นเลิศทางการแพทย์ของสหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ (FIFA) ให้ข้อมูลว่า
หลักๆแล้วโรคไหล่มี 2 กลุ่ม คือกลุ่มที่มีการบาดเจ็บ กับกลุ่มที่เป็นความเสื่อม
กระดูกข้อไหล่เป็นข้อที่หัวกระดูกและเบ้าไม่ลึกมาก ประกอบขึ้นเป็นข้อไหล่อย่างหลวมๆ โดยมีเส้นเอ็นและกล้ามเนื้อรอบหัวไหล่ยึดโดยรอบ ส่งผลให้ “ข้อไหล่” เป็น “ข้อ” ที่มีโอกาส “เคลื่อนหลุด” ได้บ่อยกว่าข้ออื่นๆในร่างกาย ปัญหาเกี่ยวกับไหล่ไม่ว่าจะเป็นอาการบวมเจ็บหรือการอักเสบของกล้ามเนื้อรอบหัวไหล่เส้นเอ็นหัวไหล่ หรือกระดูกและข้อไหล่เองอาจเกิดจากการใช้งานหรือการบาดเจ็บของข้อไหล่จากการเล่นกีฬา
...
ที่เจอกันบ่อยก็คือไหล่หลุด ไหล่เคลื่อน จากการบาดเจ็บก็เอ็นข้อไหล่ฉีกขาด
สำหรับ “ผู้สูงอายุ” ที่มีปัญหาข้อเสื่อมหรือหินปูนกระดูก หรืออุบัติเหตุ โดยอาการปวดอาจเกิดขึ้นเพียงชั่วคราวหรือเรื้อรัง และมีลักษณะแตกต่างกันไปตามแต่ละโรค อาทิ กระดูกงอกทับเส้นเอ็นหัวไหล่ ภาวะเส้นเอ็นหัวไหล่ฉีก ข้อไหล่ติด ข้ออักเสบ
อาการบาดเจ็บของข้อไหล่จากการเล่นกีฬา โดยเฉพาะนักกีฬาฟุตบอลที่ทำหน้าที่ผู้รักษาประตูผู้ที่ต้องเล่นลูกทุ่มบ่อยๆ ผู้ที่ใช้กำลังแขนเคลื่อนไหวไปด้านบนศีรษะมาก เช่น ว่ายน้ำ ยกน้ำหนัก เทนนิส แบดมินตัน สาเหตุของการบาดเจ็บข้อไหล่ที่พบ...มักเกิดจากมีการปะทะ กระชากไหล่ การเหนี่ยวแขน
หรือ...ล้มโดยใช้แขนเท้าพื้น ล้มแล้วไหล่กระแทกพื้นโดยตรง การเหวี่ยง...ขว้างบอลอย่างรุนแรง หรือการเอื้อมแขนอย่างรวดเร็วก็สามารถทำให้เกิดการกระชากของกล้ามเนื้อหรือเส้นเอ็นหัวไหล่ที่หลุดเคลื่อนหรือฉีกขาดได้เช่นกัน ซึ่งการรักษาอาการบาดเจ็บของหัวไหล่ขึ้นอยู่กับตำแหน่งของการบาดเจ็บ
เช่น ถ้าบาดเจ็บบริเวณกล้ามเนื้อรอบๆ ควรพักการใช้งาน ประคบเย็น ทานยาต้านอักเสบและยาคลายกล้ามเนื้อร่วมกับการทำกายภาพ หากเป็นการบาดเจ็บของกระดูกหรือข้อเคลื่อนหลุด ควรดามหรือใส่ผ้าห้อยแขน เพื่อไม่ให้มีการขยับ หากมีอาการบาดเจ็บเรื้อรัง อาจเนื่องมาจากเส้นเอ็นมีการฉีกขาดหลบซ่อนอยู่ ควรพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยและวางแผนในการผ่าตัดเพื่อรักษาอาการที่ต้นเหตุ...ผ่าตัดซ่อมเอ็นหุ้มข้อไหล่ที่ฉีกขาดจากกีฬาหรืออุบัติเหตุ ด้วยเทคนิคผ่าตัดผ่านกล้องแผลเล็ก (Minimally Invasive Surgery : MIS) ช่วยให้นักกีฬาสามารถฟื้นตัวขยับเคลื่อนไหวข้อไหล่ได้เร็วในระยะเวลาน้อยกว่าการผ่าตัดเปิดแผลแบบเดิม
