สสส.จับมือมหิดล เสริมสร้างสุขภาวะคนจนเมือง เตรียมพร้อมสู่สังคมสูงวัย ประเดิมพื้นที่นำร่อง 3 ภาค 15 ชุมชน ปลื้ม 1 ปี ผลดีเกินคาด สร้างทักษะ เล็งขยายผลทั่วประเทศ...
นายพิทยา จินาวัฒน์ ประธานกรรมการการบริหารคณะที่ 2 กองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวถึงโครงการเสริมสร้างสุขภาวะคนจนเมือง เพื่อเตรียมความพร้อมสู่สังคมผู้สูงอายุ ร่วมกับคณะกายภาพบำบัด มหาวิทยาลัยมหิดล โดยนำร่องใน 3 ภูมิภาค จำนวน 15 ชุมชน จาก 3 จังหวัดทั่วประเทศ ว่า ตลอดเวลา 1 ปี ได้พัฒนากรอบการดำเนินงานให้ครอบคลุมการดูแลสุขภาวะของทุกคนในประเทศไทย ซึ่งได้วิเคราะห์ปัญหาทางสุขภาพของประชากรกลุ่มเฉพาะ จากความเหลื่อมล้ำทางสังคม หรือปัจจัยทางสังคม เช่น สุขภาพ เพศ ศาสนา ความเชื่อ เชื้อชาติ สัญชาติ การศึกษา การทำงาน รายได้ และการรวมกลุ่ม ส่งผลให้ขาดโอกาสในการเข้าถึง หรือเข้าถึงได้ยาก จึงจำเป็นต้องมีการพัฒนาสร้างเสริมสุขภาพสู่สังคมสูงวัย ให้มีหลักในการดำรงชีพและการดูแลระยะยาวจากครอบครัวและชุมชน เน้นไปที่คนจนและอาศัยอยู่ในเขตเมือง เพื่อสร้างเสริมสุขภาวะให้กับคนจนเมืองทุกช่วงวัย
"เราหวังให้โครงการนี้เกิดประโยชน์กับตัวของผู้สูงวัยเอง ชุมชนและกิจกรรมที่ร่วมกันของชุมชนในกลุ่มคนทุกช่วงวัยเพื่อความสัมพันธ์ที่ดี คิดแก้ไขปัญหาด้วยตัวเอง เมื่อเราถอนตัวออกไป ภาคืเครือข่ายสามารถอยู่และเชื่อมต่อกันได้อย่างยั่งยืน หลักสำคัญที่เราเน้นคือ สุขภาพดีที่จะนำพาไปสูส่วนดีอื่นๆ ที่จะตามมา เช่น เมื่อสุขภาพดี สังคมดี เศรษฐกิจดี คนแก่ไม่จำเป็นต้องรอแต่เงินช่วยเหลือ แต่จะเป็นคนแก่ที่สุขภาพดี มีสติปัญญา เป็นผู้ถ่ายทอดความรู้ ความสามารถแก่ลูกหลาน มีอาชีพสร้างรายได้ให้แก่ตนเองได้ด้วย"
ทั้งนี้การทำงานของ สสส.และภาคีเครือข่าย ได้ทำงานเชิงรุก เช่น การป้องกันความเจ็บป่วย เน้นความแข็งแรงของร่างกาย โดยมีพื้นที่กลางใช้ในการออกกำลังกาย สร้างกิจกรรมในบ้าน ร่วมกิจกรรมกับกลุ่มคนทุกวัย เช่น เรื่องการออม เป็นความต่อเนื่องจากการสร้างรายได้ โดยกิจกรรมความสนุกสนานในชุมชน ที่จะไม่ทอดทิ้งกัน สร้างความรู้สึกว่าทุกคนมีคุณค่า ได้ทำให้สังคมเมือง เริ่มเปิดประตูบ้านหากันแล้ว คนแก่รู้สึกว่าตัวเองมีคุณค่าจากการเล่าประสบการณ์ ส่วนเด็กๆ จะเห็นประโยชน์ของผู้สูงอายุ
...
สำหรับพื้นที่นำร่อง 3 ภูมิภาค จำนวน 15 ชุมชน จากทั้งหมด 3 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ อุบลราชธานี และกรุงเทพมหานคร ซึ่งประสบความสำเร็จทั้งด้านกลไกและรูปแบบการเตรียมความพร้อมเข้าสู่สังคมสูงวัย ทั้งเกิดทักษะอาชีพ การถ่ายทอดภูมิปัญญา และการทำกิจกรรมร่วมกันระหว่างเยาวชนและผู้สูงวัย ซึ่งจะนำไปเป็นโมเดลขยายไปยังในจังหวัดต่างๆ ต่อไป
ดร.วีรวัฒน์ แสนศรี ผู้จัดการโครงการเสริมสร้างสุขภาวะคนจนเมือง เพื่อเตรียมความพร้อมสู่สังคมผู้สูงวัย กล่าวว่า 1 ปีที่ผ่านมา ได้รับความร่วมมือจากภาคส่วนต่างๆ ในการขับเคลื่อนโครงการ มุ่งเน้นให้ผู้สูงวัยมีสุขภาวะที่ดี และสามารถดำเนินชีวิตได้อย่างมีศักดิ์ศรี รวมถึงส่งเสริมให้มีการเตรียมความพร้อมใน 3 มิติ ทั้งด้านสุขภาพ ด้านสังคม และด้านเศรษฐกิจ
นอกจากสร้างความสัมพันธ์ที่ดีแล้ว ยังสร้างรายได้เข้ากลุ่มอีกด้าน จากความสำเร็จดังกล่าวทางโครงการจึงจัดกิจกรรมเผยแพร่ การดำเนินงานที่เกิดผลสำเร็จเป็นรูปธรรมสู่สาธารณะให้เกิดพื้นที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้านแนวคิด และกระบวนการทำงานระหว่างภาคเครือข่าย และพื้นที่นำร่อง.