สภาพัฒน์รายงานสถิติคนไทยล้นคุก และเพิ่มสูง มีผู้ต้องขังกว่า 3.5 แสนคน มากเป็นที่ 3 ของเอเชีย รองจากจีน อินเดีย ชี้ปัญหาสังคมไตรมาส 2 ทั้งยาเสพติด ป่วย หนี้พุ่ง
ในรายงานภาวะสังคมของไทย ไตรมาส 2 ปี 2561 ของสำนักงานพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือสภาพัฒน์ ระบุถึงสถานการณ์ปัญหาผู้ต้องขังล้นเรือนจำ โดยอ้างถึงข้อมูลสรุปสถานการณ์ผู้ต้องขังโลก (World Prison Brief) 2018 ว่าไทย มีผู้ต้องขังสูงเป็นอันดับ 6 ของโลก และเป็นที่ 3 ของเอเชีย รองจากจีน และอินเดีย
ที่น่าจับตาคือ มีอัตราการเพิ่มสูง โดยในช่วง 10 ปี จากปี 2552 มี 201,829 คน เป็น 355,543 คน ในปี 2561 ณ วันที่ 1 ก.ค.2561 แต่เรือนจำรับได้เพียง 200,000 คน ขณะที่มีเจ้าหน้าที่ 13,000 คน คิดเป็นเจ้าหน้าที่ 1 คนต่อผู้ต้องขัง 27 คน ต่ำกว่ามาตรฐานสหประชาชาติ ที่กำหนดให้มี 1 ต่อ 5 คน จึงส่งผลต่อการควบคุม และแก้ไขพัฒนาพฤตินิสัย และการทำผิดซ้ำ
ขณะเดียวกันได้รายงานปัญหาสังคมด้านอื่นๆ ที่เพิ่มขึ้น คือ มีการรับแจ้งคดีอาญาถึง 110,855 คดี เพิ่มขึ้น 34.1% ที่เพิ่มขึ้นมากที่สุดคือยาเสพติด 93,110 คดี เพิ่ม 46.5% ส่วนคดีเกี่ยวกับชีวิต ร่างกาย และเพศ มี 4,560 คดี ลดลง 3% คดีประทุษร้ายต่อทรัพย์ 13,185 คดี ลดลง 9.2% ด้านอุบัติเหตุ รับแจ้ง 23,922 ราย เพิ่มขึ้น 23.3% เสียชีวิต 1,746 ราย ลดลง 21%
ส่วนปัญหาด้านสุขภาพ คนไทยป่วยด้วยโรคเฝ้าระวัง 129,023 ราย เพิ่มขึ้น 20.4% ไข้เลือดออกเพิ่มขึ้นถึง 86.7% เฉพาะ 1 ม.ค.-20 ส.ค.ที่ผ่านมา ป่วยไข้เลือดออก 47,149 ราย เสียชีวิตถึง 58 ราย ส่วนโรคที่เพิ่มขึ้นสูงคือ ไข้หวัดใหญ่ 25,128 ราย เพิ่มขึ้น 32.7%
นอกจากนี้ปัญหาปากท้อง คนไทยมีหนี้ครัวเรือนเพิ่มขึ้น ทั้งในส่วนอุปโภคบริโภค ที่อยู่อาศัย ซื้อรถยนต์ การศึกษา เดินทางไปต่างประเทศ จากไตรมาส 1 ปี 2561 รวมมีมูลค่าหนี้สินรวม 12.17 ล้านล้านบาท และปี 2560 มีหนี้สินเฉลี่ย 178,994 บาทต่อครัวเรือน เพิ่มขึ้น 6.9% จากปี 2558
...
ส่วนปัญหาที่ดีขึ้น เช่น ว่างงานลดลง ค่าใช้จ่ายการดื่มแอลกอฮอลล์ ซื้อบุหรี่ลดลง.