“ข้อบ่งชี้ในการผ่าตัด เช่น ไหล่หลุดซ้ำซ้อน หรือว่าเป็นพวกเส้นเอ็นไหล่ฉีกขาด ผู้ป่วยกลุ่มนี้ก็อาจจะต้องได้รับการผ่าตัด แต่ถ้าเป็นกลุ่มโรคข้อไหล่ติด เป็นหินปูนก็อาจจะรักษาด้วยการทำกายภาพไปก่อน ถ้าไม่ดีขึ้นก็พิจารณาผ่าตัดทีหลัง”
อาการ “ข้อไหล่ติด” โดยมากจะเจอที่อายุ 45 ปีขึ้นไป มีโรคประจำตัว เบาหวาน ไทรอยด์ หัวใจก็จะเจอได้เยอะขึ้นหรือบางทีอาจจะเป็นไหล่ติดที่มาจากเส้นเอ็นข้อไหล่เริ่มเสื่อมหรือมีการฉีกขาดบางส่วนก็ทำให้ไหล่ติดได้เช่นกัน นพ.ไผทวุฒิ บอกว่า ผู้สูงอายุมักมีปัญหาหินปูนเกาะกระดูกเกิดขึ้นได้จากความเสื่อมของร่างกายเอง หรือมีความเสียหายเกิดขึ้นบริเวณข้อ เช่น หัก แตก
“ร่างกายจะดึงแคลเซียมเข้าไปซ่อมแซมกระดูกส่วนที่เสื่อม จนเกิดเป็นหินปูนหรือแคลเซียมเกาะกระดูก เพิ่มพูนขึ้นมาจนกระดูกบริเวณนั้นผิดรูปร่างจากที่ควรเป็น ผลกระทบจากหินปูนที่มาเกาะกระดูกโดยเฉพาะบริเวณข้อไหล่ อาจส่งผลให้เกิดอาการกระดูกงอกทับเส้นเอ็นหัวไหล่”
“กระดูก” ที่งอกออกมากดทับเส้นเอ็นหรือเส้นประสาททำให้คนไข้เกิดอาการปวด ข้อควรระวังทั้งในกลุ่มวัยทำงานและผู้สูงอายุคือ การอักเสบร่วมกับความเสื่อมที่เกิดจากการใช้งานข้อไหล่หนักๆ เช่น การเล่นกีฬาที่ต้องมีการใช้ไหล่มากๆ แบดมินตัน ยกเวท ชกมวย เทนนิส
ถึงตรงนี้...“คนไข้” ควรสังเกตตนเองว่ามีการงอกปูดของกระดูกในร่างกายที่ผิดปกติจนคลำได้จากภายนอกหรือไม่ หากพบควรปรึกษาแพทย์เฉพาะทาง คุณหมอไผทวุฒิ ย้ำว่า การรักษาอาการหินปูนเกาะกระดูกและกระดูกงอกทับเส้นเอ็นหัวไหล่ สามารถทำได้โดยการผ่าตัดกรอกระดูกที่งอกทับเส้นเอ็นหัวไหล่ ด้วยเทคนิคผ่าตัดผ่านกล้องแผลเล็ก...แผลผ่าตัดมีขนาดเล็ก 0.5-1 เซนติเมตร คนไข้เสียเลือดน้อย
ลดการบาดเจ็บต่อเนื้อเยื่อรอบข้อ ลดภาวะแทรกซ้อนหลังผ่าตัด ทั้งนี้...ข้อบ่งชี้ในการผ่าตัดผ่านกล้องข้อไหล่คือ เมื่อรักษาด้วยวิธีเบื้องต้น เช่น รับประทานยาแก้ปวด แก้อักเสบ และยาคลายกล้ามเนื้อร่วมกับการกายภาพบำบัดแล้วไม่ได้ผล เป็นเวลาอย่างน้อย 3–6 เดือน
“การผ่าตัดผ่านกล้องแผลเล็กจึงถือเป็นทางเลือกหนึ่งในการรักษา เพื่อลดอาการบาดเจ็บ เพิ่มคุณภาพชีวิตให้ผู้สูงอายุสามารถช่วยเหลือตนเองทำกิจวัตรประจำวันได้อีกครั้ง”
นอกจากนี้ยังมีภาวะเส้นเอ็นหัวไหล่ฉีกที่เป็นปัญหาที่พบบ่อยทั้งใน “คนวัยทำงาน” และ “ผู้สูงอายุ” ผู้ป่วยมักมาด้วยอาการปวดและไม่สามารถใช้งานไหล่ได้ปกติ ส่วนใหญ่เส้นเอ็นมักฉีกขาดบริเวณตำแหน่งที่เส้นเอ็นเกาะกับกระดูกต้นแขน ซึ่งอาจฉีกเส้นเดียวหรือหลายเส้นก็ได้
“การฉีกขาดอาจเริ่มจากการถลอกบริเวณด้านบนของเส้นเอ็น ซึ่งเกิดจากการเสียดสีของหินปูนบริเวณกระดูกด้านบนกับตัวเส้นเอ็น หรืออาจเกิดจากภาวะเสื่อม...เกิดจากการใช้งาน...อุบัติเหตุ ผู้ป่วยมักมีอาการปวดเวลานอน โดยเฉพาะตอนนอนตะแคงทับ ปวดเวลายกแขนขึ้นหรือลงในบางท่า อ่อนแรงในขณะยกหรือหมุนหัวไหล่ เกิดเสียงเสียดสีในขณะขยับบางท่าของไหล่ การรักษาขึ้นอยู่กับตำแหน่งที่บาดเจ็บเป็นสำคัญ”
น่าสนใจด้วยว่า...ปัญหาข้อไหล่ยังมีอาการปวดไหล่เนื่องมาจากอาการข้อไหล่ติด เป็นภาวะที่มีการขยับข้อไหล่ได้น้อย โดยมักจะเริ่มจากไม่สามารถยก กาง หรือหมุนหัวไหล่ได้ ข้อไหล่จะค่อยๆลดการเคลื่อนไหวจนกระทั่งเคลื่อนไหวได้น้อยลง และ...ผู้สูงอายุมักมีโอกาสเกิดโรคนี้มากกว่าวัยอื่น
หากจะถามถึง “การป้องกัน” คุณหมอบอกสั้นๆเพียงว่า เราต้องป้องกันไม่ให้เกิดไหล่ติดเท่านั้นเอง เช่น การออกกำลังกาย การเคลื่อนไหวไหล่อย่างไม่หักโหมจนเกินไป เคลื่อนไหวให้เป็นปกติ
“หากมีอาการเจ็บแล้ว ทานยาแล้วไม่ดีขึ้น วัน...สองวันก็ควรที่จะมาพบแพทย์ เพื่อรับการวินิจฉัย เพราะหากเจ็บแล้วไม่ได้มาตรวจ อยู่นิ่งๆนานๆ อายุยิ่งเยอะ ไหล่ก็จะติดได้ง่าย”
จุดสังเกตอาการเจ็บที่มาจากหัวไหล่ โดยมากแล้วจะเจ็บบริเวณรอบๆ “หัวไหล่” บางคนอาจจะมีร้าวลงมาบริเวณใกล้ๆข้อศอกก็เป็นได้ เจ็บเป็นระยะๆหรือตลอดเวลาก็ขึ้นอยู่กับโรคแต่โดยมากแล้วจะเจ็บเป็นบางมุม บางองศาที่มีการขยับ แล้วถ้าเกิดบอกว่าเป็นอาการเยอะๆตอนนอนก็จะเจ็บ...นอนทับไหล่ข้างนั้นไม่ได้
เป็นสัญญาณได้ว่า...มีอาการของโรคเยอะแล้ว ปัญหา “ข้อไหล่” ไม่ควรมองข้าม หมั่นสังเกตตัวเองให้ดีๆ แกว่งแขนออกกำลังกายอย่างพอดี...ป้องกันอย่าให้ไหล่ติดในทุกช่วงอายุ.